ตีนตุ๊กแก?
“ซองคำถาม” เคยเห็นแถบพลาสติกที่ทำเป็นขุย ติดกันได้ใช้แทนซิป แบบที่ใช้กับกระเป๋าและรองเท้าไหม มันเรียกว่าอะไร และใครเป็นผู้ประดิษฐ์
(จันทรา จงกล / กรุงเทพฯ)
“ซองคำถาม” เคยเห็นแถบพลาสติกที่ทำเป็นขุย ติดกันได้ใช้แทนซิป แบบที่ใช้กับกระเป๋าและรองเท้าไหม มันเรียกว่าอะไร และใครเป็นผู้ประดิษฐ์
(จันทรา จงกล / กรุงเทพฯ)
มันมีชื่อว่า velcro ในภาษาไทยเรียกกันว่า ตีนตุ๊กแก
ระหว่างการเดินเขาในเทือกเขาอัลไพน์ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ นักไต่เขาชาวสวิสชื่อ จอร์จ เดอ เมอสทรอล (George de Mestral) รู้สึกหงุดหงิดรำคาญกับเมล็ดหนามของพันธุ์ไม้ป่า ที่มาเกาะติดตามกางเกงและถุงเท้าของเขา ขณะที่เขาค่อย ๆ แกะมันออกอย่างยากเย็น เขาก็เกิดความคิดขึ้นว่า การทำเครื่องยึดติดโดยอาศัยหลักการเกาะยึดของเมล็ดหนาม เพื่อแข่งกับหรือแทนที่ซิป น่าจะเป็นไปได้
ทุกวันนี้ ตีนตุ๊กแก หรือ velcro ประกอบด้วยแถบไนลอนสองแถบ แถบด้านหนึ่งเป็นตะขอขนาดจิ๋วนับพัน ๆ ตัว ส่วนแถบอีกด้านหนึ่งเป็นตาขนาดจิ๋ว เมื่อกดแถบไนลอนทั้งสองเข้าด้วยกัน ตะขอจะเกี่ยวเข้ากับตาและล็อกติดกันไว้แน่นสนิท กว่าที่ความคิดนี้จะได้รับการพัฒนา ให้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ก็กินเวลาและความพยายามถึง ๑๐ ปี
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอซึ่ง เดอ เมอสทรอล ไปปรึกษา ต่างก็หัวเราะเยาะ ความคิดที่จะประดิษฐ์เมล็ดหนามเทียมขึ้น มีเพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นช่างทอที่โรงงานทอผ้า ณ เมืองลียง (Lyon) ประเทศฝรั่งเศส ที่เชื่อว่าความคิดนี้น่าจะทำให้เป็นจริงได้ ช่างทอผู้นี้เริ่มทำงานกับเครื่องทอมือขนาดเล็กพิเศษ เขาทอแถบผ้าฝ้ายขึ้นสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นตะขอตัวจิ๋ว อีกชิ้นเป็นตาขนาดเล็กกว่า เมื่อกดเข้าด้วยกันแถบผ้าทั้งสองจะประกบติดกันแน่น และไม่หลุดออกจากกัน จนกว่าจะถูกดึงแยกจากกัน เดอ เมอสทรอล ตั้งชื่อผลงานตัวอย่างชิ้นแรกนี้ว่า แถบล็อก หรือ "locking tape"
การคิดค้นพัฒนาเครื่องมือซึ่งสามารถเลียนแบบงานฝีมือ อันละเอียดลออของช่างทอ ต้องอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชั้นสูง ผ้าฝ้ายถูกแทนที่ด้วย "ไนลอน" เนื่องจากการเปิดปิดครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ตะขอและตาที่อ่อนนุ่มของแถบผ้าฝ้ายต้นแบบ ฉีกขาดเสียหาย เดอ เมอสทรอล ได้ค้นพบว่าเมื่อทอเส้นด้ายไนลอนภายใต้รังสีอินฟราเรด จะได้ตะขอและตาที่เหนียวแข็งแรงทนทานมาก ในกลางทศวรรษ ๑๙๕๐ แถบล็อกไนลอนก็ปรากฏตัวในท้องตลาด สำหรับชื่อทางการค้า เดอ เมอสทรอล เลือกคำว่า vel จาก "velvet" หรือกำมะหยี่ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าเขาชอบเสียงของคำคำนี้ และเลือกคำว่า cro จากคำภาษาฝรั่งเศส &“ crochet&” ที่แปลว่า ตะขอ (hook)
พอถึงปลายทศวรรษ ๑๙๕๐ เครื่องทอในโรงงานก็สามารถผลิต velcro ได้มากถึง ๖๐ ล้านหลาต่อปี และถึงแม้ว่าเครื่องยึดไนลอนชนิดใหม่นี้ ไม่อาจแทนที่ซิปได้อย่างที่ เดอ เมอสทรอล คาดหวังไว้ แต่ตีนตุ๊กแกก็เป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ชุดว่ายน้ำ ผ้าอ้อม นาฬิกาข้อมือ ไปจนถึงในหัวใจเทียมและเครื่องใช้ในยานอวกาศ
"ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี"
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!