ธัญพืชแรกสุดที่คนปลูก?
มนุษย์รู้จักปลูกข้าวกินมานานแค่ไหนแล้ว และเป็นข้าวสาลีหรือข้าวเจ้า…คงจะไม่ใช่ข้าวเหนียวหรอกนะ
(แฟน สารคดี / กรุงเทพฯ)
มนุษย์รู้จักปลูกข้าวกินมานานแค่ไหนแล้ว และเป็นข้าวสาลีหรือข้าวเจ้า…คงจะไม่ใช่ข้าวเหนียวหรอกนะ
(แฟน สารคดี / กรุงเทพฯ)
แม้ธัญพืชที่ชาวโลกยุคปัจจุบันบริโภคกันมาก จะได้แก่ ข้าว (ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว) ข้าวสาลี และข้าวโพด แต่ข้าวบาร์เลย์กลับเป็นธัญพืชเก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์นำมาเพาะปลูก กล่าวคือเริ่มปลูกในอียิปต์เป็นครั้งแรกเมื่อราว ๖,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล และดำรงสถานภาพเป็นธัญพืชอันดับ ๑ ของทวีปยุโรปเรื่อยมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เหตุผลหนึ่งที่ข้าวบาร์เลย์เป็นที่นิยมแพร่หลายในยุคแรก เพราะมันเป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกและงอกงามได้ในสภาวะแวดล้อมที่ยากลำบาก และในละติจูด (เส้นรุ้ง เส้นขวางที่ขนานกับเส้นศูนย์สูตรของโลก) ที่สูงกว่าข้าวพันธุ์อื่น ๆ
เนื่องจากข้าวบาร์เลย์มีส่วนประกอบของกลูเทนต่ำ (gluten เป็นสารอาหารโปรตีน สีเทา เหนียว) มันจึงไม่เหมาะที่จะนำไปทำแป้ง ในสมัยก่อนประโยชน์สำคัญของข้าวบาร์เลย์คือใช้ทำข้าวต้ม ซึ่งเป็นอาหารหลักสำหรับคนยากคนจน ทุกวันนี้ข้าวบาร์เลย์เป็นธัญพืชที่ปลูกมากเป็นอันดับ ๔ ใช้มากในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์และใช้ทำเป็นมอลต์ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำเบียร์
ข้าวบาร์เลย์มีบทบาทสำคัญในชีวิตของผู้คนในอังกฤษยุคเก่า เมล็ดข้าวบาร์เลย์ได้กลายเป็นหน่วยวัดความยาวใน ค.ศ. ๑๓๒๔ ความยาว ๑ นิ้วถูกกำหนดให้เท่ากับเมล็ดข้าวบาร์เลย์ ๓ เมล็ดเรียงต่อกัน หน่วย "ฟุต" ที่ยาวที่สุด (๑๓ นิ้ว)* เท่ากับข้าวบาร์เลย์ ๓๙ เมล็ด อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าของสหรัฐอเมริกาได้รับหน่วยวัดความยาวนี้มาใช้ในปี ค.ศ. ๑๘๘๘ โดยผู้ผลิตรองเท้าประกาศว่ารองเท้าเบอร์ ๑๓ (เป็นขนาดมาตรฐานของรองเท้ายาวที่สุดที่ทำขึ้น) มีความยาวเท่ากับข้าวบาร์เลย์ ๓๙ เมล็ด
*มาตราระบบอังกฤษโบราณ
"ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี"
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!