ทองใบ แตงน้อย?
อยากรู้จัก ทองใบ แตงน้อย คนที่เขียนแผนที่น่ะค่ะ
(แตงใหญ่ / จ. นนทบุรี)
อยากรู้จัก ทองใบ แตงน้อย คนที่เขียนแผนที่น่ะค่ะ
(แตงใหญ่ / จ. นนทบุรี)
"ซองคำถาม" ใช้หนังสือแผนที่ภูมิศาสตร์ ของ ทองใบ แตงน้อย มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก กระทั่งบัดนี้ก็ยังมีหนังสือแผนที่ ของท่านอยู่บนโต๊ะ ไว้ใช้อ้างอิงเวลาทำงาน แม้แผนที่โลกปัจจุบัน จะเปลี่ยนไปจากหนังสือแผนที่ ที่ท่านทำ กล่าวคือมีประเทศใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ "ซองคำถาม" ก็ยังคุ้นเคยกับแผนที่ของ ทองใบ แตงน้อย ซึ่งเส้นสายชัดเจน และลายมือในแผนที่นั้น ก็คลาสสิกเอามาก ๆ
เมื่อได้คำถามจากคุณแตงใหญ่ "ซองคำถาม" ไปค้นข้อมูลแล้วหลงทางอยู่พักใหญ่ เพราะชื่อ ทองใบนั้นเป็นชื่อเดิม ท่านมาเปลี่ยนชื่อเป็น ทวี ตามรัฐนิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังนั้นชื่อที่ปรากฏในดัชนีคำค้นประวัติ จึงใช้ชื่อว่า ทวี แตงน้อย
ทวี (ทองใบ) แตงน้อย เป็นบุตรขุนอภิเทศสุรทัณฑ์ (ไชย แตงน้อย) และนางอภิเทศสุรทัณฑ์ (เที่ยง) เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๕๔ ที่ตำบลสะพานเหล็ก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีกแปดคน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๖
เมื่อท่านเปลี่ยนชื่อจาก ทองใบ เป็นทวี แต่คนทั้งหลายก็ยังเรียกท่านว่า ครูทองใบ ตลอดมา ในการเขียนตำราท่านจะเขียนชื่อทองใบไว้ในวงเล็บทุกครั้ง บางทีก็ใช้ชื่อว่า ท. แตงน้อย
ท่านสำเร็จการศึกษาชั้นสามัญ จากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมวัดบวรนิเวศนั่นเอง จนสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔
ครูทองใบอุปสมบทที่วัดชนะสงคราม จังหวัดพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่ไปจำพรรษาที่วัดนวลนรดิศเป็นเวลา ๔ เดือนเศษ หลังจากรับกฐินแล้วจึงลาสิกขา และสมรสกับนางสาวเชื้อ ต้อยปาน เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ มีบุตรแปดคน เป็นชายล้วน
เริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้รับบรรจุเป็นครูโรงเรียนมัธยมวัดนวลนรดิศ จังหวัดธนบุรี ในขณะนั้นเองได้ใช้เวลานอกราชการศึกษาต่อหลักสูตรครูมัธยม และได้วุฒิประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (ป.ม.) ใน พ.ศ. ๒๔๗๙ และย้ายไปดำรงตำแหน่งครูตรีโรงเรียนประจำจังหวัดจันทบุรี &“ เบญจมราชูทิศ&” ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัดระยอง "ระยองมิตรอุปถัมภ์" ปัจจุบันคือ โรงเรียนประจำจังหวัด "ระยองวิทยาคม" และ พ.ศ. ๒๔๙๘ ก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี &“ ปราจิณราษฎรอำรุง&” ตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ คือเป็นอาจารย์ประจำกรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ครั้น พ.ศ. ๒๕๑๓ เห็นว่าควรได้พักผ่อนเพื่อประกอบอาชีพส่วนตัว จึงลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ ๑&” ปี รวมเวลารับราชการ ๓๘ ปี
ชีวิตของครูทองใบเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ เพื่อผดุงฐานะเศรษฐกิจของครอบครัว เพราะมีบุตรหลายคน รายได้จึงไม่ใคร่พอเพียงกับรายจ่าย ครูทองใบเป็นคนที่มีฝีมือมาตั้งแต่ยังเด็ก สามารถถักลูกไม้ได้เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิง และจีบพลูได้ดี เคยนำไปฝากขายเป็นรายได้พิเศษ&” เมื่อมีลูกมากขึ้นก็พยายามเลี้ยงเป็ดและหมูเป็นงานอดิเรก นอกจากนั้นก็พยายามใช้ความถนัดของตนเขียนตำราแผนที่ภูมิศาสตร์ขึ้น ให้โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชพิมพ์จำหน่าย ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยม ในตลาดหนังสือตำราเรียนอย่างรวดเร็ว ครูทองใบได้พยายามปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ โรงเรียนทั่วไปก็นิยมใช้กันอยู่จนปัจจุบันนี้ รายได้จากการจำหน่ายหนังสือภูมิศาสตร์ของครูทองใบ ทำให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้น
หลานคนหนึ่งของครูทองใบเล่าว่า
"น้าทองใบ แตงน้อย มีฝีมือทางวาดเขียนและลายมืองาม ผลงานที่ทำให้น้าทองใบมีฐานะและชื่อเสียง คือ แผนที่สากล และแผนที่ภูมิศาสตร์ที่พิมพ์ออกจำหน่ายกว่า ๔๐ ปี ในบั้นปลายชีวิต น้าทองใบมีความสุขอยู่กับครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างง่าย ๆ สมถะ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ร่วมงานสังคมกับวงญาติสม่ำเสมอ และทำบุญเป็นประจำ"
ครูทองใบถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๙ รวมอายุได้ ๗๕ ปี ๑๑ เดือน ๑๕ วัน ทิ้งผลงานแผนที่ทั้งหมดเก้าเล่ม ไว้เป็นอนุสรณ์และวิทยาทานแก่คนรุ่นหลัง
"ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี"
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!