ทรัพยากรพันธุกรรมข้าวไทย สูญหายจริงหรือ??
ทรัพยากรพันธุกรรมข้าวไทย สูญหายจริงหรือ
ทรัพยากรพันธุกรรมข้าวไทย สูญหายจริงหรือ
การสูญหายทางพันธุกรรมเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ภัยธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ ในอดีตเราเคยมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอยู่มากมายในทุกภาคของประเทศ ปัจจุบัน พันธุ์ข้าวพื้นเมืองส่วนหนึ่งสูญหายไปเนื่องจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แล้ง ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือความนิยมของเกษตรกรในการเลือกปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง ทำให้ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองลดลงอย่างรวดเร็ว พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรเลิกปลูกแล้วนั้นอาจมีลักษณะทางพันธุกรรมหรือคุณสมบัติที่ดีบางประการ เช่น ความต้านทานโรค ต้านทานแมลง คุณค่าทางอาหาร คุณค่าทางเภสัชกรรม เป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องช่วยกันรักษาพันธุกรรมข้าวไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามยังมีพันธุ์ข้าวจำนวนมากถูกเก็บอนุรักษ์ไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและยังมีการอนุรักษ์ไว้ในแหล่งต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวในสมัยก่อนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเชื้อพันธุ์ข้าว จึงมีการดำเนินงานสำรวจ รวบรวม และอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีตัวอย่างกรณีของข้าวพื้นเมืองบางพันธุ์ที่คนทั่วไป เข้าใจว่าสูญหายไปแล้ว เช่น พันธุ์เฟืองคำ พวงนาค หอมนายพล ข้าวเหนียวเขี้ยวงูฯลฯ แต่พันธุ์เหล่านี้ยังคงมีการดูแลรักษาและอนุรักษ์ไว้อย่างดีในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช ซึ่งสถาบันการศึกษา นักวิจัย ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อขอเมล็ดเชื้อพันธุ์ไปใช้เพื่อการศึกษา วิจัย หรือนำกลับไปปลูกฟื้นฟูในท้องถิ่นเดิมได้ ข้อมูลจาก กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!