การแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุ์ข้าวกับต่างประเทศ ใครได้ ใครเสีย??
การแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุ์ข้าวกับต่างประเทศ ใครได้ ใครเสีย
การแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุ์ข้าวกับต่างประเทศ ใครได้ ใครเสีย
เชื้อพันธุ์พืชมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ แต่การปรับปรุงพันธุ์โดยอาศัยเชื้อพันธุ์ภายในประเทศเพียงอย่างเดียวมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีฐานทางพันธุกรรมแคบหรือขาดพันธุกรรมของลักษณะที่ต้องการ เช่น ลักษณะผลผลิตสูง ไม่ไวต่อช่วงแสง ต้านทานโรคแมลง ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ จากการดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวในประเทศไทย ปรากฏว่า ข้าวพันธุ์รับรองและพันธุ์แนะนำของทางราชการหลายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงหรือมีลักษณะดีเด่นอื่นๆ ซึ่งเกษตรกรยอมรับและใช้ปลูกอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีที่มาจากการนำเชื้อพันธุ์ต่างประเทศมาใช้เป็นพ่อแม่ในการผสมพันธุ์กับข้าวพันธุ์พื้นเมือง ดังนั้น การนำเข้าเชื้อพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศจึงทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ แต่เราคงไม่สามารถนำเข้าเชื้อพันธุ์ฝ่ายเดียวโดยไม่ยอมแลกเปลี่ยนกับประเทศอื่นบ้าง เพราะการแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุ์ข้าวเป็นความร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อประโยชน์ต่องานวิจัยและผลผลิตข้าวของเกษตรกรโดยส่วนรวม อนึ่ง จำนวนเชื้อพันธุ์ข้าวในธนาคารเชื้อพันธุ์พืชของประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 24 000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ ในจำนวนนี้เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 20 000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ ในขณะที่เชื้อพันธุ์ข้าวซึ่งอนุรักษ์ไว้ที่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรือ IRRI มีอยู่มากกว่า 100 000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ และจำนวนเชื้อพันธุ์ข้าวในโลกนี้ทั้งหมดคาดว่ามีอยู่ประมาณ 420 000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ โดยปริมาณและสัดส่วนของเชื้อพันธุ์ข้าวดังกล่าวจะเห็นว่าประเทศไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุ์ข้าวกับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เราอาจเสียเปรียบประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถวิเคราะห์คุณค่าและความเป็นประโยชน์ของเชื้อพันธุ์ รวมทั้งสามารถสกัดเอายีนหรือสารพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น ในการแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุ์จึงต้องทำข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุ์หรือ MTA ที่จำกัดการนำเชื้อพันธุ์ไปใช้ประโยชน์เฉพาะในการศึกษา วิจัย และปรับปรุงพันธุ์ โดยมิใช่เพื่อการค้า รวมทั้งระบุสิทธิของประเทศซึ่งเป็นเจ้าของพันธุกรรมและกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า ข้อมูลจาก กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!