แก่แล้วหลังค่อม?
ทำไมคนแก่ส่วนใหญ่จึงหลังค่อม เพราะกระดูกผุหรือไงคะ น้ำฝน nbsp พิทยานันท์ จ นราธิวาส
ทำไมคนแก่ส่วนใหญ่จึงหลังค่อม เพราะกระดูกผุหรือไงคะ น้ำฝน nbsp พิทยานันท์ จ นราธิวาส
ความจริงแล้ว อาการหลังค่อมมีโอกาสเกิดกับคนทุกเพศทุกวัย เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการลำตัวงอและไหล่ห่อมาข้างหน้ามากกว่าปรกติ หรือที่เราเรียกว่า หลังค่อม มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน นักกายภาพบำบัดแบ่งสาเหตุของอาการผิดปรกติที่ว่านี้ไว้สี่อย่างด้วยกัน สาเหตุแรก เกิดจากความผิดปรกติของการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลัง อาการหลังค่อมนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ จึงพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยส่วนใหญ่จะมีอาการกระดูกสันหลังคดร่วมด้วย สาเหตุที่ ๒ เกิดจากท่าทางการทำงานของคนที่ชอบยืน นั่งอยู่ในท่าหลังไหล่ห่อและตัวงอเป็นประจำ อาการนี้จะเกิดขึ้นในวัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ สาเหตุที่ ๓ เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกหักยุบตัวมาข้างหน้า สาเหตุสุดท้าย เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนนาน ๆ จะเกิดภาวะกระดูกพรุนโดยเฉพาะที่กระดูกสันหลัง ส่งผลให้กระดูกยุบตัวลง เมื่อเกิดการกระแทกแรง ๆ อาการหลังค่อมก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปรกติลำตัวของเราจะตั้งตรงได้ก็ต่อเมื่อมีเอ็นยึดข้อบริเวณกระดูกสันหลัง มีกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องพยุงและค้ำน้ำหนักเอาไว้ ในคนที่มีร่างกายปรกติ แรงกดจากน้ำหนักตัวจะผ่านกระดูกสันหลังพอดี แต่ถ้าคนที่มีกล้ามเนื้อหลังอ่อนแอกระดูกสันหลังยุบตัวมาด้านหน้า หรือชอบอยู่ในท่าห่อไหล่ หลังงอ แรงกดดังกล่าวก็จะเลื่อนมาข้างหน้ากระดูกสันหลัง ส่งผลให้หลังค่อย ๆ ค่อมลงมากขึ้น ๆ คนที่มีอาการหลังค่อม เวลายืน เดิน หรือนั่งนาน ๆ จะมีอาการเมื่อยหลังไปจนถึงปวดหลัง เพราะแรงกดของน้ำหนักตัว ที่เลื่อนมาอยู่ข้างหน้าจะทำให้เอ็นยึดข้อกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อหลังทำงานมากกว่าปรกติ ท่านอนที่เหมาะสำหรับคนหลังค่อมมาก ๆ คือ ท่านอนตะแคง มีหมอนข้างสอดอยู่ระหว่างขาทั้งสอง ส่วนคนที่หลังค่อมไม่มาก จะนอนหงายก็ได้แต่ต้องมีหมอนหนุนคอและใต้เข่า ผู้ที่หลังค่อมจะมีโอกาสหายได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยจะต้องอยู่ในความดูแลและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจากแพทย์ สำหรับผู้ที่หลังค่อมอันเนื่องมาจากกระดูกพรุน ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินชื้อนมผงเสริมแคลเซียมราคาแพงมาดื่มแต่อย่างใดขอเพียงกินผักสีเขียวหรือปลาที่กินได้ทั้งก้าง เช่น ปลากะตักปลาเล็กปลาน้อย เป็นประจำ ร่างกายก็จะมีปริมาณแคลเซียมมากเพียงพอต่อการป้องกันไม่ให้เกิดอาการหลังค่อมในวัยชราได้ “ ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี ”
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!