ฮิตเลอร์กับเครื่องหมายสวัสติกะ?
ทำไมฮิตเลอร์จึงใช้สวัสติกะเป็นเครื่องหมายของพรรคนาซี ไท จ อุบลราชธานี
ทำไมฮิตเลอร์จึงใช้สวัสติกะเป็นเครื่องหมายของพรรคนาซี ไท จ อุบลราชธานี
คำถามนี้ถ้าจะตอบกันตรง ๆ ก็คือ ไม่เคยมีคำอธิบายที่แจ้งชัดว่า ทำไมฮิตเลอร์จึงพิสมัยสวัสติกะถึงกับเลือกใช้เป็นเครื่องหมายของพรรคนาซี “ ซองคำถาม ” ค้นเจอข้อเขียนที่อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ นอกจากนั้นก็มีคำว่า |สวัสติกะ| ซึ่งก็มาจากคำสันสกฤตว่า |สฺวสฺติก| พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ |ลายกากบาทปลายหักมุมขวา ใช้เป็นเครื่องหมายมาแต่โบราณ สันนิษฐานกันว่าเป็นรูปดวงอาทิตย์โคจรเวียนขวา ความจริงแล้วเครื่องหมาย|สวัสติกะ| นั้นก็คือ เครื่องหมายกากบาท อันเป็นสัญลักษณ์แทนทิศใหญ่ทั้งสี่ทิศตามหลักจักรวาลวิทยา cosmology ที่หักปลายมาทางขวานั้น หมายความว่ามีความเคลื่อนไหวเป็นพลวัต dynamic คือไม่ได้อยู่เฉย ๆ หรือสถิต static และการที่ปลายหักไปทางขวานั้น หมายถึงหมุนไปทางขวาซึ่งเป็นมงคล เราเรียกว่า |ทักษิณาวรรต| เวลาที่เราเวียนเทียนรอบพระอุโบสถก็ดี แห่นาคเวียนโบสถ์ก็ดี เราต้องเวียนขวา เพราะถือว่าเป็นมงคล แต่เวลานำศพเวียนเมรุเป็นงานอวมงคล เราก็นำศพเวียนซ้าย เรียกว่า |อุตราวรรต| ด้วยเหตุนี้ นาซีซึ่งคิดจะครองโลกจึงใช้เครื่องหมาย |สวัสติกะ| แสดงว่าจะเป็นใหญ่ในทิศทั้งสี่ซึ่งถือว่าเป็นทิศหลัก และจะต้องเป็นไปในทางเป็นมงคลจึงต้องเวียนขวา ” ส่วน ม ร ว คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ว่า “ ฮิตเลอร์ถือว่าคำนี้เป็นคำแห่งภาษาอริยกะ อันเป็นภาษาแห่งเผ่าชน ซึ่งฮิตเลอร์เลื่อมใสสนับสนุนส่งเสริมโดยไม่ลืมตา ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองของฮิตเลอร์ คือพรรคชาติสังคมนิยม จึงได้ถือเอาเครื่องหมายสวัสติกะเป็นเครื่องหมายของพรรค เรียกได้ว่าเป็นมงคลนิมิต ” เครื่องหมายสวัสติกะนั้น จะเรียกว่าเป็นสัญลักษณ์สากลก็คงจะได้ เพราะมีปรากฏอยู่ทั่วไปตั้งแต่ยุโรปโบราณ แถบเมดิเตอร์เรเนียน เอเชียกลาง จีน ญี่ปุ่น โดยมักปรากฏในลวดลายผ้า ตราประทับ และเหรียญ นักประวัติศาสตร์ตะวันตกในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีความเชื่อว่า สวัสติกะเป็นสัญลักษณ์ที่มีที่มาจากชนชาติอารยัน และมีทฤษฎีกล่าวว่า เครื่องหมายสวัสติกะพัฒนาการมาจากเครื่องหมายล้อหมุน รูปวงกลมมีกากบาทตรงกลาง นักวิชาการตะวันตกบางรายเชื่อว่า ลายสวัสติกะนั้นมีมาแต่ยุคกรีกโบราณ เรียกว่า แกมมาดิออน Gammadion โดยมีองค์ประกอบมาจากอักษรแกมมาผนวกกันเป็นรอยไขว้สี่ชิ้น “ ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี ”
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!