ตำนาน ซำปอกง มีที่มาว่าอย่างไร?
ตำนาน ซำปอกง มีที่มาว่าอย่างไร
ตำนาน ซำปอกง มีที่มาว่าอย่างไร
ตามตำนานเล่าว่า ซำปอกง หรือ เจิ้งเหอ เดิมชื่อว่า หม่า เหอ เกิดในครอบครัวชาวมุสลิมที่เมืองคุนหยาง มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมาในปี ค ศ 1381 เกิดสงครามกวาดล้างกองกำลังมองโกลที่ปักหลักอยู่ในแถบยูนนาน ท่ามกลางความวุ่นวายของสงคราม หม่า เหอ วัย11 ปี ได้ตกเป็นเชลยศึก และถูกส่งตัวเข้ามาเป็นขันทีเพื่อทำงานรับใช้ในกองทัพ หม่า เหอ ติดตามกองทัพเข้าร่วมสมรภูมิรบจนอายุได้ 19 ปี ก็ได้มารับใช้ เอี้ยนหวังจูตี้ องค์ชายสี่แห่งราชวงศ์หมิงที่ปักกิ่ง นับแต่นั้น หม่า เหอ ก็คอยติดตามอยู่ข้างกายจูตี้ จนกลายเป็นคนสนิทที่ได้รับความไว้วางใจอย่างมาก หม่า เหอได้สร้างความดีความชอบไว้มาก โดยเฉพาะการช่วยให้จูตี้ได้ก้าวขึ้นคลองบัลลังก์เป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ ในที่สุด หม่า เหอ ก็ได้รับการเลื่อนฐานะขึ้นเป็นหัวหน้าขันที และได้พระราชทานแซ่ เจิ้ง จึงกลายมาเป็น เจิ้งเหอ หรือที่รู้จักกันในนาม ซำปอกง และเนื่องจากการที่เจิ้งเหอเป็นบุคคลที่จูตี้ให้ความไว้วางใจมากที่สุด ทั้งจากการเป็นขันทีคนสนิท และความดีความชอบในการหนุนจูตี้ขึ้นสู่บัลลังก์ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการกองเรือขนาดใหญ่ออกเดินทางไปในมหาสมุทรอันกว้างไกล ที่เล่ากันว่านอกจากจะเป็นการเดินทางเพื่อประโยชน์ทางการค้า การเผยแพร่ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรจีนแล้ว ยังแฝงไว้นัยสำคัญทางการเมืองและการสืบราชบัลลังก์ ค้นหาร่องรอยของอดีตจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ เพื่อสร้างความมั่นคงและมั่นใจแก่ราชบัลลังก์ของจูตี้ ว่าหมิงฮุ่ยตี้จะไม่มาเป็นหอกข้างแคร่อีกต่อไป การเดินทางออกสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ของเจิ้งเหอ 7 ครั้งในรอบ 28 ปี เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว กองเรือและการเดินทางของเจิ้งเหออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเดินเรือของโลก นำมาซึ่งความสำเร็จทางการทูตและทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเอเชียอาคเนย์ อินเดีย และแอฟริกา แต่บันทึกเรื่องราวการเดินทางที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยตรงแทบไม่มีหลงเหลืออยู่เลย ความรุ่งเรืองทางทะเลของจีนก็จบสิ้นลงพร้อมกับการจากไปของเจิ้งเหอผู้ยิ่งใหญ่ จากตำนานที่เล่าขานกันมาหลายร้อยปีกลายมาเป็นซำปอกง หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม หลวงพ่อโต ที่เป็นที่เคารพสักการบูชาของทั้งคนจีน คนไทย และคนไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศไทย ซึ่งในสยามประเทศมีซำปอกงองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่เพียง 3 วัดเท่านั้น โดยผู้ที่ไปกราบไหว้สักการบูชาซำปอกงส่วนใหญ่นอกจากจะกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังนิยมไปกราบไหว้เพื่อให้รุ่งเรืองทางด้านการค้าพาณิชย์ มีโชคลาภ และประสบแต่โชคดีในการเดินทาง ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!