
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 กำหนดให้ ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตัวอย่างคดีทำร้ายร่างกาย
นาย ก กำลังทำร้ายภรรยา นาย ข เข้ามาช่วยโดยเข้าไปล๊อคคอ พยายามกดลงพื้น(ไม่ได้เตะต่อย) ต่อมา นาย ก แจ้งความหาว่า นาย ข ทำร้ายร่างกาย โดยมีใบรับรองแพทย์ลงความเห็นว่า ปวดหลังน่าจะรักษาเกิน 30 วันแบบนี้นาย ข จะมีความผิดหรือป่าวคะ ถ้าผิดจะได้รับโทษอะไรบ้าง
ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้กระทำร้ายซึ่งจะมีความผิดดังกล่าว จะต้องมีเจตนาจะกระทำการประทุษร้ายแก่กาย หรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทกระทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด ดังนั้น กรณีที่ นาย ข. เห็น นาย ก. กำลังใช้กำลังทำร้ายร่างกายภรรยาของเขา ด้วยความที่เขาเป็นพลเมืองดี ทนไม่ได้จากการเห็นผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายภรรยาอันไม่เป็นธรรมจากการกระทำความผิดของ นาย ก. ซึ่งไม่ใช่ว่า นาย ก. เป็นสามีแล้วจะใช้สิทธิทำร้ายร่างกายภรรยาของตนได้แต่อย่างใด การกระทำของนาย ข. ที่ได้เข้าไปล็อคคอ นาย ก. กดลงพื้นโดยไม่ได้เตะต่อย นาย ก. แต่อย่างใด ล้วนเป็นการกระทำไปเพื่อการห้ามปราบนาย ก. ที่กระทำละเมิด ประทุษร้ายต่อร่างกายภรรยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำของพลเมืองดีที่น่าเอาเป็นแบบอย่างของสังคม นาย ข. จึงไม่มีเจตนาทำร้ายร่างกาย นาย ก. ย่อมขาดองค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย นาย ข. จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย นาย ก. ตาม ป.อ. มาตรา 295
การยอมความในคดีทำร้ายร่างกาย
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายนั้นแม้ผู้เสียหายจะยอมความแต่ก็ไม่มีผลให้คดียุติ เพราะการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา ๒๙๕ ป.อ. เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน โดยคดีความผิดต่อแผ่นดินนั้นเป็นความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่ความจะไปทำความตกลงยอมความกันไม่ได้ แม้ว่าคู่ความจะได้ทำการยอมความหรือถอนฟ้องคดีไปแล้ว พนักงานสอบสวนยังอาจดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ต้องหาได้ อย่างไรก็ดีการยอมความในคดีอาญาของผู้เสียหายเองนั้นอาจมีผลเป็นการยอมความในส่วนคดีละเมิดอันเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในความผิดฐานทำร้ายร่างกาย หากในการยอมความนั้นมีเนื้อหาบ่งถึงการยอมความในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาด้วย
ตัวอย่างคดีทำร้ายร่างกาย
นาย ก. ทำร้ายร่างกายนาย ข. นาย ข. จึงได้ยื่นฟ้อง นาย ก. ต่อศาล ระหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคดีอยู่ นาย ข. ไม่ติดใจจะดำเนินคดีกับนาย ก. ต่อไป นาย ข. ก็สามารถถอนฟ้องคดีดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นผลทำให้คดีนี้ระงับไป นาย ข. จะยื่นฟ้อง นาย ก. ในเรื่องนี้อีกไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากคดีทำร้ายร่างกายเป็นคดีอาญาแผ่นดินคดียังไม่ยุติ เมื่อนาย ก. ทำร้ายร่างกายนาย ข. ดังกล่าว พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและจับกุมนาย ก. มาดำเนินคดีได้ แม้นาย ข. จะได้ถอนฟ้องนาย ก. ไปแล้วก็ตาม
ข้อมูลจาก Internet
เรียบเรียงโดย Sanook! Guru