ตั้งแต่สมัยที่ยังใช้ธงพื้นแดงนั้น ใช้ชักบนเรือสินค้าของราษฎรไทยทั่วไป ภายหลังเมื่อประกาศใช้ธงช้างเป็นธงชาติครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ส่วนใหญ่มักใช้ในเรือที่เดินทางค้าขายกับต่างประเทศ นอกจากนี้ก็มีการชักขึ้นตามป้อม วังเจ้านาย บ้านเรือนข้าราชการและราษฎร ร้านค้า และสถานีราชการ ตลอดจนใช้ประดับตกแต่งในงานพิธีต่างๆ ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวแต่อย่างใด จนกระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมีระเบียบเกี่ยวกับธงชาติออกประกาศใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๙ เรียกว่าระเบียบการชักธงชาติสยาม
ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๑๗-๒๐ บทบังคับทั่วไปได้กล่าวถึงระเบียบการชักธงชาติและข้อควรปฏิบัติต่อธงชาติ และในบทกำหนดโทษท้ายพระราชบัญญัติในมาตรา ๒๑-๒๓ ก็ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับมีทั้งปรับเป็นเงิน จำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ หนักเบาแล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำ
ต่อมาได้มีระเบียบการชัดธงชาติออกบังคับใช้ตามลำดับ คือ
๑.ระเบียบการชักธงชาติสยาม แก้ไขเพิ่มเติม (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ภาคที่ ๑ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ หน้า ๘๓๘)
๒.กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ หน้า ๑๑๙๓-๑๑๙๔)
๓.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการชักธงชาติสยาม ออกประกาศวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๔ ภาคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๐ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ หน้า ๖๖๗)
๔.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ ๔ เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ออกประกาศวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๒ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖ ภาคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๒ วันที่ ๙ กันยายน หน้า ๑๖๑๑) มีใจความโดยย่อว่า รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่าธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพจากชาวไทย ฉะนั้นเมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้นหรือลงจากยอดเสาตามสถานที่ราชการในเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลง ให้ทุกคนแสดงความเคารพตามระเบียบเครื่องแบบของตนหรือประเพณีนิยม เมื่อได้ยินเพลงชาติซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการ หรือบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรืออยู่ในวงงานนั้นแสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม
๕.พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓ ตรา ณ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๔ ว่าด้วยข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติต่อธงชาติ ๖ ประการ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗ แผนกฤษฎีกา ภาค ๒ วันที่ ๑๕ ตุลาคม หน้า ๕๐๘-๕๑๓)
๖.ระเบียบการชักธงชาติ ออกประกาศวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ศกเดียวกันเป็นต้นไป (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗ พ.ศ. ๒๔๘๓ ภาค ๒ วันที่ ๓๑ ธันวาคม หน้า ๓๒๒๒-๓๒๒๘)
๗.พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๕ ตรา ณ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙ พ.ศ. ๒๔๘๕ แผนกฤษฎีกา ภาค ๑ ตอนที่ ๓๓ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม หน้า ๑๐๘๓-๑๐๘๕) มาตรา ๓,๔
๘.กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙ พ.ศ. ๒๔๘๕ แผนกฤษฎีกา ภาค ๑ หน้า ๑๐๘๖-๑๐๘๘)
๙.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๘ ออกประกาศวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นไป ให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ ออกประกาศวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ และฉบับวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖ กับบรรดาคำสั่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการชัดธงชาติและมีข้อความขัดกับประกาศฉบับนี้ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ พ.ศ. ๒๔๘๗ แผนกฤษฎีกา ภาค ๑-๒ ตอน ๗๒ วันที่ ๓๑ ธันวาคม หน้า ๑๒๙๐-๑๒๙๓)
๑๐.คำแนะนำในการปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบการชักธงชาติ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ พ.ศ. ๒๔๘๗ แผนกฤษฎีกา ตอนที่ ๗๙ วันที่ ๓๑ ธันวาคม หน้า ๑๒๙๔-๑๒๙๕)
๑๑.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๑ ประกาศวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ยกเลิกข้อความในข้อ ๘ แห่งระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๘ และใช้ข้อความตามที่แก้ใหม่ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ที่ ๖๕ พ.ศ. ๒๔๙๑ แผนกฤษฎีกา ตอนที่ ๕๙ วันที่ ๕ ตุลาคม หน้า ๕๙๘-๕๙๙)
๑๒.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๓ ออกประกาศวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๗ ภาค ๔พ.ศ. ๒๔๙๓ ตอนที่ ๖๗ วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ หน้า ๖๓๗๓-๖๓๗๔) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งแก้ไขข้อความในข้อ ๘ แห่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ. ๒๔๘๘ และแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใหม่
๑๓.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๔ ออกประกาศวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๘ ภาค ๒ เล่ม ๑ ตอนที่ ๔๔ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม หน้า ๒๘๐๙-๒๘๑๑) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งแก้ไขข้อความในข้อ ๘ แห่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ. ๒๔๘๘ และแก้ไขข้อความใหม่
๑๔.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแก้ไขการชักและประดับธงชาติในวันเฉลิมพระชนมพรรษา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๔ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๘ ภาค ๒ เล่ม ๓ ตอนที่ ๗๖ วันที่ ๑๘ ธันวาคม หน้า ๕๖๖๘)
๑๕.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๕ ออกประกาศวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๕๔ วันที่ ๙ กันยายน หน้า ๒๙๑๗-๒๙๑๙) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๔) แก้ไขข้อความใหม่
๑๖.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๐๑ ออกประกาศวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๕ ภาค ๒ เล่ม๑ ตอนที่ ๕๗ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม หน้า ๒๑๒๙-๒๑๓๐) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๕) และแก้ไขข้อความใหม่
๑๗.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๓ ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๕๑ วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓ หน้า ๑๕๖๖) ยกเลิกข้อความในข้อ ๘ ซ.
๑๘.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๐๓ ลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๘๓ วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ หน้า ๒๑๔๐) แก้ไขข้อความในข้อ ๕ ข. ของประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธง พ.ศ. ๒๔๘๘
๑๙.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ มีข้อความแก้ไขข้อความในข้อ ๕ กำหนดเวลาชักธงขาติขึ้นลงแห่งระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ. ๒๔๘๘ ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ปรับปรุงแก้ไขกำหนดเวลาการชักธงชาติขึ้นลงและการเคารพธงชาติใหม่ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเกิดความผูกพันทางจิตใจ และมีความตื่นตัวเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของบ้านเมืองยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษากันแล้วลงมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตึงดำเนินการแก้ไข และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกบังคับใช้ดังกล่าวมาแล้ว
ตามประกาศทั้งหลายดังกล่าว เป็นผลให้ประเทศไทยมีระเบียบว่าด้วยการชักธงชาติดังต่อไปนี้
การชักธงชาติในเวลาปกติ
๑. สถานที่และยานพาหนะของราชการฝ่ายทหาร ให้ชักธงชาติตามระเบียบ และข้อบังคับของทหาร
๒. สถานที่ราชการพลเรือนให้ชักธงชาติทุกแห่ง ถ้าในบริเวณเดียวกันมีสถานที่ราชการหลายแห่ง จะสมควรชักธงชาติ ณ ที่ใดให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าผู้ปกครองสถานที่นั้น
๓. โรงเรียนทุกประเภท ให้ชักธงชาติตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการได้วางไว้
๔. เรือเดินทะเล ให้ชักธงชาติไทยโดยปฏิบัติตามธรรมเนียมของชาวเรือที่นิยมกันอยู่ทั่วไป
๕. ที่สาธารณสถาน และสถานที่ของเอกชน ถ้าจะชักธงชาติ ให้ปฏิบัติตามระเบียบนี้ด้วยอนุโลม
๖. ยานพาหนะอย่างอื่นนอกจากที่ระบุไว้ข้างต้น ในเวลาปกติไม่ควรชักธงชาติ
กำหนดเวลาชักธงชาติขึ้นลง
๑. ให้กำหนดเวลาชักธงขึ้นสู่ยอดเสาเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา โดยใช้ชักธงขึ้นตามเสียงเพลงชาติที่บรรเลงต่อจากการเทียบเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
๒. สำหรับโรงเรียนทั้งของรัฐและโรงเรียนราษฎร์นั้นให้เลือกชักธงชาติได้ทั้งเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา หรือเวลาที่โรงเรียนเข้า ซึ่งอาจจะเป็นเวลาที่เลยจากเวลา ๘.๐๐ นาฬิกาไปแล้ว ทั้งนี้ให้ปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ หรือทบวงมหาวิทยาลัย
๓. ให้กำหนดเวลาเชิญธงชาติลงจากเสาเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา โดยฟังเสียงเพลงชาติจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือในเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกาตรง ตามเวลาของสถานที่นั้น ๆ ในกรณีที่ไม่มีเสียงวิทยุ สำหรับโรงเรียนให้ปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ หรือทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
๔. ให้สถานที่ราชการทุกแห่งเปิดวิทยุรับฟังเพลงชาติจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา และเชิญชวนให้ข้าราชการหยุดยืนเคารพธงชาติในเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ ให้สถานที่ราชการทุกแห่งมีและใช้ธงชาติที่มีสภาพดีและเรียบร้อย โดยไม่ปล่อยให้ธงชาติที่ใช้อยู่ในสภาพที่ขาดวิ่น หรือสีสันซีดจนมองไม่ออกว่าเป็นธงชาติไทย
การทำความเคารพในขณะชักธงชาติ
๑. ทหาร ให้ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของทหาร
๒. ให้ปฏิบัติตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการวางไว้ ดังนี้
(๑) การชักธงชาติขึ้นสู่เสาของสถานศึกษา ให้เชิญธงชาติขึ้นสู่เสาเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา หรือเวลาเข้าเรียนในตอนเช้า ตามความเหมาะสม ส่วนการลดธงลงในตอนเย็น ให้ลดธงลงในเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา
(๒) ให้นักเรียนร้องเพลงชาติในขณะชักธงชาติขึ้นสู่เสาด้วยตนเอง ห้ามใช้วิทยุหรือแผ่นเสียง แต่ถ้าสถานศึกษาจะใช้แตรวงบรรเลงประกอบการร้องของนักเรียนด้วยก็ให้กระทำได้
(๓) สำหรับการลดธงลงในตอนเย็นให้ฟังเสียงเพลงชาติจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และให้จัดครูเวรสองคนแต่งกายแบบสุภาพเป็นผู้ลดธงลง
(๔) สำหรับการเชิญธงชาติขึ้นสู่เสาเฉพาะภายในกระทรวงศึกษาธิการ จะมีการชักธงชาติเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา โยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะจัดเวรข้าราชการรับผิดชอบการชักธงเป็นประจำ ข้าราชการดังกล่าวขอให้แต่งกายสุภาพ และข้าราชการที่ได้ยินเสียงร้องเพลงชาติ หรือได้เห็นการชักธงชาติจะต้องหยุดทำความเคารพด้วย แม้กำลังนั่งอยู่ในรถก็ตาม การชักธงลงในตอนเย็นใช้เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา
สำหรับกรมพละศึกษาและกรมศิลปากร ให้ดำเนินการเช่นเดียวกัน(1)
๓. บุคคลนอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ ๑ และ ๒ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่ชักธง หรือเห็นหรือได้ยินสัญญาณการชักธง ให้แสดงความเคารพตามระเบียบการเคารพประเพณีนิยม จนเสร็จการชักธงชาติ
การลดธงชาติครึ่งเสา
กรณีที่จะชักธงชาติครึ่งเสาเป็นเวลานานเท่าไร ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป
วันพิธีที่ทำการชักธงและประดับธงชาติ
๑. วันขึ้นปีใหม่ วันที่ ๓๑ ธันวาคม และวันที่ ๑,๒ มกราคม ๓ วัน
๒. วันมาฆบูชา ๒ วัน
๓. วันจักรี วันที่ ๖ เมษายน ๑ วัน
๔. วันสงกรานต์ วันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายน ๓ วัน
๕. วันฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม ๑ วัน
๖. วันพืชมงคล ๑ วัน
๗. วันวิสาขบูชา ๑ วัน
๘. วันอาสาฬหบูชา ๑ วัน
๙. วันเข้าพรรษา ๑ วัน
๑๐. วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๑ วัน
๑๑. วันสหประชาชาติ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๑วัน
๑๒. วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕, ๖, ๗ ธันวาคม ๓ วัน
๑๓. วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ ๙, ๑๐, ๑๑ ธันวาคม ๓ วัน
นอกจากนี้สุดแต่ทางราชการจะประกาศให้ทราบ ส่วนงานพิธีอื่นๆ ตามประเพณีนิยม หากจะชักธงและประดับธงชาติก็ทำได้ แต่ต้องการกระทำไปด้วยความสุภาพ
ข้อแนะนำในการชักธงชาติ
๑.ขนาดธงชาติควรมี ๒ ขนาด ขนาดหนึ่งเป็นขนาดเล็กไว้ใช้ในวันปกติ และอักขนาดหนึ่งเป็นขนาดใหญ่ใช้ในวันพิธี
๒.เสาธงชาติ จะมีขนาดสูงต่ำใหญ่เล็กเพียงไร และควรจะอยู่ ณ ที่ใดให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ปกครองสถานที่จะพึงพิจารณาให้เหมาะสม เป็นสง่างามแก่อาคารสถานที่นั้นๆ
๓.การเก็บรักษาและเชิญธงชาติ เนื่องจากธงชาติเป็นสิ่งสำคัญแสดงถึงความเป็นเอกราชของประเทศ การเก็บรักษาหรือเชิญไปมา จำเป็นต้องกระทำด้วยอาการเคารพ คือต้องเก็บหรือวางธงชาติบนพาน มิใช่ถือไปมาด้วยมือ ผู้เชิญธงชาติต้องแต่งกายสุภาพ หรือถ้าเป็นข้าราชการก็ต้องแต่งเครื่องแบบให้ถูกต้อง(2)
๔. วิธีชักธงชาติ ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
๔.๑ ก่อนถึงกำหนดเวลาชักธงชาติขึ้น ให้เตรียมธงชาติผูกติดกับเส้นเชือกให้เรียบร้อย
๔.๒ เมื่อถึงกำหนดเวลา ให้คลี่ธงออกเต็มผืน แล้วค่อยๆ ดึงเชือกให้ธงขึ้นช้าๆ ด้วยความสม่ำเสมอและเส้นเชือกตึงจนถึงจุดยอดเสาธง แล้วผูกเชือกไว้ให้ตึงไม่ให้ธงลดต่ำลงมาจากเดิม
๔.๓ เมื่อชักธงลง ให้ค่อยๆ ดึงเชือกให้ลงช้าๆ ด้วยความสม่ำเสมอและเส้นเชือกตึงถึงระดับเดิมเมื่อชักขึ้น
๔.๔ ในกรณีที่มีเพลงบรรเลง หรือมีสัญญาณในการชักธงขึ้นหรือลง จะต้องชักธงขึ้นหรือลงให้ถึงจุดที่สุดพร้อมกับจบเพลงหรือสัญญาณนั้นๆ
๕.การชักธงชาติครึ่งเสา ในกรณีที่ทางราชการประกาศใช้ชักธงชาติครึ่งเสา ให้ปฏิบัติการในการชักธงขึ้นเช่นเดียวกับในข้อ ๔.๒ เมื่อธงถึงยอดเสาแล้วจึงลดมาโดยเร็วให้อยู่ในระดับความสูง ๒ ใน ๓ ส่วน และเมื่อจะลดธงลง ให้ชักขึ้นโดยเร็วจนถึงยอดเสาก่อน แล้วจึงลดลงตามที่กล่าวไว้ในข้อ ๔.๓
ข้อบังคับเกี่ยวกับธงชาติ
ภายในประเทศไทยใช้ชักได้แต่ธงชาติไทย ธงชาติของต่างประเทศชักได้ในกรณีต่อไปนี้
๑. ชักสถานทูต หรือสถานกงสุลตามธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ
๒. ชักธงบนเรือต่างประเทศ หรืออากาศยานต่างประเทศตามธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ
๓. ชักธงในโอกาสที่ประมุขแห่งรัฐหรือผู้แทนเดินทางมาเยือนประเทศไทย
๔. ชักในโอกาสที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง หรือในโอกาสที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พระราชบัญญัติธง ประกาศให้ชักได้ หรือในโอกาสที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
๕. การชักธงชาติในข้อ ๓,๔ ต้องชักตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง คือ
๕.๑ ต้องชักธงชาติไทยไว้กับธงต่างประเทศนั้นด้วย
๕.๒ ถ้าชักธงต่างประเทศ ประเทศเดียว ต้องให้ธงชาติไทยเคียงคู่อยู่ข้างขวาของธงชาติต่างประเทศ ดูจากภายในสถานที่ที่ชักธง
๕.๓ ถ้าชักธงชาติต่างประเทศมากกว่าประเทศเดียว ซึ่งรวมกับธงชาติไทยเป็นจำนวนคี่ต้องให้ธงชาติไทยอยู่กลาง
๕.๔ ถ้าชักธงชาติต่างประเทศมากกว่าประเทศเดียว ซึ่งรวมกับธงชาติไทยเป็นจำนวนคู่ต้องให้ธงชาติไทยอยู่กลางข้างขวา ดูจากภายในสถานที่ที่ชักธง
๕.๕ ธงชาติไทยที่ชักอยู่กับธงต่างประเทศนั้น ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่าธงต่างประเทศและต้องอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าธงชาติต่างประเทศที่ชักขึ้น ทั้งต้องมีลักษณะบริบูรณ์ ไม่ขาดวิ่นเลอะเลือน
๖. ข้อบังคับซึ่งกล่าวมานี้ ห้ามมิให้ใช้บังคับภายในห้องของบ้านหรือโรงเรียน
๗. ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการต่อไปนี้
๗.๑ ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ นอกจากที่อนุญาตไว้ใน พระราชบัญญัติธง หรือกฎหมายอื่น ลงบนธงชาติ
๗.๒ ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ ลงในแถบสีธงชาติโดยไม่ควร
๗.๓ ใช้ ชัก หรือ แขวนธงชาติ หรือแถบสีธงชาติที่ได้ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ อันต้องห้ามในข้อ ๗.๑ และ ๗.๒ ลงไว้ แม้ว่าจะเป็นรูปหรือเครื่องหมายที่ปรากฏหรือมีอยู่ก่อนวันประกาศใช้ พระราชบัญญัติธง
๗.๔ ใช้ ชัก หรือ แขวนธงชาติ หรือแถบสีธงชาติไว้ ณ สถานที่อันไม่สมควร หรือวิตถารวิธี
๗.๕ แสดงกิริยา วาจา หรืออาการอย่างหนึ่งอย่างใด หยาบคายต่อธงชาติหรือแถบสีธงชาติ
๗.๖ ประดิษฐ์สีธงชาติ หรือแถบสีธงชาติลง ณ สถานที่หรือสิ่งของใด ๆ โดยไม่สมควร หรือแสดงหรือใช้สถานที่หรือสิ่งของอันยังมีรูปธงชาติหรือแถบสีธงชาติ ซึ่งประดิษฐ์ลงไว้โดยไม่สมควรนั้น แม้ว่ารูปธงชาติหรือแถบสีธงชาติเช่นว่านั้นจะปรากฏหรือมีอยู่ก่อนวันใช้ พระราชบัญญัติธง
บทกำหนดโทษ
๑.ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในข้อบังคับ ๑-๕ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท จำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
๒.ผู้ใดชักธงชาติหรือแสดงธงอย่างในอย่างหนึ่งในพระราชบัญญัติ โดยไม่มีสิทธิ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท จำคุกไม่เกิน ๒ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
๓.ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งข้อ ๗ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
-----------------------------
เชิงอรรถ
1) บันทึกที่ ศธ. ๐๒๐๑/๒๒๕๒๕ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ เรื่องการชักธงชาติไทย
2) มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ จากสำเนารายงานการประชุมอธิบดีเกี่ยวกับการชักธงชาติ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ กระทรวงศึกษาธิการ
ที่มา www.bloggang.com