ทำไมจุฬา ฯ ใช้พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์?
สงสัยว่าเหตุใดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงใช้พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เด็กราม กรุงเทพฯ
สงสัยว่าเหตุใดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงใช้พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เด็กราม กรุงเทพฯ
พระเกี้ยว เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกษาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่าเกี้ยว ถ้าเป็นคำนาม แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นกริยา แปลว่า ผูกรัดหรือพัน พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ ทั้งนี้สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในสมเด็จพระปิยมหาราชซึ่งได้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้จุฬาลงกรณ์ แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือจุลมงกุฎจุลมงกุฎมีความหมายสำคัญยิ่ง คือเกี่ยวโยงถึงพระนามาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จึงมีความหมายว่า จุลมงกุฎ หรือพระราชโอรสของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเกี่ยวพันถึงพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งหมายความว่า “ พระจอมเกล้าน้อย ” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเลขา สัญลักษณ์ ประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน หรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก ต่อมาเมื่อโรงเรียนมหาดเล็กกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารก็ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้พระราชทานใหม่ตลอดมา ส่วนเหตุที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้สีชมพูเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย ก็ด้วยเป็นสีวันพระราชสมภพ วันอังคาร ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี ”
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!