ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลไหนๆ ที่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ไปที่ไหนก็เต็มไปด้วยของขวัญในกล่องที่ห่อด้วยกระดาษหลากสีส่งแสงระยิบระยับ เมื่อประดับด้วยริบบิ้นสีสวย ของขวัญที่เป็นปริศนาในกล่องก็ดูมากค่าไปด้วย แต่เคยนึกสงสัยไหมว่าเราเริ่มให้ของขวัญกันตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วกระดาษห่อของขวัญมีมานานแล้วหรือยัง...
ธรรมเนียมการให้ของขวัญ มีมาตั้งแต่สมัยโรมันแล้ว จะเห็นได้จากการถวายของบูชาแด่เทพเจ้าที่ตนเคารพบูชา หรือการส่งเครื่องบรรณาการให้เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ส่วนในหมู่ชาวบ้านนิยมให้ของขวัญกันในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ของโรมัน วันฉลองเทพเจ้าต่างๆ วันเหมายัน เป็นต้น ต่อมาการให้ของขวัญถูกโยงเข้ากับเรื่องราวการประสูติของพระเยซู จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลคริสต์มาส
ในสมัยก่อนของขวัญที่ส่งให้กันอาจมีหนังสัตว์หรือผ้าห่อไว้ ต่อมาในปี ค.ศ.105 เริ่มมีการใช้กระดาษห่อของขวัญ ประเทศที่ริเริ่มก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากจีน เพราะเป็นชนชาติแรกที่ประดิษฐ์กระดาษ ชาวจีนนิยมห่อของขวัญด้วยกระดาษสีแดง เพราะเชื่อว่าจะนำโชคลาภมาให้
ในช่วงนั้น การใช้กระดาษห่อของขวัญยังมีอยู่แต่ในจีน เพราะไม่มีใครรู้วิธีผลิตกระดาษ เนื่องจากเป็นความลับ ใครที่นำไปเผยแพร่จะมีโทษถึงตาย แต่เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ในระหว่างที่จีนทำสงครามกับชาติอาหรับ ทำให้ความลับการผลิตกระดาษหลุดรอดไปยังตะวันออกกลาง และส่งต่อไปถึงยุโรปผ่านสงครามครูเสดในคริสต์ศตวรรษที่ 11
เมื่อยุโรปผลิตกระดาษใช้เองได้ การห่อของขวัญก็เริ่มแพร่หลายและฮิตสุดๆ ในยุควิกตอเรีย ซึ่งตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ก็เฉพาะในหมู่ผู้ดีมีเงินเท่านั้น กระดาษห่อของขวัญที่พิมพ์ลวดลายสวยงามรูปทิวทัศน์ในหน้าหนาว โบสถ์ เตาผิง นางฟ้า นักบุญนิโคลัส เป็นที่นิยมมาก และถ้าจะให้หรูหราต้องตกแต่งด้วยริบบิ้นและผ้าลูกไม้
แต่สมัยก่อนยังไม่มีกระดาษกาว ไม่มีสก๊อตเทป เขาจึงห่อของขวัญกันโดยใช้ขี้ผึ้งทากระดาษให้ติดกันแล้วผูกด้วยเชือกนั่นเอง ต่อมาในปี ค.ศ.1920 อุตสาหกรรมการผลิตกระดาษเจริญรุดหน้าจึงมีกระดาษหลากสีใช้ แต่กระดาษห่อของขวัญสีที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ขาว แดง เขียว ซึ่งเป็นสีของเทศกาลคริสต์มาส
ในปี ค.ศ.1917 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการกระดาษห่อของขวัญ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส กระดาษห่อของขวัญขาดตลาด ร้านขายของพี่น้องตระกูลฮอลล์ ที่เคนซัส สหรัฐอเมริกา จึงนำกระดาษสีสันสวยงามจากฝรั่งเศส ที่ตอนแรกจะเอามาใช้ทำซองจดหมายด้านในมาขายแทน ปรากฏว่าขายหมดอย่างรวดเร็ว และได้รับผลตอบรับดีเกินคาดในปีต่อมา ทำให้ร้านนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งต่อมาก็คือบริษัทฮอลล์มาร์ก ยักษ์ใหญ่ของธุรกิจกระดาษห่อของขวัญ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ธุรกิจต่างๆ ซบเซากันทั้งนั้น มีเพียงธุรกิจกระดาษห่อของขวัญที่รัฐบาลไม่ได้บังคับให้ขายแบบปันส่วน เพราะอยากกระตุ้นให้คนมีความสุข และส่งของขวัญเป็นกำลังใจให้เหล่าทหารในต่างแดน ธุรกิจนี้จึงเติบโตมากกว่าเดิมถึงร้อยละ 20 ปัจจุบันธุรกิจกระดาษห่อของขวัญมีรายได้เฉลี่ย 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
ในญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการห่อของขวัญเหมือนกัน เรียกว่า "ฟุโรชิกิ" ยิ่งในช่วงกระแสลดโลกร้อน ลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างนี้ การห่อของ ห่อกล่องข้าวเบนโตะ ห่อหนังสือ รวมไปถึงการห่อของขวัญแบบฟุโรชิกิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือผ้าป่าน ที่ลวดลายบนผ้าสวยงามแบบกิโมโนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยดัดแปลงในรูปแบบใหม่ๆ ให้ทันสมัยและกิ๊บเก๋มากขึ้น
ฟุโรชิกิ (furoshiki) มาจากคำว่า ฟุโร แปลว่าห้องอาบน้ำ และคำว่า ชิกิ แปลว่าแผ่ออก ผู้คนในสมัยนั้นจึงเรียกผ้าห่อเพื่อไปอาบน้ำว่า furoshiki
ย้อนกลับไปในสมัยนาระ ประมาณ ค.ศ.710-794 ของญี่ปุ่น ชนชั้นสูงหรือผู้มีสกุลจะนิยมใช้ห้องอาบน้ำสาธารณะที่เรียกว่า "เซนโต" เวลาไปอาบน้ำจะใช้ผ้าผืนใหญ่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีชื่อเรียกว่า "ฟุโรชิกิ" เพื่อห่ออุปกรณ์อาบน้ำ เสื้อผ้า และใช้ปูพื้นเพื่อวางของในห้องอาบน้ำ
ต่อมาในสมัยเอโดะ ประมาณ ค.ศ.1603-1868 การอาบน้ำในห้องน้ำสาธารณะเริ่มแพร่หลาย คนทั่วไปใช้บริการมากขึ้น การห่อฟุโรชิกิจึงเป็นที่นิยมตามไปด้วย กล่าวกันว่าช่วงทศวรรษที่ 1930 ชาวญี่ปุ่นจะมีฟุโรชิกิกันประมาณคนละ 20 ชิ้น หลากหลายขนาดสำหรับห่อของติดตัวหรือส่งมอบให้คนอื่นๆ
การห่อของขวัญแบบฟุโรชิกิ นอกจากผู้รับจะได้ลุ้นไปกับของขวัญสื่อแทนใจที่ผู้ให้ส่งมอบให้แล้ว ผ้าฟุโรชิกิยังเป็นอีกหนึ่งของขวัญที่มีคุณค่าไม่น้อยทีเดียว
+วิธีห่อของขวัญ
+ของขวัญ ต้องห้าม
ขอขอบคุณข้อมูลจากMy first brain