การนั่งทำงานนานๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างต่อเนื่องนำมาซึ่งโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคนในวัยทำงาน
โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง หรือ myofascial pain syndrome มักเป็นต้นตอของจุดกดเจ็บ หรือ Trigger Point ซึ่งเป็นจุดที่เรากดลงไปแล้วรู้สึกปวด เหมือนมีก้อนแข็งๆ เล็กๆ ใต้ผิวหนัง เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่สะสมต่อเนื่องกันนาน จนเกิดเป็นก้อนเล็ก ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร
จุดกดเจ็บจำนวนมากที่ซ่อนอยู่ในกล้ามเนื้อมีต้นเหตุสำคัญคือ การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ รวมทั้งออกซิเจนที่ส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ เกิดการคั่งของเสียในบริเวณนั้น ทำให้กล้ามเนื้อแข็งและเกร็ง มีอาการปวดลามไปยังบริเวณใกล้เคียงจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังตามมา ส่วนใหญ่จะเกิดที่กล้ามเนื้อส่วนบนตั้งแต่ คอ บ่า ไหล่ สะบัก และ กล้ามเนื้อหลัง อาการปวดร้าวลึกของกล้ามเนื้อ อาจจะปวดตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะเวลานั่งทำงาน บางคนอาจเป็นหนักจนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อส่วนนั้นได้ หรือบางคนอาจลามไปถึงศีรษะ กระตุ้นการเกิดปวดศีรษะชนิดไมเกรน ทำให้นอนไม่หลับ มีอาการชาตามมือ แขน และทำให้เกิดปัญหาโครงสร้างและการใช้งานของร่างกาย เช่น ไหล่สูงต่ำไม่เท่ากัน หลังโก่งงอ หรือมีปัญหาในการเดินและทรงตัว
อาการปวดลามไปยังบริเวณใกล้เคียง
การรักษาจะใช้การบริหารกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น ฝึกยืดกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวบน ต้นแขนและคอ นวด ทายาคลายกล้ามเนื้อ หรือรับประทานยา รวมทั้งประคบด้วยความร้อน การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว ผลการรักษาจะทำให้อาการดีขึ้น ลดความเจ็บปวดได้ แต่ให้พึงระวังสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ได้แก่ การนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสม การทำงานที่มีการใช้กล้ามเนื้อในท่าเดียวกันซ้ำๆ เป็นเวลานาน กล้ามเนื้อขาดการพักผ่อน รวมถึงไม่ได้รับการบริหารกล้ามเนื้อทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องหลีกเลี่ยง
การหมั่นดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้ทันท่วงที เช่น ถ้ากล้ามเนื้อคอเกิดอาการตึงระหว่างนั่งปฏิบัติงาน อาจใช้วิธีบริหารง่ายๆ ตามลำดับดังนี้
ท่าที่ 1 หันศีรษะไปทางด้านซ้ายช้าๆ ใช้มือซ้ายช่วยดึงค้างไว้
ท่าที่ 2 ก้มศีรษะพยายามให้คางชิดอกมากที่สุด
ท่าที่ 3 เงยหน้าขึ้นช้าๆ ไปด้านหลังให้มากที่สุด
ท่าที่ 4 เอียงศีรษะไปทางด้านขวา ใช้มือขวาช่วยดึง พยายามให้ศีรษะชิดไหล่มากที่สุด
ท่าที่ 5 หันศีรษะไปทางด้านซ้าย 45 องศา ใช้มือขวาช่วยดึงพร้อมก้มลงช้าๆ ให้มากที่สุดค้างไว้ 10 วินาที
จากนั้นสลับทำด้านขวา โดยแต่ละท่าค้างไว้ 10 วินาที การปฏิบัติเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการได้ไม่มากก็น้อยครับ
บทความโดย : อ.นพ.ลิขิต รักษ์พลเมือง ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด
นิษฐ์ภัสสร ห่อเนาวรัตน์ : เรียบเรียง
ที่มาข้อมูล bloggang.com
ที่มารูปภาพ siamdara.com