กินช็อกโกแลตมากทำให้ฉลาดขึ้นจริงหรือไม่?
นักวิจัยจากสหรัฐฯ เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานช็อกโกแลตกับการพัฒนาระดับสติปัญญาของมนุษย์ พร้อมระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีผู้บริโภคช็อกโกแลตมากที่สุด และมีจำนวนของผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุดเช่นกัน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐฯ เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานช็อกโกแลตกับการรับรู้ของสมอง และการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมีผลการทดลองเปิดเผยออกมาว่า หนูที่กินช็อกโกแลต มีระบบการรับรู้ของสมองที่ดีขึ้น และมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ขณะเดียวกัน หอยทากที่กินช็อกโกแลตก็มีระบบความจำที่พัฒนาดีขึ้นกว่าหอยทากที่ไม่กินช็อกโกแลต
จากผลวิจัยดังกล่าว ทำให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เกิดไอเดียขึ้นมาว่า การรับประทานช็อกโกแลตเป็นประจำ จะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์หรือไม่ โดยทีมวิจัยได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการรับประทานช็อกโกแลตของประชากรในแต่ละประเทศ ไปเปรียบเทียบกับจำนวนของผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาต่างๆ จากทั่วโลกแล้วพบว่า ประเทศที่มีผู้บริโภคช็อกโกแลตมากที่สุดอย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คือประเทศที่มีจำนวนผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลในสัดส่วนที่มากที่สุด เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ
จากนั้น ทีมวิจัยได้เข้าไปทำการเก็บข้อมูล ด้วยการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล ว่าพวกเขาเหล่านั้น รับประทานช็อกโกแลตมากน้อยแค่ไหนตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา โดยนายคริสโตเฟอร์ พิสซาไรด์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 2553 จาก London School of Economics ประเทศอังกฤษ ก็ให้สัมภาษณ์ว่า เขารับประทานช็อกโกแลตมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และปัจจุบันยังคงรับประทานเป็นประจำทุกวัน ซึ่งช็อกโกแลตเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยให้เขามีพลังในการทำงานต่อไปได้ อีกทั้งยังช่วยให้เขารู้สึกดีทุกครั้งที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ
ขณะที่ นายโรเบิร์ต กรับส์ ชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมี ในปี 2548 ก็กล่าวว่า เขารับประทานช็อกโกแลตทุกครั้งที่เขามีโอกาส ส่วนอีริค คอร์แนล เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เมื่อปี 2544 ก็ยืนยันว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในชีวิตของเขา มาจากการรับประทานช็อกโกแลต โดยเฉพาะดาร์ก ช็อกโกแลต
ขอบคุณที่มาข้อมูลและภาพ voice tv