ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ, วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ หมายถึง, วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ คือ, วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ ความหมาย, วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ

        คณะรัฐมนตรี ได้ลงมติ เมื่อ 29 สิงหาคม 2538 ให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็น วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ โดยเห็นว่าควรถือวันที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จประพาสคลองแสนแสบเป็นวันพัฒนาแม่น้ำลำคลองแห่งชาติ

ความเป็นมาของวันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ

        ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน พ.ศ.2537 ภาพคลองแสนแสบในจินตนาการของผู้คน โดยเฉพาะคนเมืองหลวงคงไม่พ้นภาพคลองน้ำครำสายใหญ่ สายยาวที่สุดของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะนับจากต้นคลองที่สะพานผ่านฟ้า ผ่านย่านราชเทวี ประตูน้ำ คลองตัน จนถึงบางกะปิ คลองที่รกเรื้อเต็มไปด้วยวัชพืช เช่น หญ้าคา ผักตบชวา ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ใด ๆจากคลองสายนี้อีกแล้ว ลบภาพคลองแสนแสบที่น้ำใสแจ๋วและภาพดำผุดดำว่ายของไอ้ขวัญ-อ้ายเรียมไปอย่างสิ้นเชิง

         แม้ว่าชาวบ้านจะพยายามกันแล้วที่จะพัฒนาคูคลองดังกล่าว แต่ก็เมือนว่าเกินกำลัง เพราะปัญหาคลองแสนแสบมิได้เกิดขึ้นเพียงวันสองวัน และไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ที่มักง่ายและไม่รู้คุณค่า

         มากลางปี 2537 มีกลุ่มผู้รักน้ำ และอับอายที่เห็นคูคลองทั่วกรุงเทพกลายเป็นท่อน้ำครำขนาดใหญ่ ซึ่งร่วมด้วยกองทัพบกตลอดจนสถาบันการศึกษาลงไปถึงโรงเรียนประถมและมัธยมทั่วกรุงเทพมหานคร ได้รวมตัวกันในชื่อโครงการว่า "โครงการรวมใจภักดิ์รักษ์คลองแสนแสบ"

         กระทั่งวันที่ 20 กันยายน 2537 สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสตรวจสอบคลองแสนแสบ และเยี่ยมประชาชนสองฝั่งคลองระยะทางตั้งแต่กรุงเทพมหานครถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะทาง 72 กิโลเมตร ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของชมรมรวมใจภักดิ์รักต้นไม้ แม่น้ำลำคลอง และสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ ให้ปี 2544-2546 เป็นปีแห่งการอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเป็นองค์กรหลักในการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อม แม่น้ำ คู คลอง

โครงการนำร่องเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อม

        โครงการนำร่องเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมเริ่มต้นที่ คลองอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม คลองอ้อมนนท์-คลองบางกอกน้อย-คลองบางกรวย-จังหวัดนนทบุรี คลองด่าน-คลองบางขุนเทียน-คลองสนามชัย-กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นคลองสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันไป

คลองอัมพวา

         เป็นคลองที่ตัดเชื่อมแม่น้ำแม่กลอง ริมฝั่งคลองเป็นที่ตั้งของวัดอัมพวันแจติยารามซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระมเหสีในรัชกาลที่ 1 และพระปรางค์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 บริเวณท่าน้ำวัดดาวดึงษ์ เป็นที่ตักน้ำไปใช้ในพิธีสรงมุรธาภิเษกหรือพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ในทุกรัชกาลจนถึงปัจจุบัน และมีประเพณีโบราณ การแข่งเรือโบราณ ประเพณีลอยกระทง ซึ่งยังมีการจัดเป็นประจำทุกปี

คลองอ้อมนนท์ - คลองบางกอกน้อย - คลองบางกรวย นนทบุรี

         เป็นย่านชุมชน แหล่งพืชผลทางเกษตร และเป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันยังมีบ้านทรงไทย และร่องรอยทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมหลงเหลือให้เห็นอยู่

คลองด่าน - คลองบางขุนเทียน - คลองสนามชัย กรุงเทพฯ

         เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯกับหัวเมืองใกล้เคียงต่างๆ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่โบราณ โดยเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าที่เรียกว่า คลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวงไปออกแม่น้ำท่าจีน

ความสำคัญของ แม่น้ำ ลำคลอง

         แม่น้ำลำคลองในอดีตนั้นมีบทบาทสำคัญมาก ตลอดสองฝั่งคลองเป็นที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของมนุษย์ ทำให้มีการใช้เส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำเป็นหลัก ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพื่อการเกษตร เป็นแหล่งผลิตอาหาร และยังเป็นแหล่งกำเนิดศิลปวัฒนธรรม ประเพณีทางน้ำมากมาย ประเพณีการแข่งเรือ ประเพณีลอยกระทง สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

         ปัจจุบันยังมีการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอยู่บ้าง เพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม คมนาคม แต่จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไทย ถนนกลายเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง ดังนั้นบ้านที่อยู่ติดน้ำจึงกลายเป็นหลังบ้านซึ่งลดความสำคัญลงไป การใช้น้ำจากระบบประปา การสร้างบ้านเรือนที่อิงไปกับเส้นทางถนนมากกว่าริมน้ำ การปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำ คู คลอง รวมถึงการถมพื้นที่ริมน้ำ ทำให้แหล่งน้ำต่างๆ กลายเป็นเพียงที่รองรับและระบายน้ำฝนและน้ำเสียเท่านั้น

ประชาชนมีส่วนอนุรักษ์รักษาคูคลองอย่างไร

         ถ้ามีความร่วมมือกันอนุรักษ์แม่น้ำ คู คลองอย่างจริงจัง จะได้ช่วยกันฟื้นฟูสภาพแวดล้อม แม่น้ำ คูคลองให้กลับมีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน เป็นสถานที่ระบายอากาศให้ชุมชน เพื่อสร้างภูมิทัศน์และรักษาพื้นที่ป่าริมน้ำไว้ด้วย เป็นการช่วยอนุรักษ์แหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตแต่โบราณซึ่งมีคุณค่าและมีเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน

         ประชาชนมีส่วนสำคัญในกรอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อม แม่น้ำ คู คลอง ด้วยการไม่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง มีการบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนและชุมชน ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำ คู คลอง ด้วยระบบบำบัดง่ายๆ การใช้ตะแกรงตักขยะ บ่อดักไขมัน หรือการใช้ระบบบ่อเกรอะ บ่อซึมหรือไม่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำ คู คลอง ทั้งหมดนี้ต้องร่วมมือกันสร้างวินัยให้เกิดขึ้น

แหล่งที่มา : https://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ

 

วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ, วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ หมายถึง, วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ คือ, วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ ความหมาย, วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu