ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

โรงเรียนชุมชน, โรงเรียนชุมชน หมายถึง, โรงเรียนชุมชน คือ, โรงเรียนชุมชน ความหมาย, โรงเรียนชุมชน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
โรงเรียนชุมชน

ความหมายของโรงเรียนชุมชน

                โรงเรียนชุมชนสามารถมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนโดยตรง ทั้งนี้เพราะนอกจากจะทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพแล้วยังเป็นโรงเรียนที่จัดขึ้นโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชุมชนเป็นใหญ่ มีการจัดบริการด้านต่าง ๆ ให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ เช่น ห้องสมุด โรงฝึกงาน หอประชุม ฯลฯ มีการสำรวจความต้องการและศึกษาปัญหาของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกด้าน

จุดมุ่งหมายของโรงเรียนชุมชน

                มีอยู่หลายประการด้วยกัน คือ

                1. เพื่อถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ดีให้แก่สมาชิกทุกคนในชุมชน โดยเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทั้งในด้านวิชาการและการประกอบอาชีพของคนในชุมชนนั้น

                2. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ร่วมมือกันในการพัฒนาชุมชนของตนและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ท้องถิ่น โดยการกระตุ้นให้มีการศึกษาและสำรวจชุมชน การวางแผนแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน ด้วยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานราชการและประชาชนในท้องถิ่น

                3. เพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้นโดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมด้านต่าง ๆ เช่น การฝึกอาชีพ การกระตุ้น ให้ประชาชนปฏิบัติตนตามหลักสุขอนามัย การให้ความรู้ด้านการเกษตร หัตถกรรม อุตสาหกรรมในครัวเรือน นันทนาการ เป็นต้น

                4. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนหลักการประชาธิปไตย ให้เด็กและผู้ใหญ่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโรงเรียนและท้องถิ่นของตน ให้ประชาชนมีความศรัทธาต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและนำหลักประชาธิปไตยมาใช้ในชีวิตประจำวันของตน

                5. เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำให้แก่ชุมชน โดยให้ครูได้พัฒนาความสามารถของตนร่วมกับผู้นำอื่น ๆ ในชุมชน เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ท้องถิ่น

                6. เพื่อนำบุคลากรและทรัพยากรที่มีอยู่ในโรงเรียนและชุมชน มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ในการพัฒนาชุมชน



ลักษณะสำคัญของโรงเรียนชุมชน

                การดำเนินงานของโรงเรียน โรงเรียนชุมชนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งครู อาจารย์ ผู้ปกครอง บุคลากรในชุมชน และตัวผู้เรียนเอง วิธีการดำเนินงานก็มักจะใช้กระบวนการประชาธิปไตย โดยการเลือกตั้งคณะกรรมการโรงเรียน ขึ้นมาจากบุคคลทุกฝ่ายในชุมชน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารงานของโรงเรียน มีการแบ่งงานกันทำตามความสามารถของแต่ละคน การตัดสินพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ของโรงเรียน ใช้วิธีการที่มีระบบและแบบแผน กล่าวคือ มีการตั้งจุดมุ่งหมายร่วมกัน วางแผนงานและจัดโครงการต่าง ๆ ร่วมกันช่วยกันดำเนินงานและสรุปผลหรือประเมินผลงานร่วมกัน เพื่อหาทางส่งเสริมและปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป นอกจากจะมีคณะกรรมการโรงเรียนเพื่อดำเนินงานด้านต่าง ๆ แล้ว อาจมีการจัดตั้งสมาคมครู-ผู้ปกครองขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนอีกด้วย

                หลักสูตร คณะกรรมการโรงเรียนซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนในท้องถิ่นจะร่วมกันพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนชุมชนให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของชุมชน เนื้อหาวิชา และกิจกรรมต่าง ๆ ต้องจัดให้สัมพันธ์กับแหล่งวิชา ทรัพยากรที่มีอยู่และสภาพแวดล้อมของชุมชนนั้น ส่วนใหญ่โรงเรียนชุมชนมักจะจัดประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพต่าง ๆ โดยการเชิญหัวหน้าหน่วยงานหรือฝ่ายบริหารของบริษัทและโรงงานต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตรด้านอาชีวะของโรงเรียน เพราะวิทยากรเหล่านี้จะทราบข้อเท็จจริงว่า ชุมชนต้องการผู้ที่มีฝีมือหรือทักษะในการทำงานด้านใดบ้าง นอกจากนี้โรงเรียนชุมชนที่เน้นด้านอาชีวศึกษา อาจจะเปิดหน่วยงานแนะแนวอาชีพให้กับผู้เรียน และมีหน่วยงานคอยติดตามประเมินผลผู้เรียนที่จบออกไปประกอบอาชีพอีกด้วย ในด้านการจัดรายวิชาต่าง ๆ ให้กับผู้เรียน จะมีการรวมวิชาทั้งหลายเข้าเป็นหมวดใหญ่ ๆ เช่น หน่วยวิชาหรือชุดวิชา โดยบูรณาการเข้าเป็นเรื่องเดียวกันเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ การเรียนการสอนก็ต้องเน้นประสบการณ์จริงโดยให้ผู้เรียนได้ลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้โดยการกระทำ คือมีการทดลองหรือการปฏิบัติควบคู่ไปกับการเรียนทฤษฎี เช่น การเรียนวิชาเกษตร ก็ต้องมีการสร้างเรือนเพาะชำ การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

                ครู ครูในโรงเรียนชุมชนนั้นจะต้องมีคุณลักษณะพิเศษหลายประการนอกเหนือจากความรู้ความสารถในทางวิชาการ เช่น ความเป็นผู้นำ สามารถร่วมมือและประสานงานกับบุคลากรฝ่ายต่าง ๆ ในชุมชนได้ มีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน มีความรักและศรัทธาต่อท้องถิ่นของตน มีความสนใจและรับผิดชอบต่อปัญหาของชุมชน รู้ถึงกลวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน รวมทั้งสารถติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการและองค์การเอกชนได้ดีสำหรับในด้านการเรียนการสอนนั้น นอกจากจะเป็นหน้าที่ของครูในโรงเรียนแล้ว บางครั้งอาจจะเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือชาวบ้านในท้องถิ่นที่มีความรู้ความชำนาญในด้านนั้น ๆ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้หรือฝึกฝนทักษะให้กับผู้เรียนได้

                กิจกรรมของโรงเรียน โรงเรียนชุมชนมีบทบาทและหน้าที่ครอบคลุมหลายด้าน กิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนประเภทนี้จึงมีทั้งกิจกรรมด้านวิชาการ การบริการ และการพัฒนา มีทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวกับนักเรียนและกิจกรรมเพื่อชุมชนส่วนรวม

                ในด้านกิจกรรมทางวิชาการนั้น มีทั้งการสอนอ่าน เขียน และเลขคณิต ให้กับเด็กเพื่อให้มีความรู้เบื้องต้นในการดำรงชีวิต การสอนวิชาชีพที่จำเป็นในท้องถิ่นแก่นักเรียน เช่นการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ กาเผยแพร่ความรู้และเทคนิคใหม่ ๆ ในการประกอบอาชีพให้ประชาชนในชุมชน การอบรมโภชนศึกษาให้แก่แม่บ้าน การให้ความรู้ด้านสุขาภิบาลและการอนามัย ความรู้ด้านการเมืองการปกครอง กฎหมายที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน รวมทั้งการจัดกิจกรรมให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

                ในด้านการบริการแก่ชุมชนนั้น โรงเรียนจะเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมาใช้บริการด้านอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ หรือบริเวณโรงเรียน เพื่อจัดกิจกรรมที่จำเป็นต่าง ๆ ได้ เช่น การใช้สนามกีฬาของโรงเรียนในการจัดแข่งขันกีฬาต่าง ๆ การใช้ห้องสมุดหรือหอประชุมของโรงเรียนในการประชุมชาวบ้านหรือแสดงการสาธิตและนิทรรศการต่าง ๆ การจัดโครงการอาหารกลางวันให้กับนักเรียนยากจน การออกวารสารหรือเอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารและความรู้ที่จำเป็นแก่คนในชุมชน การจัดรายการเพื่อการศึกษาทางวิทยุหรือโทรทัศน์ การติดต่อเจ้าหน้าที่มาให้การรักษาพยาบาล หรือควบคุมโรคติดต่อในชุมชน เป็นต้น

                สำหรับกิจกรรมด้านการพัฒนาชุมชนนั้น โรงเรียนสามารถทำได้หลายรูปแบบตั้งแต่การฝึกให้นักเรียนรู้จักบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนด้วยการทำความสะอาดถนนหนทางหรือสาธารณสถาน การประชุมปรึกษาหารือกับผู้ปกครองนักเรียน เพื่อปรับปรุงสวัสดิการต่าง ๆ ของชุมชน อาทิ เช่น บ่อน้ำสาธารณะ สถานีอนามัย สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การตั้งศูนย์อนามัยแม่และเด็ก การจัดตั้งสหกรณ์หรือกลุ่มอาชีพต่าง ๆ และถ้าหากมีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร งบประมาณ และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ทางโรงเรียนก็อาจจะร่วมมือกับประชาชนในการศึกษาและสำรวจชุมชน ทั้งในแง่ของปัญหาและความต้องการ เพื่อที่จะวางแผนพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาของชุมชนในระยะยาวได้

                จะเห็นได้ว่า การจัดโรงเรียนชุมชนเพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาท้องถิ่นดังที่กล่าวมานี้ สามารถพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้าได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย เป็นประชากรที่มีคุณภาพ รู้จักช่วยเหลือตนเองและร่วมมือกันพัฒนาท้องถิ่นของตนให้ดีขึ้น มีรายได้และมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น อันจะมีผลกระทบไปถึงการพัฒนาประเทศไทยส่วนรวมได้

โดย : คณิภา ธุระธรรม


โรงเรียนชุมชน, โรงเรียนชุมชน หมายถึง, โรงเรียนชุมชน คือ, โรงเรียนชุมชน ความหมาย, โรงเรียนชุมชน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu