ข้อคิดดีๆสำหรับการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกินกว่าหลายคนจะคาดคิด รวมไปถึงวิธีการเลือกเก็บสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการเอาตัวรอดและการเลือกเก็บสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจและความทรงจำ
1. น้ำที่ไหลมาท่วม มันไม่ได้น่ากลัวแบบหลายๆ พื้นที่ ที่ใกล้คันกั้นน้ำ (แล้วพัง)
ที่ไหลโฮก แบบน้ำป่าที่เราเคยเห็น
แต่มันค่อยๆ ไหลมาช้าๆ ช้าๆ แต่หนักแน่น มั่นคง
และเพิ่มความสูงขึ้นช้าๆ อย่างไม่ปราณี
คล้ายๆ กับตัวอะไรสักอย่าง ที่ค่อยๆ แผ่ขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เหมือนในหนังสัตว์ประหลาด
ที่จะบอกก็คือ ไอ้การที่น้ำขึ้นช้าๆ นั้น ข้อดีคือ
มันจะช่วยให้เรามีเวลาเก็บของมากขึ้นอีกหน่อย
แต่อีกแง่นึง ก็ทำให้เราชะล่าใจไปด้วยว่า
โอ๊ย.. น้ำคงไม่สูงมากหรอก ยกของขึ้นสูงแค่นี้คงพอ
แต่เมื่อเวลาผ่านไปๆ เราจะรู้ซึ้งว่า เราอาจยกของสูงไม่พอแล้ว
และพอน้ำเยอะ เราก็ลงไปลุยน้ำ ยกมันขึ้นไม่ได้อีกแล้ว
เพราะต้องกลั้นหายใจ ดำน้ำลงไปยกเอา
2. ในช่วงที่พอมีเวลาหลายชั่วโมงนั้น เราเลือกเก็บของที่ "หาใหม่ไม่ได้อีกแล้ว"
บางคนอาจจะเลือก ทีวี ตู้เย็น... ฯลฯ
อันนั้นก็สำคัญครับ แต่นาทีนั้น เราเลือกหยิบ "ภาพถ่าย" ที่มีความหมายของครอบครัว,
อัลบัมรูปภาพที่มีความหมายกับตัวเรา, ฟิล์มรูปถ่ายเก่าๆ ทั้งหมด ฯลฯ
ยกไว้ในที่สูงที่สุด ก่อนเพื่อน
เพราะ เมื่อมองไปรอบบ้าน ทุกอย่างเราหาใหม่ได้จริงๆ
แต่รูปถ่ายของพวกเรา (สมัยที่เป็นฟิล์ม) และบรรดารูปที่ฟิล์มหายไปหมดแล้ว
ถ้าเปียกน้ำ เสียหายไปหมด... เราจะไปหามาใหม่ ได้จากที่ไหน ?
3. อย่าลืมสำรองน้ำ ทั้งน้ำกิน และน้ำใช้ ไปใว้บนชั้นสอง ที่คาดว่าเราจะใช้หลบภัย
ตอนแรก เราคิดว่า น้ำท่วม ทำไมต้องกลัวขาดน้ำใช้ด้วย
แต่พอน้ำท่วมจริงๆ น้ำมันใช้ไม่ได้เลยครับ
ยิ่งในเมือง น้ำจะดำมาก บางทีมีคราบน้ำมันลอยมาบนผิวน้ำ
มีทั้งขยะจากถังขยะตามถนน ที่ถูกพัดพามา ฯลฯ
ดังนั้น สำรองทั้งน้ำกิน และน้ำใช้ไว้ (ตั้งแต่ตอนนี้ - ก่อนที่น้ำจะมาจริงๆ) ดีที่สุด
(หรือเตรียมสารส้ม เผื่อไว้แกว่งในน้ำ ในกรณีที่น้ำใช้หมดลงด้วยก็ดีครับ)
4. ในขณะที่ขนของขึ้นชั้นบนแล้ว ก็อย่าลืมจัดกระเป๋าอีกใบเตรียมไว้
สำหรับยังชีพและใส่ของสำคัญจริงๆ
เพื่อใช้ในกรณีที่บ้านชั้นบนเราอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องอพยพออกเร่งด่วน
เราจะได้ฉวยแค่กระเป๋าใบนั้นใบเดียว แล้วออกไปเลย
5. อย่าลืมเตรียม เทียน ไฟฉาย ไฟแชค ในกรณีที่พื้นที่นั้น จำเป็นต้องตัดกระแสไฟ
6. ถ้าน้ำมาสูงใกล้ปลั๊กไฟ รีบสับคัทเอาท์ ตัดไฟก่อนทันที
เพราะหากมัวแต่ห่วงของ แล้วถูกไฟดูดตาย
ของเหล่านั้น เราก็จะไม่ได้ใช้อีกต่อไป (ในชาตินี้)
7. อย่าลืมสัตว์เลี้ยงนะครับ
(ตอนลุยน้ำออกมา เห็นคนเค้าเอาปลาทอง ใสกระป๋อง ถือออกมาด้วย - ถ้าปล่อยไว้ ต่อให้เป็นปลา ก็อาจไม่รอด)
8. ตัดสินใจให้ดี ว่าเราจะอยู่ที่บ้าน หรืออพยพออกไป !!!
เพราะถ้าจะอพยพออกไป ให้ปิดบ้าน และรีบออกไป ในขณะที่เรายังลุยน้ำออกไปได้เอง
และในขณะที่รถใหญ่ๆ ของทางการ ยังลุยน้ำเข้ามารับออกไปได้
หากเรารอ ให้น้ำท่วมสูงจนเดินออกไปไม่ทันแล้ว
เราอาจต้องมุดน้ำ ว่ายน้ำออกไปเอง
(ซึ่งของในกระเป๋าฉุกเฉินที่เตรียมไว้ในข้อ 4 ก็ต้องเปียกหมดแน่นอน)
และถ้าน้ำสูงเกินจะลุยออกไปแล้ว
เราอาจต้องขอความช่วยเหลือจากเรือ
ซึ่งในนาทีนั้น ใครๆ ก็คงต้องการเรือกันทั้งสิ้น แล้วเมื่อไหร่เรือเหล่านั้นจะเห็น และเข้ามารับเรา .... ลำบากเพิ่มขึ้นกว่าตอนแรกๆ หลายเท่า
9. ถ้ามีโอกาส อย่าลืมถ่ายภาพบ้านเรา ที่น้ำท่วมไว้ด้วย (ให้ดี ควรให้เห็นบ้านเลขที่ด้วย)
เพราะหลังน้ำลด หากมีการช่วยเหลือจากทางรัฐบาล
เราจะได้มีหลักฐานไปใช้นะครับ
---
สุดท้าย ฝากสำหรับคนที่ห่วงของ กลัวขโมย อยากอยู่เฝ้าบ้าน
ถ้าวิกฤติจริงๆ ให้รักษาชีวิตไว้เถอะครับ
เพราะถ้าเราเป็นอะไรไป
ก็จะไม่เหลือของอะไรของเรา ที่ขโมยจะเอาไปจากเราได้อีกแล้ว
ขอขอบคุณ : https://www.facebook.com/MoviePaPai
เกาะติดข่าวน้ำท่วม ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม 2554 : https://news.sanook.com/thaiflood/