ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

นางกวัก, นางกวัก หมายถึง, นางกวัก คือ, นางกวัก ความหมาย, นางกวัก คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 2
นางกวัก

          "นางกวัก" นับเป็นรูปเคารพนับถือกันเป็นอย่างมาก มีรูปลักษณะสำคัญเป็นสตรีไทยสมัยโบราณ ผมยาวประบ่า ห่มผ้าสไบเฉียง นุ่งผ้ายกดอก ประกอบด้วยพาหุรัด ทองกร และสร้อยสังวาล นั่งพับเพียบเรียบร้อยอยู่บนแท่นทอง หัตถ์ขวายกงอขึ้นในลักษณะท่ากวักมือ หัตถ์ซ้ายส่วนมากจะถือถุงเงิน และจารึกอักขระขอม เป็นหัวใจพระสีวลี ผู้เป็นเอตทัคคะทางโชค ลาภคือ นะ ชา ลิ ติ เป็นต้น 

          อย่างไรก็ตาม เป็นที่กล่าวขานกันว่า "นางกวัก" สามารถดลบันดาลโชคลาภให้บังเกิดแก่ผู้กราบไหว้บูชา และทำมาค้าขึ้น ซื้อง่าย ขายคล่อง และมีเสน่ห์มหานิยมแก่ผู้พบเห็นอีกด้วย 

          โดยเฉพาะในมวลหมู่ผู้มีอาชีพค้าขายด้วยเชื่อว่านามของ "นางกวัก" มีความหมายในทางทำมาหากินคล่องเจริญก้าวหน้า ตามร้านค้าจึงพบเห็นรูปนางกวักบนหิ้งบูชา หรือแม้กระทั่งรถเข็นค้าขายในตะกร้าเก็บสตางค์ หรือมุมเล็กๆ ต้องมีรูปนางกวักอยู่ด้วยเสมอ 

          นอกจากนี้แล้วนามของ"นางกวัก" มีนัยเป็นการ "กวัก" เรียกผู้คนมาอุดหนุนร้านค้า รูป"นางกวัก" จึงมีพระเกจิอาจารย์นิยมสร้างขึ้นมากมายหลายสำนัก

          "การสร้างนางกวัก มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งเก่าและใหม่ ท่านที่ปรารถนาอยากจะได้นางกวักไว้บูชาเพื่อให้การค้าขายเจริญรุ่งเรือง ก็ลองไปดูตามวัดวาอารามต่างๆ จะนิยมสร้างกันมาก ส่วนราคาถ้าเก่าหายากก็แพง ถ้าใหม่ก็ไม่แพง หรือบางท่านไปซื้อตามร้านเครื่องสังฆภัณฑ์ และนำไปให้พระเกจิอาจารย์ที่นับถือ อธิษฐานจิตปลุกเสก พุทธคุณก็เหมือนกัน" 

ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต



ตำนาน ธิดา ปู่เจ้าเขาเขียว

          ธิดาของ "ปู่เจ้าเขาเขียว" ส่วนอีกตำนานหนึ่งซึ่งเป็นของทางฟากไทยยังมีกล่าวถึงว่า มีความสืบเนื่องมาจากเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนพระรามออกตามหานางสีดา

          พระรามได้พบกับท้าวอุณาราชพญายักษ์เจ้านครสิงขร พระรามจึงแผลงศรเอาต้นกกเป็นศรมาถูกยอดอกท้าวอุณาราช คนทั้งหลายจึงเรียกกันว่า ท้าวกกขนาก 

          พระรามได้สาปให้ศรตรึงท้าวอุณาราชอยู่ภายในถ้ำเขาวงพระจันทร์ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของจ.ลพบุรี แล้วยังสาปสำทับไว้ว่า ท้าวกกขนากจะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในถ้ำเขาวงพระจันทร์จนกระทั่งถึงศาสนาพระศรีอาริย์ 

          นางประจันทร์ธิดาของท้าวอุณาราช ทราบเรื่องก็เข้ามาเฝ้าปฏิบัติเป็นเพื่อนบิดาทั้งยังเอาใยบัวมาทอทำเป็นจีวร เตรียมไว้ถวายเมื่อถึงคราวพระศรีอาริย์เสด็จมา เป็นการสร้างกุศลอุทิศให้บิดา 

          ขณะนั้นชาวเมืองต่างเกรงกลัวท้าวอุณาราชหรือท้าวกกขนาก จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอาละวาด เห็นนางประจันทร์เอาน้ำส้มสายชูไปหล่อที่ศรก็พากันขับไล่นางประจันทร์ พร้อมกับกลั่นแกล้งด้วยนานาประการ 

          ความได้ทราบไปถึง"ปู่เจ้าเขาเขียว" ผู้เป็นสหายของท้าวอุณาราชจึงส่งธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งมีรูปโฉมงดงามเป็นที่สุด เป็นที่แสนเสน่หาแก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในแผ่นดิน มาเป็นเพื่อนนางประจันทร์ เพื่อนางประจันทร์จะได้เสื่อมคลายความเศร้าโศกลงบ้าง

          ปรากฏว่านับแต่ธิดาของปู่เจ้าเขาเขียวมาอยู่เป็นเพื่อนนางประจันทร์แล้ว ประชาชนที่เคยเกลียดชังนางประจันทร์มาแต่ก่อนกลับใจเป็นรักใคร่ นำของกำนัลต่างๆ มาให้นางประจันทร์เป็นบรรณาการอยู่เสมอไม่ขาด 

          แม้การเดินทางจะแสนทุรกันดารเพียงไร ประชาชนเหล่านั้นก็หาย่อท้อไม่พยายามเดินทางมาด้วยความรัก และเมตตาต่อนางประจันทร์เป็นที่ยิ่งมุ่งหน้ามาทำบุญกุศลกันอย่างคับคั่งมากมาย ความเกลียดชังที่ท่วมท้นเป็นอันเสื่อมสลายไปสิ้น 

          ด้วยเหตุนี้ นางประจันทร์จึงตั้งชื่อให้ธิดาของปู่เจ้าเขาเขียวว่า "นางกวัก" ด้วยคุณงามความดีอันมหาศาลนี้สัตบุรุษุทั้งหลาย จึงได้ให้พระเกจิอาจารย์ผู้ขลังทางเวทมนตร์สร้างรูป "แม่นางกวัก" ขึ้นไว้เป็นที่สักการบูชา เพื่อผลทางมหานิยมในการค้าขาย

ที่มา หนังสือพิมพ์คมชัดลึก




ตำนานแม่นางกวัก

          ตามประวัติพุทธสาวกในสมัยพุทธกาลที่เมืองมิจฉิกาสีณฑนคร อยู่ไม่ไกลนักจากเมืองสาวัตถีมีครอบครัวหนึ่ง ประกอบอาชีพซื้อขายสินค้าต่างๆ เลี้ยงชีพสองสามีภรรยามีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ "สุภาวดี" ต่อมาสุจิตตพราหมณ์ผู้เป็นพ่อ ได้ขยายกิจการซื้อเกวียนมา ๑ เล่ม นำสินค้าไปเร่ขายในต่างถิ่น บางครั้งบุตรสาวขออนุญาตเดินทางไปด้วยเพื่อเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ 

          การไปค้าขายกับบิดานี่เอง ณ จุดพักขายสินค้า ทำให้สุภาวดี ได้มีโอกาสพบกับ "พระกัสสปเถรเจ้า" เป็นอริยสงฆ์แสดงธรรม

          หลังจากสุภาวดีฟังธรรมเทศนาอย่างตั้งใจแล้ว พระกัสสปเถรเจ้ากำหนดจิตเป็นอำนาจจิตพระอรหันต์ ประสิทธิประสาทพรให้สุภาวดีและครอบครัว  โดยได้ตั้งกุศลจิตประสาทพรเช่นนี้ทุกครั้งที่สุภาวดีมีโอกาสไปฟังจนจบอำลากลับ 

          เมื่อสุภาวดีติดตามบิดาไปค้าขายยังเมืองอื่น ด้วยกุศลบารมีบันดาลให้สุภาวดีมีโอกาสฟังธรรมพระอริยสงฆ์อีกท่านหนึ่งนามว่า "พระสิวลีเถรเจ้า" ในถิ่นที่บิดานำสินค้าไปขายการได้ฟังธรรมอย่างตั้งใจ สุภาวดีจึงมีความรู้แตกฉานในหลักธรรมต่างๆเป็นอันมาก 

          พระสิวลี เป็นผู้มีชีวิตอัศจรรย์กว่าพระสงฆ์อื่น คือ ท่านอยู่ในครรภ์มารดานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน จึงคลอดออกมา พร้อมด้วยวาสนา บารมี ที่ติดกับวิญญาณธาตุของท่านท่านจึงเป็นผู้มีลาภสักการบูชามาหาท่านตลอด เมื่อถึงคราวจำเป็นและต้องการ 

          ทุกครั้งที่สุภาวดีได้ฟังธรรมและลากลับ พระสิวลีเถรเจ้าได้กำหนดกุศลจิตประสาทพรให้สุภาวดีและครอบครัว เช่นเดียวกัน จิตของสุภาวดีจึงได้รับประสาทพรจากพระอรหันต์ถึง๒ องค์ ส่งผลให้บิดาทำการค้าได้กำไรไม่เคยขาดทุน

          บิดารู้ว่า สุภาวดีคือผู้ที่เป็นสิริมงคลที่แท้จริง เป็นที่ไหลมาแห่งทรัพย์สมบัติของครอบครัวเวลาผ่านไปไม่นาน ครอบครัวร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีมีเงินทอง และกองเกวียนสินค้ามากมาย เทียบได้กับธนัญชัยเศรษฐี บิดาของวิสาขาแห่งแคว้นโกศล 

          เมื่อร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีแล้ว บิดาของสุภาวดีได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าปฏิบัติธรรมด้วยความศรัทธา  พร้อมทั้งใช้ทรัพย์สินที่ได้มาจากบุญบารมีของลูกสาวนั้น บำรุงศาสนา เช่น สร้างอุทยานแห่งหนึ่งแล้วยกถวายเป็นที่พักแก่พระภิกษุสงฆ์จากทั่วทุกทิศได้พัก พร้อมทั้งสร้างวิหารแล้วยกให้เป็นของวัด ถวายปัจจัยแก่พระสงฆ์อย่างสม่ำเสมอ 

          เมื่อนำสินค้าไปขายต่างเมืองก็ถามพระภิกษุ ภิกษุณี และประชาชนรวมถึงคนที่นับถือศาสนาอื่น ที่มีกิจธุระไปยังเมืองนั้นๆ บ้างก็จัดหาพาหนะไปส่งช่วยเหลือคนตลอด

          ผู้คนต่างรับรู้เรื่องราวและบารมีของสุภาวดี ที่เป็นที่มาแห่งความร่ำรวยก่อโชคลาภทางการค้าขาย ทั้งเป็นผู้มีศีลธรรม และคุณธรรม แม้เมื่อสุภาวดีตายไปแล้ว ความมีอิทธิฤทธิ์ในทางโชคลาภและการค้า ก็เล่าสืบต่อกันมาถึงคนรุ่นหลัง มีผู้นับถือมากมายถึงกับปั้นรูปสุภาวดีไว้บูชา ขอให้การค้ารุ่งเรืองและความเชื่อดังกล่าวนี้ก็แพร่หลายเข้ามายังสุวรรณภูมิ จากการเผยแพร่ของพราหมณ์ 



คาถาบูชาแม่นางกวัก

คาถาบูชาแม่นางกวัก (ดีทางด้านค้าขาย เมตตา มหานิยม) ว่านะโม ๓ จบ แล้วกล่าวดังนี้ โอมปู่เจ้าเขาเขียวมีลูกสาวคนเดียว ชื่อว่าแม่นางกวัก หญิงเห็นหญิงรัก ชายเห็นชายรัก อยู่ทุกถ้วนหน้า
เอหิมามะมะ อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ เอหิมามะมะ
จะค้าขายก็ขอให้เป็นเศรษฐี หนึ่งปีให้เป็นพ่อค้าสำเภาทอง
จะค้าเงินขอให้เงินเข้ามากอง จะค้าทองขอให้ไหลมาเทมาเต็มบ้านเต็มเรือน
จะค้าขายสิ่งหนึ่งประการใด ขอให้ซื้อง่ายขายคล่อง ขอให้ซื้อง่ายขายดี ขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี

อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ เอหิมามะมะ นะมะอะอุ นะชาลีติ อิกะวิติ พุทธะสังมิ ทุสะมะนิ อิธะคะมะ จะพะกะสะ นาสังสิโม สุมะโมโล นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ นะเมตตา โมขายดี พุทธไม่ต่อ ธาซื้อดี ยะใจดี มิใจอ่อน รักพุทโธ ปฏิรูปัง สัมปะฏิจฉามิ เพี้ยง สิทธิโภคา สิทธิพะลา สิทธิจะมหาเดชา นะชาลีติ เอหิจงมา พุทธะสังมิ นิมามะมามา

มาช่วยกันค้า มาช่วยกันขาย กวักเอาเงินมา กวักเอาทองมา กวักเอาโชคลาภ แก้วแหวนเงินทองข้าวของ หน้าที่การงาน ผู้คน ชื่อเสียงเกียรติยศ ข้าทาสหญิงชายมา

มาด้วยนะโมพุทธายะ ปฏิรูปัง สัมปะฏิจฉามิ เพี้ยง พุทธังขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ธัมมังขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี สังฆังขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เตชะสุเนมะภูจะนาวิเวอิติ นะเยปะรังยุตเต

ขอจงนำเอาโชคลาภ แก้วแหวนเงินทองข้าวของ มาสู่ในสถานที่นี้ด้วย เทอญ

พุทธังรักษา ธัมมังรักษา สังฆังรักษา
พุทธังคุ้ม ธัมมังคุ้ม สังฆังคุ้ม
เอหิพุทธานุภาเวนะ เอหิธัมมานุภาเวนะ เอหิสังฆานุภาเวนะ
อายุ วรรโณ สุขัง


นางกวัก, นางกวัก หมายถึง, นางกวัก คือ, นางกวัก ความหมาย, นางกวัก คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu