ครูเอื้อ สุนทรสนาน (21 มกราคม 2453 - 1 เมษายน 2524) เป็นหนึ่งในศิลปินที่โด่งดังมากที่สุด แต่ส่วนมากจะรู้จักกันในชื่อ สุนทราภรณ์ ได้แต่งเพลงร่วมกับแก้ว อัจฉริยกุล และท่านอื่นๆ ไว้มากมายจนนับไม่ถ้วน ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 1,000 เพลง มีเพลงที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น เพลงวันลอยกระทง เพลงวันสงกรานต์ เพลงนางฟ้าจำแลง เป็นต้น นอกจากนั้นยังถือได้ว่าท่านเป็นหนึ่งในท่านที่บุกเบิกเพลงไทยสากล
เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมที่จะเสนอ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีครูเอื้อ เพื่อให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลกอีกด้วย
ตลอดระยะเวลา 42 ปีของการทำงาน ครูเอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติครูเอื้อเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนัก และอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2521 ก็เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มการรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ
ระหว่างที่ป่วยอยู่นั้น คุณเอื้อได้รับพระราชทานดอกไม้เยี่ยมถึง 2 ครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ในช่วงปี พ.ศ. 2523 คูรเอื้อได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพลงที่ร้องถวายคือ เพลงพรานทะเล
ตั้งแต่เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา อาการของครูเอื้อก็ได้ทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 ท่านก็ได้เสียชีวิตลง รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน
ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่างผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี พ.ศ. 2523-2524 แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 โดยมี คุณอดิพร เสนะวงศ์ (สุนทรสนาน) บุตรีเป็นผู้รับแทน
การทำงาน ครูเอื้อ สุนทรสนาน
ครูเอื้อได้นำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน เมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยทางโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นผู้จัด คุณสุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกับคุณเอื้อว่าควรจะใช้ชื่อวงดนตรีเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้นคูรเอื้อตกหลุมรักคุณอาภรณ์ จึงได้จังหวะนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า สุนทราภรณ์
ครูเอื้อรับราชการในกรมโฆษณาการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาสัมพันธ์ โดยดำเนินตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศแต่เพียงตำแหน่งเดียวจนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. 2514 และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนออกจากงานในปี พ.ศ. 2516 และในปีนี้ คุณเอื้อเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งใน สมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516
ถึงแม้ครูเอื้อจะไม่ได้รับความก้าวหน้าในวงราชการเท่าที่ควร แต่ครูเอื้อมีสิ่งสูงสุดที่บำรุงจิตใจอยู่ตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ครูเอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีก็คือ วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512
วงดนตรีสุนทราภรณ์
วงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นการนำชื่อมาจากนามสกุล ของเอื้อ สุนทรสนาน ผสมกับชื่อของคนรักของเอื้อ คือ คุณอาภรณ์ (สุนทรสนาน)