รัฐบาลได้ทำการส่งเสริมทางด้านการส่งเสริมทางด้านกีฬาไทยด้วยดีเสมอมา เพราะตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการเล่นกีฬา นอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแล้ว ยังทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง การกีฬายังเป็นเครื่องช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยปรับปรุงในด้านความคิดและอุปนิสัยให้ประชาชนในชาติ เป็นผู้มีความเสียสละ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และมีความสามัคคีต่อกัน
ความเป็นมาของวันกีฬาแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นตัวแทนของนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าร่วม การแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ และทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองในการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ทางการกีฬาของประเทศไทย นอกเหนือจากกีฬาเรือใบแล้ว แบดบินตันก็เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดปรานมากเช่นกัน ในหอประชุมวังจิตรลดาฯ ได้ปรับแต่งเป็นสนามแบดมินตันมาตรฐาน ส่วนมากพระองค์จะทรงแบดมินตันในตอนเย็นและวันศุกร์ และเช้าวันอาทิตย์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางการกีฬานี้ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่า พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริงและทรงสนับสนุนกีฬาจนเป็นที่ปรากฏชัด
ดังนั้นในการประชุมใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลครั้งที่ 29 ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยมีนายฮวน อันโตนีโอ ซามาร้านซ์ ประธานคณะโอลิมปิกสากล เป็นประธานการประชุมพร้อมทั้งสมาชิกเข้าร่วมประชุมอีก 87 ประเทศ ได้มีมติเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิกสากล คือ "อิสรยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด" (ทอง) แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ณ ศาลาดุสิตาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯถวายเหรียญโอลิมปิกชั้นสูง สมควรที่นักกีฬาและประชาชนชาวไทยควรที่จะเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท อันจะเป็นโอกาสให้สามารถนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติและวงศ์ตระกูล
เพื่อเป็นการระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นนักกีฬาตัวแทนของชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าความสำคัญของการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงได้มีมตินำเสนอคณะรัฐมนตรีลงความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2529 กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวัน "วันกีฬาแห่งชาติ"
ประวัติกีฬาแห่งชาติ
“กีฬาแห่งชาติ” ได้วิวัฒนาการมาจาก “กีฬาเขตแห่งประเทศไทย” โดยได้ริเริ่มขึ้นพร้อมกับการ ก่อตั้ง “องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย” ซึ่งได้วางโครงการที่จะขยายการส่งเสริมกีฬาออกไปให้ทั่วราชอาณาจักรด้วยการ จัดการแข่งขันระหว่างจังหวัดภายในภาคต่างๆ ของประเทศขึ้นพร้อมกัน โดยการแข่งขันครั้งแรก แบ่งกลุ่มนักกีฬาออกเป็น 5 เขตจากภูมิภาคต่างๆ คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันกีฬาแห่งชาติ
1. เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในฐานะที่เคยเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย โดยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2510 และทรงได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันแรือใบประเภท โอ.เค.
2. เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยเห็นความสำคัญและคุณค่าของการกีฬา การออกกำลังกาย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬามากยิ่งขึ้น
3. เพื่อชักจูงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกีฬาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเล่นกีฬา และให้การสนับสนุนการกีฬา
4. เพื่อเป็นการจัดหาทุนในการส่งเสริมและดำเนินกิจกรรมกีฬาของชาติ
5. เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมการคืนสู่เหย้าของนักกีฬาในอดีตและปัจจุบันงานวันกีฬาแห่งชาติ ซึ่งจัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่เหล่านักกีฬา และเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติ
1. จัดการให้มีกิจกรรมเทิดพระเกียรติตามหน่วยสถานที่ราชการ โรงเรียน และชุมชนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
2. จัดให้มีการส่งเสริมการกีฬาไทย รวมทั้งนักกีฬา โคชผู้ฝึกสอน เพื่อให้กีฬาของไทยเจริญก้าวหน้า
ที่มา https://irrigation.rid.go.th