เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่รวม 4,017,087 ไร่ มีความต่อเนื่องและเป็นแกนกลางของผืนป่าตะวันตก ครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตาก เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายหลักของประเทศหลายสาย เช่น แม่กลอง สาละวิน สะแกกรัง ท่าจีน และบางส่วนของเจ้าพระยา และ เป็นผืนป่าธรรมชาติที่รวบรวมไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ มีความงดงามตามธรรมชาติและมีความสมบูรณ์ของระบบชีวาลัย
ด้วยคุณลักษณะที่โดดเด่นของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำรายงานรวบรวมความสำคัญของป่าผืนนี้ เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้พิจารณาประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เพื่อเชิดชูและร่วมกันดูแลรักษาให้เกิดความยั่งยืน ในคราวประชุมเพื่อคัดเลือกแหล่งมรดกโลก เมื่อ วันที่ 9 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ณ ประเทศตูนีเซีย และได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการดังกล่าว ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ รวม 3 ประการ คือ
(1 ) มีความโดดเด่นเป็นเลิศในด้านวิวัฒนาการทางชีวภาพ ชีวาลัย เป็นพิเศษของโลก เพราะประกอบด้วยระบบนิเวศ ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภูมิภาคซุนเดอิก (Sundaic) ภูมิภาคอินโด - เบอร์มิส (Indo - Burmese) ภูมิภาคอินโด - ไชนิส (Indo - Chinese) และภูมิภาคไซโน - หิมาลายัน (Sino - Himalayan)
(2) เป็นแหล่งธรรมชาติพิเศษ ที่เป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญหลายสายของประเทศ มีป่าไม้นานาชนิด ประกอบด้วย เทือกเขา เนินเขา ตลอดจนทุ่งหญ้า ลักษณะทั้งหมดจึงมีคุณค่าในด้านวิทยาศาสตร์ มีความงดงาม ทางธรรมชาติที่หาได้ยากแห่งหนึ่งของโลก
(3) เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่หายาก หรืออยู่ในภาวะที่อันตรายแต่ยังสามารถดำรงพันธุ์อยู่ได้ ซึ่งรวมถึงเป็นระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
ต่อมา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2538 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ กำหนดให้ วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร มรดกโลก เพื่อให้ประชาชนตระหนักในความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว และร่วมมือร่วมใจ ปกป้องรักษา เพื่อการส่งมอบให้อนุชนรุ่นต่อไปได้อย่างสมบูรณ์
ป่าห้วยขาแข้ง
พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary) เป็นแหล่งของพรรณไม้ถึง 3 ภูมิพฤกษ์ คือ ภูมิพฤกษ์ Indo-China ภูมิพฤกษ์ Indo-Malaya และภูมิพฤกษ์ Indo-Burma
สังคมพืชเด่นของพื้นที่ ได้แก่ สังคมป่าผลัดใบ สังคมป่าดงดิบเขา สังคมป่าดงดิบชื้น สังคมป่าดงดิบแล้ง สังคมป่าเต็งรัง และสังคมป่าไผ่ นอกจากสังคมหลักดังกล่าวแล้วยังมีสังคมพืชย่อยที่น่าสนใจอีกหลายชนิด เช่น สังคมผาหิน กลุ่มไม้สนเขา สังคมดอนทรายริมลำน้ำ และสังคมป่าแคระที่ผ่านการทำลายมาก่อน ลักษณะที่สำคัญของแต่ละสังคมพืช มีดังนี้
สังคมป่าดงดิบเขา (Hill Evergreen Forest Community) เป็นสังคมพืชที่กระจายในระดับสูง พบในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 1,000 - 1,554 เมตร จากระดับน้ำทะเล เช่น บริเวณยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง บริเวณเทือกเขาเขียว เทือกเขาใหญ่และเทือกเขาน้ำเย็น ป่าชนิดนี้มีอยู่ประมาณ 235,156.25 ไร่ (376.25 ตารางกิโลเมตร) ปัจจัยอันเป็นตัวกำหนดสังคม (Limiting Factors) ได้แก่ ความหนาวเย็นและความชื้น อันเนื่องมาจากความสูง อุณหภูมิจึงค่อนข้างต่ำตลอดปี โดยปกติอุณหภูมิจะไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส
โครงสร้างทางด้านที่ตั้งของป่าดงดิบเขา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะแปรผันไปตามลักษณะภูมิประเทศ บริเวณยอดเขาสูงที่รับลมจัด มักมีไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ห่าง ๆ กัน ความสูงไม่เกิน 10 เมตร บริเวณพื้นดินมีหญ้าและพืชล้มลุกปกคลุมหนาแน่น บริเวณหุบเขาที่มีดินลึก โครงสร้างประกอบด้วยสี่ชั้น ได้แก่ ชั้นเรือนยอด มีความสูงถึง 35 เมตร พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ วงศ์ไม้ก่อ เช่น ก่อเดือย ก่อหนาม ก่อนก ก่อใบเลื่อม ฯ เรือนยอดชั้นรองสูงประมาณ 15 - 20 เมตร พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะนาวควาย เหมือดเขา พลองดง ปอขี้แรด ฯ ชั้นไม้พุ่ม มีความสูงไม่เกิน 7 เมตร และชั้นคลุมดิน มีความสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งการแยกชั้นจะเด่นชัดเฉพาะชั้นคลุมดินเท่านั้น
สังคมป่าดงดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) พบกระจายในระดับเดียวกันกับป่าดงดิบชื้น แต่ขึ้นอยู่ในดินที่มีความชื้นน้อยกว่า เช่น บนสันเขาหรือหุบห้วยแห้งที่มีน้ำเฉพาะฤดูฝน ดินค่อนข้างลึกเป็นดินร่วนปนทราย ทรายร่วน หรือดินทรายร่วนปนดินเหนียว พบในระดับสูง 400 - 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่ทั้งหมดของป่าชนิดนี้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีอยู่ประมาณ 88,593.75 ไร่ (461.75 ตารางกิโลเมตร) เทือกเขาด้านตะวันออก ด้านเหนือ และด้านตะวันตกของพื้นที่ ดินมีความเป็นกรดระดับปานกลาง
ลักษณะโครงสร้างของสังคมประกอบด้วย เรือนยอด มีความสูงประมาณ 40 เมตร เรือนยอดชั้นรองแบ่งแยกได้ไม่เด่นชัดนัก มีไม้ในป่าผลัดใบขึ้นผสมอยู่ค่อนข้างมาก ไม้หลักที่ใช้ในการจำแนกในสังคมนี้ ได้แก่ ยางแดง สะเดาปัก ยางโอน บางพื้นที่อาจพบยางนา และตะเคียนทอง ขึ้นผสมอยู่ด้วย ไม้ชั้นรองที่ใช้ในการจำแนก ได้แก่ ค้างคาวดำ กัดลิ้น ลำไยป่า กระเบากลัก มะไฟป่า สะทิม และคอแลน ในบริเวณที่โล่งอันเนื่องมาจากไม้ล้ม จะพบกล้วยป่าขึ้นอย่างหนาแน่นผสมกับหญ้าและเฟิร์น โดยเฉพาะหญ้าลิเภา บริเวณริมลำห้วยชิดขอบน้ำจะมีผักกูด ผักหนาม และตะไคร่น้ำ ขึ้นค่อนข้างหนาแน่น
สังคมป่าผสมผลัดใบ (Mixed Deciduous Forest) มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 731,937.50 ไร่ พบในบริเวณสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 450 - 900 เมตร ปัจจัยกำหนดที่สำคัญ ได้แก่ ความลึกของดิน ช่วงความแห้งแล้งและระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล พืชพรรณไม้เกือบทั้งหมดในสังคมจะปลดใบทิ้งในช่วงเดือนธันวาคม และออกใบใหม่ในช่วงเดือนเมษายน พรรณไม้เด่น ได้แก่ มะค่าโมง สมพง อินทนิลบก ก้านเหลือง เสลา คูณ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีป่าไผ่ขึ้นผสมอยู่ด้วย
เนื่องจากป่าชนิดนี้ค่อนข้างโปร่ง จึงมีเถาวัลย์ขนาดใหญ่ขึ้นผสมอยู่มาก ในฤดูฝนผืนป่าจะหนาแน่นไปด้วยลูกไม้และพืชล้มลุกผสมกับไม้พุ่มเตี้ย มีหญ้าปรากฏทั่วไปอย่างน้อย 11 ชนิด
สังคมป่าเต็งรัง (Deciduous Dipterocarp Forest) ป่าชนิดนี้มีอยู่ประมาณ 214,531.25 ไร่ (343.25 ตารางกิโลเมตร) พบในพื้นที่แห้งแล้ง ดินเก็บความชื้นได้ไม่นาน จึงปรากฏในที่ดินทรายจัด ดินตื้นและมีหินผสมอยู่มาก มีปรากฏในระดับความสูงตั้งแต่ 200 - 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ไม้เด่นของสังคม ได้แก่ เต็ง รัง ยางเหียง ยางพลวง ยางกราด พุดป่า ตาลกรด และผักหวาน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีสังคมพืชในชั้นของการทดแทนที่ปรากฏอยู่หลายสังคมด้วยกัน เช่น สังคมผาหิน สังคมไร่ร้าง และสังคมดอนทรายริมลำห้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก www.huaikhakhaeng.net