อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอเมือง อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอขลุง และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย และมีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ คือ น้ำตกพลิ้วที่สวยงาม มีน้ำตกตลอดปี เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดจันทบุรีประมาณ 14 กิโลเมตร ถนนลาดยางตลอดสายทำให้สะดวกสบายในการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีเนื้อที่ประมาณ 134.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 84,062.50 ไร่
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าเขาสระบาป จังหวัดจันทบุรี และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในขั้นแรกกรมป่าไม้ได้กำหนดพื้นที่ที่ดินป่าน้ำตกพลิ้ว-เขาสระบาป ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2505 ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช 2481 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2504 และในปี พ.ศ. 2515 ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงบริเวณน้ำตกพลิ้ว จัดตั้งเป็นวนอุทยานน้ำตกพลิ้ว อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานป่าไม้จังหวัดจันทบุรี
ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2517 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2517 ได้มีมติให้รีบดำเนินการประกาศพื้นที่ป่าที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 เป็นอุทยานแห่งชาติโดยเร็ว และจังหวัดจันทบุรีได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ จบ.09/1401 ลงวันที่ 31 มกราคม 2517 ขอให้กรมป่าไม้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำวนอุทยานน้ำตกพลิ้ว เพื่อปรับปรุงให้เป็นไปตามหลักการจัดการวนอุทยาน ประกอบกับในปี 2517 กองอุทยานแห่งชาติมีแผนงานจัดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ดังนั้นในเดือนมีนาคม 2517 กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 360/2517 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2517 ให้นายสินไชย บูรณะเรข นักวิชาการป่าไม้ตรี และนายประชุม ตัณยะบุตร พนักงานโครงการชั้น 2 ไปทำการสำรวจหาข้อมูลบริเวณป่าน้ำตกพลิ้ว เขาสระบาป ในท้องที่จังหวัดจันทบุรี ปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นต้นน้ำลำธาร เช่น น้ำตก หน้าผา ถ้ำ ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0708(อส)/7 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2517
กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในคราวประชุมครั้งที่ 6/2517 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2517 เห็นชอบให้กำหนดที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำตกพลิ้ว-เขาสระบาป ในท้องที่ตำบลพลับพลา ตำบลคลองนารายณ์ ตำบลคมบาง อำเภอเมืองจันทบุรี ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม และตำบลมาบไพ ตำบลวังสรรพรส ตำบลตรอกนอง ตำบลซึ้ง ตำบลตะปอน ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 87 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2518 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 11 ของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า " อุทยานแห่งชาติเขาสระบาป "
ต่อมานายผจญ ธนมิตรามณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสระบาป ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0708 (สบ)/พิเศษ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2525 ขอเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติเขาสระบาปเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เนื่องจากน้ำตกพลิ้วเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติเป็นจุดเด่นของอุทยานแห่งชาติ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและประชาชนโดยทั่วไปเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2525 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2525 เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อเป็น " อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว "
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน อากาศจะค่อนข้างร้อน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกชุกปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 3,000 มม./ปี และระหว่างเดือนพฤศจิกายน- กุมภาพันธ์ อากาศจะเย็นสบายที่สุด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 26 องศาเซลเซียส
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าดงดิบชื้นที่สมบูรณ์ จัดอยู่ในเขตพฤกษศาสตร์อินโดไชน่าเนื่องจากอิทธิพลของทะเล มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ พุงทะลาย เคี่ยมคะนอง กระบกกรัง พนอง ตะเคียนหิน ยางแดง กฤษณา ตาเสือ พะวา ชะมวง จิกดง ปออีเก้ง และขนุนป่า ฯลฯ พืชพื้นล่างขึ้นปกคลุมพื้นป่าอีกหลายชนิด เช่น หัสคุณ ฆ้อนตีหมา แก้มขาว หวายลิง กะพ้อ ระกำ เต่าร้าง ไผ่ซี้ เร่วป่า ปุดใหญ่ และกระทือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพืชอิงอาศัยหลายชนิดเกาะอยู่ตามลำต้นและกิ่งก้าน ได้แก่ ชายผ้าสีดา กระแตไต่ไม้ ข้าหลวงหลังลาย เกล็ดนาคราช และกล้วยไม้นานาชนิด เช่น กะเรกะร่อน เหลืองจันทบูร และเอื้องมัจฉา ไม้เถาเลื้อยที่พบ ได้แก่ พญาปล้องทอง เถาคัน พญาเท้าเอว แสลงพันเถา หวายกำพวน หวายขริง และหวายเล็ก ฯลฯ
เนื่องจากสภาพป่าของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วมีลักษณะเป็นผืนป่าธรรมชาติโดดเดี่ยวคล้ายป่าเกาะที่ถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนที่อยู่อาศัย ไม่มีผืนป่าธรรมชาติแห่งอื่นที่ต่อเนื่องหรือใกล้เคียง ประกอบกับพื้นที่มีขนาดไม่มากนัก ความหลากหลายของสัตว์ป่าในพื้นที่จึงมีน้อย ที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ เลียงผา หมูป่า อีเห็นข้างลาย ลิงกัง ชะนีมงกุฎ ลิ่นชวา อีเห็นข้างลาย กระแตเหนือ กระรอกแดง ค้างคาวเล็บกุด ค้างคาวปีกถุงต่อมคาง หนูฟานเหลือง เป็ดแดง ไก่ป่า นกหกเล็กปากแดง นกกระปูดใหญ่ นกเด้าลมหลังเทา นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาล นกขมิ้นน้อยสวน นกเขียวคราม นกปรอดทอง นกแซงแซวหางปลา นกกินแมลงอกเหลือง นกกระจิบสวน นกกางเขนดง นกกินปลีคอแดง นกสีชมพูสวน ตุ๊กแกป่าตะวันออก จิ้งจกหางแบน กิ้งก่าบินปีกสีส้ม จิ้งเหลนหลากหลาย ตะกวด งูลายสาบเขียวขวั้นดำ งูเขียวหัวจิ้งจกป่า คางคกบ้าน กบอ่อง เขียดตะปาด และอึ่งอ่างบ้านฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลาสร้อยขาว ปลากดหิน ปลาค้อ ปลาจิ้งจก ปลาพลวงหิน ปลากระทิง ปลาสร้อยลูกกล้วย เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มียอดเขาสลับซับซ้อนสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 20-924 เมตร ค่อยๆ ลาดลงทางทิศใต้ มีที่ราบแคบๆ ทั่วไปบริเวณไหล่เขา พื้นที่มีความลาดชันสูง จุดสูงสุดของพื้นที่อยู่ที่ยอดเขามาบหว้ากรอก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 924 เมตร ลักษณะทางธรณีวิทยาส่วนใหญ่เป็นหินอัคนีประเภทหินแกรนิต ในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อนที่ประกอบไปด้วยป่าดงดิบที่สมบูรณ์ ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยตาโบ คลองโป่งแรด คลองนารายณ์ คลองสระบาป คลองคมบาง คลองนาป่า คลองพลิ้ว คลองน้ำแห้ง คลองหนองเสม็ด คลองตะปอนน้อย คลองตะปอนใหญ่ คลองขลุง คลองเคล คลองตรอกนอง และคลองมะกอก กระจายอยู่รอบพื้นที่