ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หมายถึง, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือ, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ความหมาย, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

          สภาพทั่วๆ ไปของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่ด้านตะวันตกของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งสูงโดดเด่นขึ้นมาจากที่ราบภาคกลางแล้วก่อตัวเป็นแนวเขตของที่ราบสูงโคราช มีเขาร่มเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด 1,351 เมตร เขาแหลมสูง 1,326 เมตร เขาเขียวสูง 1,292 เมตร เขาสามยอดสูง 1,142 เมตร เขาฟ้าผ่าสูง 1,078 เมตร เขากำแพงสูง 875 เมตร เขาสมอปูนสูง 805 เมตร และเขาแก้วสูง 802 เมตร ซึ่งวัดความสูงจากระดับน้ำทะเลเป็นเกณฑ์ และยังประกอบด้วยทุ่งกว้างสลับกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ด้านทิศเหนือและตะวันออกพื้นที่จะลาดลง ทางทิศใต้และตะวันตกเป็นที่สูงชันไปเรื่อยๆ

          นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญถึง 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก อยู่ในพื้นที่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกษตรกรรมและระบบทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ แม่น้ำทั้ง 2 สายนี้ มาบรรจบกันที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กลายเป็นแม่น้ำบางปะกงแล้วไหลลงสู่อ่าวไทย แม่น้ำลำตะคองและแม่น้ำพระเพลิง อยู่ในพื้นที่ทางทิศเหนือ ไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบสูงโคราช ไปบรรจบกับแม่น้ำมูลซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคอีสานตอนล่างไหลลงสู่แม่น้ำโขง ห้วยมวกเหล็ก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งปีและให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปศุสัตว์ของภูมิภาคนี้ ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ที่อำเภอมวกเหล็ก



พืชพรรณและสัตว์ป่า

         สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แบ่งออกๆได้เป็น ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

           ป่าเบญจพรรณแล้ง ลักษณะของป่าชนิดนี้อยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งมีระดับความสูงระหว่าง 200-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ เช่น มะค่าโมง ประดู่ ตะแบก ตะเคียนหนู แดง นนทรี ซ้อ ปออีเก้ง สมอพิเภก ตะคล้ำ เป็นต้น พืชชั้นล่างมีไม้ไผ่และหญ้าต่างๆ รวมทั้งกล้วยไม้ด้วย ในฤดูแล้งป่าชนิดนี้จะมีไฟลุกลามเสมอ และตามพื้นป่าจะมีหินปูนผุดขึ้นอยู่ทั่วๆ ไป

          ป่าดงดิบแล้ง ลักษณะป่าชนิดนี้มีอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ราบลูกเนินในระดับความสูง 200-600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ไม้ชั้นบน ได้แก่ ยางนา พันจำ เคี่ยมคะนอง ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะแบก สมพง สองสลึง มะค่าโมง ปออีเก้ง สะตอ ซาก และคอแลน เป็นต้น ไม้ยืนต้นชั้นรองมี กะเบากลัก หลวงขี้อาย และกัดลิ้น เป็นต้น พืชจำพวกปาล์ม เช่น หมากลิง และลาน พืชชั้นล่างประกอบด้วยพืชจำพวกมะพร้าว นกคุ้ม พวกขิง ข่า กล้วยป่า และเตย เป็นต้น

          ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จะมีชนิดไม้คล้ายคลึงกับป่าดงดิบแล้ง เพียงแต่ว่าไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน และกระบาก โดยเฉพาะพื้นที่ถูกรบกวนจะพบ ชมพูป่าและกระทุ่มน้ำขึ้นอยู่ทั่วไป พรรณไม้ผลัดใบ เช่น ปออีเก้ง สมพง และกว้าว แทบจะไม่พบเลย บริเวณริมลำธารมักจะมีไผ่ลำใหญ่ๆ คือ ไผ่ลำมะลอกขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ป่าดิบชื้นบนที่สูงขึ้นไปจะมียางปายและยางควน นอกจากไม้ยางแล้วไม้ชั้นบนชนิดอื่นๆ ยังมี เคี่ยมคะนอง ปรก บรมือ จำปีป่า พะดง และทะโล้ ไม้ชั้นรอง ได้แก่ ก่อน้ำ ก่อรัก ก่อด่าง และก่อเดือย ขึ้นปะปนกัน

          ป่าดิบเขา ป่าชนิดนี้เกิดอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นบนภูเขาสูง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป สภาพป่าแตกต่างไปจากป่าดงดิบชื้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เลย พรรณไม้ที่พบเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น พญาไม้ มะขามป้อมดง ขุนไม้ และสนสามพันปี และไม้ก่อชนิดต่างๆ ที่พบขึ้นในป่าดงดิบชื้น นอกจากก่อน้ำและก่อต่างๆ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-900 เมตรเท่านั้น ตามเขาสูงจะพบต้นกำลังเสือโคร่งขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม้ชั้นรอง ได้แก่ เก็ดล้าน ส้มแปะ แกนมอ เพลาจังหัน และหว้า พืชชั้นล่าง ได้แก่ ต้างผา กำลังกาสาตัวผู้ กูด และกล้วยไม้ดิน

          ทุ่งหญ้าและป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นผลเสียเนื่องจากการทำไร่เลื่อนลอยในอดีต ก่อนมีการจัดตั้งป่าเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติได้มีราษฎรอาศัยอยู่และได้แผ้วถางป่าทำไร่ เมื่อมีการอพยพราษฎรลงไปสู่ที่ราบ บริเวณไร่ดังกล่าวถูกปล่อยทิ้ง ต่อมามีสภาพเป็นทุ่งหญ้าคาเสียส่วนใหญ่ บางแห่งมีหญ้าแขม หญ้าพง หญ้าขนตาช้างเลา และตองกง และยังมีกูดชนิดต่างๆ ขึ้นปะปนอยู่ด้วย เช่น โขนใหญ่ กูดปี้ด โขนผี กูดงอดแงด และกูดตีนกวาง

          เนื่องจากในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีการป้องกันไฟป่าเป็นอย่างดี พื้นที่ป่าหญ้าหรือป่าเหล่านี้จึงไม่ถูกรบกวนจากไฟป่าเลย ดังนั้น จึงมีพันธุ์ไม้เบิกนำจำนวนไม่น้อย แพร่พันธุ์กระจัดกระจายทั่วไป เช่น สอยดาว บรมือ ลำพูป่า เลี่ยน ปอหู ตลงแตบ ฯลฯ ปัจจุบันพื้นที่ป่าทุ่งหญ้าบางแห่งได้กลับฟื้นคืนสภาพเป็นป่าละเมาะบ้างแล้ว

          อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าชุกชุมมาก ในบางโอกาสขณะขับรถยนต์ไปตามถนน จะสามารถเห็นสัตว์ป่าเดินผ่านหรือออกหากินตามทุ่งหญ้า หรืออาจจะเห็นโขลงช้างออกหากินริมถนน ลูกช้างเล็กๆ ซนและน่ารักมาก บริเวณตั้งแต่ที่ชมวิวกิโลเมตรที่ 30 จนถึงปากทางเข้าหนองผักชี ตลอดจนโป่งต้นไทร ในปัจจุบันถ้าขับรถยนต์ขึ้นเขาใหญ่ทางด่านตรวจเนินหอมข้ามสะพานคลองสามสิบไปแล้ว สามารถเห็นโขลงช้างได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในตอนกลางคืนจากการศึกษาตามโครงการการอนุรักษ์ช้างป่า และการจัดการพื้นที่ป้องกัน (ELEPHANT CONSERVATION AND PROTECTED AREA MANAGMENT) โดย MR. ROBERT J. DOBIAS ภายใต้ความร่วมมือของ WWF และ IUCN ในปี พ.ศ.2527-2528 พบว่า มีจำนวนประมาณ 250 เชือก

          สัตว์ป่าที่สามารถพบได้บ่อยๆ และตามโอกาสอำนวย ได้แก่ เก้ง กวาง ตามทุ่งหญ้าทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังพบ เสือโคร่ง กระทิง เลียงผา หมี เม่น ชะนี พญากระรอก หมาไม้ ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า นกชนิดต่างๆ จำนวน 250 ชนิด จากจำนวนไม่น้อยกว่า 340 ชนิด ที่สำรวจพบอาศัยอยู่บริเวณป่าเขาใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารและที่อาศัยอย่างถาวร นกที่น่าสนใจและพบเห็นได้บ่อย ได้แก่ นกเงือก นกขุนทอง นกขุนแผน นกพญาไฟ นกแต้วแล้ว นกโพระดก นกแซงแซว นกเขา นกกระปูด ไก่ฟ้า และนกกินแมลงชนิดต่างๆ นกเงือกทั้ง 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก และนกเงือกสีน้ำตาล ที่พบบนเขาใหญ่นับว่าเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักดูนกเป็นอย่างดี เพราะพบเห็นได้ทั่วไป พวกแมลงที่มีมากกว่า 5,000 ชนิด ที่สวยงามและพบเห็นบ่อยได้แก่ ผีเสื้อ มีรายงานพบกว่า 216 ชนิด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ



ลักษณะภูมิอากาศ

          ด้วยสภาพป่าที่รกทึบและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้เกิดฝนตกชุกตามฤดูกาล อากาศไม่ร้อนจัดและหนาวจัดจนเกินไป จัดอยู่ในประเภทเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวและประกอบกิจกรรมนันทนาการชนิดต่างๆ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 23 องศาเซลเซียส

          ฤดูร้อน แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าวกว่าในที่อื่น แต่ที่เขาสูงบนเขาใหญ่อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน เล่นน้ำในลำธารและนำอาหารไปรับประทาน ไม้ป่ามีดอกหลากสีบานสะพรั่งบ้างออกผลตามฤดูกาล

          ฤดูฝน เป็นช่วงหนึ่งของปีที่สภาพบนเขาใหญ่ชุ่มฉ่ำ ป่าไม้ทุ่งหญ้าเขียวขจีสดสวย น้ำตกทุกแห่งไหลแรงส่งเสียงดังก้องป่าให้ชีวิตชีวาแก่ผู้ไปเยือน แม้การเดินทางจะลำบากกว่าปกติแต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ลดน้อยลงเลย

          ฤดูหนาว ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูที่นิยมไปเขาใหญ่มากที่สุด ท้องฟ้าสีครามแจ่มใสตัดกับสีเขียวขจีของป่าไม้ พยับหมอกที่ลอยเอื่อยไปตามทิวเขา ดวงอาทิตย์กลมโตอยู่เบื้องหน้าไกลโพ้น อากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน แต่รุ่งเช้าของวันใหม่จะพบกับธรรมชาติที่สวยงามแตกต่างไปจากเมื่อวานอีกแบบหนึ่ง


อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หมายถึง, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือ, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ความหมาย, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu