ลมกรด คือ แถบกระแสลมซึ่งมีความเร็วประมาณ 200 ถึง 400 กิโลเมตรต่อ ชั่วโมง แนวกระแสลมกรดนี้ โดยมากพัดจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก และเป็นแนวโค้งคดเคี้ยวคล้าย ๆ กับแม่น้ำโค้ง (meandering rivers) กระแสลมกรดส่วนมากอยู่ในระดับสูงระหว่าง 9 ถึง 12 กิโลเมตร แนวกระแสลมกรดจะมีความลึกหรือความหนาเป็นสิบ ๆ กิโลเมตร กว้างเป็นร้อย ๆ กิโลเมตร ยาวเป็นพัน ๆ กิโลเมตร เกิดขึ้นในบริเวณละติจูด 30 ถึง 40 องศาเหนือ และพัดโค้งไปมาคล้ายแม่น้ำ จากละติจูดสูงไปละติจูดต่ำ หรือจากละติจูดต่ำไปละติจูดสูง
กระแสลมกรดมีความสำคัญต่อการบินมาก ได้มีการค้นพบกระแสลมกรดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ซึ่งบินและเห็นจุดหมายอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถไปใกล้จุดหมายนั้นได้ เนื่องจากบินสวนทิศกับกระแสลมกรดอยู่เรื่อย ซึ่งทำให้ความเร็วของเครื่องบินลดลงไปมาก นอกจากนั้นแล้วบริเวณกระแสลมกรดอากาศ จะมีความแปรปรวนปั่นป่วนมาก เนื่องจากความแตกต่างของความแรงของกระแสลมกรด กับอากาศที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ลมกรดยังมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการก่อตัวของเมฆฝนฟ้าคะนอง โดยส่งผลให้มี ฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้
ลมพัดลงลาดเขา / ลมชันลาดเขา
ในบริเวณเทือกเขามักจะมีแรงลมเกิดขึ้น ซึ่งนักบินโดยเฉพาะเฮลิคอปเตอร์ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เป็นเพราะเหตุใด
ลมพัดลงลาดเขา (Katabatic wind) เป็นลมที่ตกลงมาตามความชันของพื้นที่ (ภูเขา) มักเกิดขึ้นในตอนกลางคืนที่ท้องฟ้ากระจ่าง การแผ่รังสีจากพื้นผิวโลกมีมากทำให้พื้นดินเย็นลงโดยเร็ว โดยเฉพาะพื้นดินบริเวณภูเขาหรือที่ราบสูง ทำให้อากาศเหนือบริเวณนี้เย็นเร็วกว่าอากาศบริเวณข้างเคียง ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกัน ดังนั้นอากาศบริเวณเหนือภูเขาซึ่งเย็น และมีความแน่นมากกว่าอากาศในบริเวณใกล้ ๆ ภูเขา จึงเคลื่อนตัวไปแทนที่อากาศที่ร้อนกว่า โดยมีความ โน้มถ่วง (gravity) ของโลกช่วยส่งเสริม (สนับสนุน) ทำให้เกิดเป็นลมตกเขา หรือลมพัดลงลาดเขาขึ้น ลมนี้เป็นลมประจำถิ่น
ลมชันลาดเขา (Anabatic wind) เป็นลมซึ่งมีทิศทางตรงกันข้ามกับลมลงลาดเขา (Katabatic wind) คือ ในเวลากลางวันที่ท้องฟ้าไม่มีเมฆ อากาศเหนือบริเวณที่สูงชัน หรือภูเขาจะได้รับความร้อนมากกว่าอากาศบริเวณข้างเคียง ในระดับความสูงเดียวกันเหนือพื้นราบ ดังนั้นอากาศในบริเวณข้างเคียงซึ่งเย็นกว่า จึงเคลื่อนตัวไปแทนที่อากาศเหนือบริเวณที่สูงชัน หรือ ภูเขา ลมขึ้นลาดเขานี้เป็นลมอ่อนจะเคลื่อนที่ไปได้สูงมาก หรือน้อยแล้วแต่ความสูงชันของภูเขา
ลักษณะลมที่เราควรรู้จัก
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน ลักษณะอากาศถูกควบคุม โดยการหมุนเวียนของกระแสอากาศประจำฤดูกาล และเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะประจำถิ่นของพื้นที่นั้น ๆ ดังนั้นลมที่เราควรรู้จักจึงแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ ลมประจำฤดูกาล และลมประจำถิ่น
ลมประจำฤดูกาลหมายความว่าอย่างไร
ลมประจำฤดูกาลเป็นลมที่พัดปกคลุมประเทศไทย ช่วงระยะเวลาค่อนข้าง ยาวนานอย่างน้อยตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป เช่น ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมอุตรา) และ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมตะโก้) ลมตะวันออกเฉียงใต้ (ลมหัวเขา) ลมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมพัทยา) ลมใต้ (ลมตะเภา) ลมเหนือ (ลมว่าว) ลมตะวันตก ลมเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสภาวะอากาศของแต่ละภาคของประเทศไทยที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่ของภาคนั้น ๆ
ลมประจำถิ่นหมายความว่าอย่างไร
ลมประจำถิ่นเป็นลมที่เกิดขึ้นกับบริเวณใดบริเวณหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ลมภูเขา ลมหุบเขา ซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณเทือกเขา และลมบก ลมทะเล ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล
ที่มา www.tmd.go.th