สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๕๗ ในพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาชุ่ม ธิดาพระอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ต้นสกุล "โรจนดิศ" ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๕พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนาม และพระพรประกอบด้วยคาถาเป็นภาษาบาลี ซึ่งมีคำแปล ดังต่อไปนี้
..สมเด็จพระปรเมนทร์มหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามผู้บิดาขอตั้งนาม กุมารบุตรที่เกิดแต่ชุ่มเล็กเป็นมารดานั้น และซึ่งคลอดในวันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอจัตวาศกนั้น ว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร นาคนาม ขอจงเจริญ ชนมายุ วรรณะ สุข พล ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒน์มงคลทุกประการ สิ้นกาลนาน ต่อไป เทอญ...
พระองค์ทรงเริ่มเรียนหนังสือไทยชั้นต้นจากสำนักคุณแสงและคุณปาน ราชนิกุล ในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาบาลี ในสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และหลวงธรรมานุวัติจำนง (จุ้ย) ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง ซึ่งมีมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สันเป็นพระอาจารย์ และทรงศึกษาวิชาหลักรัฐประศาสนศาสตร์จากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5
พ.ศ.๒๔๗๒ ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นอิสริยยศสูงสุดสำหรับพระองค์ท่านตราบจนสิ้นพระชนม์
ด้วยเกียรติประวัติที่ได้ทำไว้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้ประกาศให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติ คือ "วันดำรงราชานุภาพ" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื่องในโอกาสสถาปนากระทรวงมหาดไทย ครบ 109 ปี อันเป็นวันที่ระลึกคล้ายวันสิ้นพระชนม์เป็นปีที่ 58 ของพระองค์
พระกรณียกิจ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่ และงานสำคัญอย่างยิ่ง ของบ้านเมือง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างสูง ผลงานด้านต่าง ๆ ของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันสูง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัย
ในด้านการศึกษา
ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติหน้าที่ทางการศึกษาอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นเพียงประมาณ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๓๓๓ - ๒๓๓๕) แต่พระองค์ ทรงมีพระดำริริเริ่มเป็นเยี่ยมในพระกรณียกิจด้านนี้หลายประการ กล่าวคือ
๑. ทรงเริ่มงานจัดการศึกษาเป็นครั้งแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสภาพ "โรงเรียนทหารมหาดเล็ก" ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกสอนวิชาทหารให้แก่นายร้อย นายสิบ ในกรมทหารมหาดเล็ก มาเป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือน มีชื่อเรียกว่า "โรงเรียนพระตำหนัก สวนกุหลาบ" และพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน
๒. ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธรรมการ ได้ทรงจัดวางระเบียบการบริหารราชการของกรมและโรงเรียน กล่าวคือ ทรงวางระเบียบ ข้อบังคับตำแหน่งหน้าที่เสมียน พนักงาน ในการเข้ารับราชการ การเลื่อนตำแหน่ง ลาออก ลงโทษ ตลอดจนทรงกำหนดให้มีการตรวจสอบและ รายงานผลตรวจโรงเรียนทั้งในกรุงและหัวเมืองของพนักงานด้วย
๓. ทรงขยายการศึกษาโดยอาศัย "วัด" ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ และอบรมศีลธรรมให้แก่ราษฎรมาแต่โบราณ และ "วัดมหรรณพาราม" เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกที่ทรงจัดตั้งขึ้น การศึกษาลักษณะนี้ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา และเมื่อทรงปรับปรุง หลักสูตรและวิธีการสอน ตลอดจนจัดพิมพ์ตำราเรียนเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยทรงจัดตั้ง โรงเรียนหลวงขึ้นทั่วประเทศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕
๔. ทรงริเริ่มจัดให้มีการตรวจสอบตำราเรียนและออกประกาศรับรอง ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ และความสามารถอย่างเหมาะสม และทรงกำหนด ให้มีการปรับปรุงหลักสูตรตำราเรียนขึ้นใหม่ คือ ตำราแบบเรียนเร็ว
๕. ทรงจัดตั้ง "โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" และเปลี่ยนเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ในเวลาต่อมา
๖. ทรงปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งเป็นหอสมุดแห่งเดียวในพระนคร เช่น ทรงกำหนดให้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการดำเนินงาน จัดงบประมาณสำหรับซื้อหนังสือ กำหนดระเบียบวิธีการยืม และการเป็นสมาชิก เป็นต้น
ในด้านมหาดไทย
ซึ่งเป็นกิจการสำคัญยิ่งในการบริหารประเทศนั้น พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อตั้งและปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครอง ภายในประเทศ และการบริหารราชการของกระทรวงมหาดไทยกล่าวคือ
๑. ทรงจัดการบังคับบัญชางานภายในกระทรวง ให้มีรูปแบบเป็นระบบราชการชัดเจนขึ้น มีลำดับขั้นการบังคับบัญชา มีการแบ่งงานและเลือกสรร ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการ โดยการจัดสอบคัดเลือกตลอดจนออกระเบียบวินัยต่างๆ เช่น เลิกประเพณีให้ข้าราชการทำงานอยู่ที่บ้าน กำหนดให้มีการประชุมข้าราชการทุกวัน กำหนดเวลาการทำงาน ตลอดจนจัดระเบียบส่ง ร่าง เขียน และเก็บหนังสือราชการ เป็นต้น
๒. ทรงจัดระบบการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งเรียกว่า "ระบบเทศาภิบาล" ได้เป็นผลสำเร็จ และนับว่าเป็นผลงานสำคัญที่สุดของพระองค์ โดยทรง รวมหัวเมืองต่าง ๆ จัดเข้าเป็น "มณฑล" และมี "ข้าหลวงเทศาภิบาล" เป็นผู้บังคับบัญชา อยู่ในอำนาจของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอีกชั้นหนึ่ง สำหรับการแบ่งเขตย่อยลงไปเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ออก "พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่" บังคับใช้ทั่วพระราชอาณาจักร
พระราชกรณียกิจด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทรงริเริ่มจัดตั้ง "การสุขาภิบาลหัวเมือง" ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ โดยเริ่มที่ ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแห่งแรก และนับเป็นการปูพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่น
พระกรณียกิจด้านมหาดไทยทุกประการ จึงล้วนแต่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและด้านมหาดไทยแล้ว พระองค์ยังทรงรับพระราชภาระจัดการและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกิจการด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน ได้แก่ ด้านการป่าไม้ ซึ่งทรงริเริ่มก่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้เข้าไปควบคุมดูแลกิจการป่าไม้โดยตรง และทรงริเริ่ม ให้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง และกฎข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อเป็นผลประโยชน์ของกรมป่าไม้เป็นหลักสำคัญ และเป็นรากฐานในการ ปฏิบัติงานของกรมป่าไม้มาจนถึงปัจจุบัน ทรงริเริ่มการออกโฉนดที่ดิน
พระจริยวัตร
1. ทรงมีพระดำริกว้างไกล มีวิสัยทัศน์ ทรงค้นคว้าหาแนวทางส่งเสริมและพัฒนาชาติไทยจนมีความเจริญรุ่งเรือง
2. ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ทรงตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระภารกิจอย่างเต็มพระสติกำลังโดยมิทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย
3. ทรงมีความตั้งพระทัยในการศึกษาเล่าเรียนจนเกิดความเชี่ยวชาญในศาสตร์หลายแขนง ทรงมีพระปรีชาสามารถ,พระอัจฉริยะภาพและทรงนำพระสติปัญญาของพระองค์มาใช้ในการบำเพ็ญพระกรณียกิจทั้งปวงจนบรรลุผลสำเร็จด้วยดีทุกประการก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมากมายมหาศาล
4. ทรงมีความเสียสละ ทรงอุทิศพระวรกาย,พระราชหฤทัยและพระสติปัญญาของพระองค์เพื่อทรงงานและพระกรณียกิจทั้งปวงอยู่ตลอดเวลา
ที่มา www.pcccr.ac.th