ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

อังค์ถัด UNCTAD, อังค์ถัด UNCTAD หมายถึง, อังค์ถัด UNCTAD คือ, อังค์ถัด UNCTAD ความหมาย, อังค์ถัด UNCTAD คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
อังค์ถัด UNCTAD

          การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) The United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD) จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1964 (พ.ศ. 2507) เป็นองค์กรสังกัดองค์การสหประชาชาติ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานขององค์การสหประชาชาติเพื่อสร้างความเจริญทางการค้าและการพัฒนา สนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในสาขาการลงทุน การเงิน เทคโนโลยี การพัฒนาองค์กรธุรกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development)
             
          UNCTAD ส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาร่วมกันสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ สามารถยกระดับความเจริญและการพัฒนาให้ทันกับภาวะเศรษฐกิจโลกในกระแสโลกาภิวัฒน์ UNCTAD มีการดำเนินงานที่ก้าวหน้าเป็นสถาบันวิชาการ (an authoritative knowledge-based institution) ให้บริการประสานการหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนา รวมทั้งเน้นการประสานให้นโยบายภายในประเทศ (domestic policies)กับการดำเนินงานระหว่างประเทศ (international action) สอดคล้องส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          UNCTAD ปฏิบัติงานตามแนวทางสำคัญ 3 ประการ (three key functions) คือ

            1.  ทำหน้าที่เป็นเวทีการหารือระหว่างรัฐบาลต่างๆ (forum for intergovernmental deliberations) ผ่านการหารือของผู้เชี่ยวชาญ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเน้นการสร้างความเห็นชอบร่วมกัน(consensus building)
            2. ดำเนินงานวิจัย วิเคราะห์นโยบาย และรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการหารือระหว่างผู้แทนหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน
            3. จัดให้มีความช่วยเหลือทางวิชาการ (technical assistance) ที่ได้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาแล้ว โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความต้องการของประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (the least developed countries: LDCs) และประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจ (economies in transition) ทั้งนี้ UNCTAD จะร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ และประเทศผู้บริจาคเพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนาตามความเหมาะสม



ประวัติและภูมิหลัง

          UNCTAD มีการดำเนินงานครบ 40 ปีในปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) สมาชิกส่วนมากซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ใช้ UNCTAD เป็นกลไกสำคัญเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเด็นด้านการค้า การเงิน การลงทุน เทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา

          UNCTAD จะจัดการประชุมใหญ่ระดับรัฐมนตรีขึ้นทุก 4 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 (พ.ศ. 2507) โดยมีธรรมเนียมปฏิบัติให้ประเทศกำลังพัฒนาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโดยหมุนเวียนกันไปตามภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา ยุโรป จนถึงขณะนี้ได้มีการประชุมมาแล้ว 11 ครั้ง ดังนี้

     ครั้งที่ 1  พ.ศ. 2507 (ที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการ UNCTAD) นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 
     ครั้งที่ 2  พ.ศ. 2511 (เอเชีย)          กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย  
     ครั้งที่ 3  พ.ศ. 2515 (ลาตินอเมริกา)  กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี  
     ครั้งที่ 4  พ.ศ. 2519 (แอฟริกา)        กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา  
     ครั้งที่ 5  พ.ศ. 2523 (เอเชีย)          กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์  
     ครั้งที่ 6  พ.ศ. 2527 (ยุโรป)           กรุงเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย 
     ครั้งที่ 7  พ.ศ. 2531 (ที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการ UNCTAD) นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 
     ครั้งที่ 8  พ.ศ. 2535 (ลาตินอเมริกา)  กรุงคาร์ตาฮานา ประเทศโคลัมเบีย 
     ครั้งที่ 9  พ.ศ. 2539 (แอฟริกา)        เมือง Midrand สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ 
     ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2543 (เอเชีย)          กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย  
     ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2547 (ลาตินอเมริกา) เมืองเซา เปาโล ประเทศบราซิล
                                                      



ภารกิจหลักของ UNCTAD

                1.  เป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประเทศสมาชิกอย่างอิสระ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ
     ระหว่างประเทศและเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ผ่านความร่วมมือ
     การเจรจา การมีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน และการสร้างฉันทามติ ในประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายการค้าและการพัฒนา

               2.  เป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยและวิเคราะห์ระบบ/แนวนโยบายเศรษฐกิจในระดับมหภาคของโลก
     และสนับสนุนกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและความร่วมมือทางเทคนิคระหว่างประเทศสมาชิก
     โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา ในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

                    2.1 การค้าระหว่างประเทศ (International trade) UNCTAD ส่งเสริมการเข้ามีส่วนร่วมของ
     ประเทศกำลังพัฒนาในระบบการค้าระหว่างประเทศ ให้การช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ
     การเจรจาทางการค้า การเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจภาคบริการให้กับประเทศกำลังพัฒนา ส่งเสริมให้เกิด
     การบูรณาการในประเด็นทางการค้า สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา การวิเคราะห์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
     และนโยบายการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งส่งเสริมการลดการพึ่งพิงสินค้าโภคภัณฑ์เพียงไม่กี่รายการของ
     ประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ความหลากหลายของประเภทสินค้า และการบริหารจัดการความเสี่ยง

                    2.2 การลงทุน การพัฒนาวิสาหกิจและเทคโนโลยี (Investment, enterprise development
     and technology) UNCTAD ทำหน้าที่วิเคราะห์แนวโน้มและผลกระทบของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
     ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเข้าใจ
     เกี่ยวกับความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศ พัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาด
     ย่อม รวมทั้งช่วยพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

                    2.3 โลกาภิวัตน์และการพัฒนา (Globalization and development) UNCTAD ดำเนินงานวิเคราะห์
     วิจัยเกี่ยวกับแนวโน้มและโอกาสในระบบเศรษฐกิจโลก ให้ข้อเสนอแนะ/แนวทางแก้ไขภาวะหนี้สินในประเทศกำลัง
     พัฒนาและการบริหารหนี้สินต่างประเทศ  ศึกษาประสบการณ์ความสำเร็จในการพัฒนา และมีส่วนสำคัญต่อการอนุวัติ
     ระเบียบวาระใหม่ว่าด้วยการพัฒนาของแอฟริกาแห่งสหประชาชาติ (United Nations New Agenda for
     Development of Africa หรือ UN-NADAF)

                   2.4 โครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ ประสิทธิภาพทางการค้าและการคมนาคมขนส่ง และการพัฒนา
     ทรัพยากรมนุษย์ (Services infrastructure, transport and trade efficiency, and human resource
     development) UNCTAD อำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับ
     งานบริการที่สนับสนุนการค้า (trade-supporting services) ส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถและฝึกอบรม
     ศึกษาวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce and E- business) ของประเทศ
     กำลังพัฒนา

                   2.5 ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ประเทศที่ไม่ทางออกสู่ทะเล และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะ
     (Least developed, landlocked and island developing countries)  UNCTAD ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ
     จากประเด็นระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ให้มีความเข้าใจ
     ประเด็นหลักๆของการเจรจาการค้าพหุภาคี ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตและการแข่งขันทางการค้า การลงทุน
     และการบริการในสาขาสำคัญ นอกจากนี้ UNCTAD ยังมีบทบาทนำในการจัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วย
     ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด เป็นจำนวน 3 ครั้งในอดีตา (พ.ศ. 2524 และ พ.ศ. 2533 ที่กรุงปารีส  2533 และ
     พ.ศ. 2544 ที่กรุงบรัสเซลส์)

               3. สนับสนุนกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและความร่วมมือทางเทคนิคระหว่างประเทศสมาชิก
     โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเจรจาการค้า การเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ
     ภาคบริการให้กับประเทศกำลังพัฒนา ช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ เสริมสร้าง
     ความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศ และพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาวิสาหกิจขนาด
     กลางและขนาดย่อม        



ระบบและโครงสร้างการทำงานของ UNCTAD

      • การประชุมระดับรัฐมนตรี
        UNCTAD จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีทุก 4 ปี เพื่อกำหนดวางแนวนโยบาย และจัดลำดับภารกิจงานร่วมกัน
        ของประเทศสมาชิก โดยการประชุมครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่เมือง Sao Paulo ประเทศบราซิล ระหว่าง 13-18 มิถุนายน
        ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)

     • คณะกรรมการบริหารการค้าและการพัฒนา (Trade and Development Board)
        UNCTAD จัดให้มีประชุมสมัยสามัญปีละ 1 ครั้งที่นครเจนีวา เพื่อพิจารณาทบทวนการดำเนินกิจกรรมของ
        สำนักงานเลขาธิการ รวมถึงประเด็นทางสถาบันและการบริหารจัดการ และจัดให้มีการประชุมเป็นการเฉพาะ
        ต่างหากอีกไม่เกินปีละ 3 ครั้งเพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาเร่งด่วนได้อย่างทันท่วงที

     • คณะกรรมาธิการ 3 คณะ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย
          1) คณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าสินค้าและบริการ และสินค้าโภคภัณฑ์
          2) คณะกรรมาธิการว่าด้วยการลงทุน  เทคโนโลยี และการเงิน
          3) คณะกรรมาธิการว่าด้วยวิสาหกิจ การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ และการพัฒนา

        คณะกรรมาธิการแต่ละคณะจะจัดการประชุมสามัญสามัญปีละ 1 ครั้ง แต่อาจเรียกประชุมผู้ชำนาญการพิเศษสูงถึง 10 ครั้งต่อปีเพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาเป็นการเฉพาะ



ผลงานที่ผ่านมาของ UNCTAD

          • สิทธิพิเศษทางศุลกากร (Generalized System of Preferences หรือ GSP)  ตั้งแต่ พ.ศ.2514 โดยสินค้า
     ของประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วที่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึงกว่า 70 พันล้าน
     ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
          • ความตกลงว่าด้วยสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (Agreement on a Global System
     of Trade Preferences) หรือ GSTP ตั้งแต่พ.ศ.2532
          • ความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมถึง โกโก้ กาแฟ น้ำตาล ปอกระเจาและผลิตภัณฑ์
     ปอกระเจา ไม้เขตร้อน น้ำมันมะกอก และธัญพืช
          • กองทุนร่วมเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับการคงคลังสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ
     และโครงการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2532
          • แนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้
          • UN Convention on Code of Conduct for Liner Conference ปี พ.ศ. 2517 และ International
     Carriage of Goods by Sea ปี พ.ศ. 2521

     นอกจากนี้ ผลงานของ UNCTAD ยังมีส่วนสำคัญในการนำไปสู่ข้อตัดสินใจที่สำคัญต่างๆ อาทิ
             1) ความตกลงในการกำหนดเป้าหมายความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA)
     รวมถึงเป้าหมายร้อยละ 0.7 ของ GNP สำหรับประเทศกำลังพัฒนา และเป้าหมายร้อยละ 0.15 สำหรับ
     ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด
             2) จุดเริ่มต้นของ Special Drawing Rights (SDRs) โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ
             3) การลดปัญหาหนี้สินระดับพหุภาคีสำหรับประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

 



ไทยกับ UNCTAD

               การจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (สคพ.) หรือ International Institute
     for Trade and Development (ITD) เป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่งจากการประชุม UNCTAD
     ครั้งที่ 10 ที่รัฐบาลไทยและ UNCTAD เห็นความสำคัญร่วมกันในการริเริ่มความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
     โดยรัฐบาลไทยได้ร่วมกับ UNCTAD จัดตั้งสถาบัน ITD ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมา ได้เปิดทำการเมื่อ
     วันที่ 1 พฤษภาคม 2545 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเพิ่มและเสริมสร้างขีดความสามารถและประสิทธิภาพ รวมทั้ง
     ทักษะในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้แก่บุคลากรของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย เพื่อการกำหนด
     และดำเนินนโยบายให้สามารถรับมือและจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรี
     ผ่านการสัมมนาการฝึกอบรม และการวิจัย ทั้งยังเผยแพร่ผลงานศึกษาวิจัยและข้อมูลสารสนเทศด้านเศรษฐกิจให้
     สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
     ข้อมูลเกี่ยวกับ ITD มีปรากฏที่ www.itd.chula.ac.th

               หลังจากที่นาย Rubens Ricupero (ชาวบราซิลl) พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ UNCTAD (Secretary-General
     of UNCTAD) เมื่อ 14 กันยายน ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) นาย Carlos Fortin (ชาวชิลี) ได้ปฏิบัติหน้าที่
     รักษาการเลขาธิการ UNCTAD (the Officer-in-Charge of UNCTAD) มาจนถึงปัจจุบัน 

               เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) นาย Kofi Annan เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN
     Secretary-General) ได้เสนอชื่อ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ (Dr. Supachai Panitchpakdi) ให้เป็น
     เลขาธิการ UNCTAD มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป

               ก่อนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ UNCTAD ในวันที่ 1 กันยายน 2548 ดร.ศุภชัยฯ เป็นผู้อำนวยการองค์การ
     การค้าโลก (Director General of the World Trade Organization: WTO) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี
     และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย รวมทั้งเคยเป็นประธานการประชุม UNCTAD ครั้งที่ 10 ที่กรุงเทพฯ
     เมื่อปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543)
 
               เมื่อ 11 พฤษภาคม 2548 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) ได้ให้การรับรองการ
     แต่งตั้ง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นเลขาธิการ UNCTAD แล้ว โดย ดร.ศุภชัยฯ มีกำหนดเข้ารับตำแหน่ง
     UNCTAD Secretary-General ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 ทั้งนี้ คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์
     เอกอัครรราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม UN
     General Assembly โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
          -  สนับสนุนการแต่งตั้ง ดร.ศุภชัยฯ
          -  สนับสนุนกระบวนการหารือกับกลุ่ม G-77
          -  ย้ำความสำคัญที่ไทยให้กับ UNCTAD
          -  แสดงความภาคภูมิใจที่เห็นคนไทยเข้ารับตำแหน่งนี้
          -  แสดงความเชื่อมั่นว่า เลขาธิการ UNCTAD คนใหม่จะสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ UNCTAD
             เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น
          -  ยืนยันจะสนับสนุนการทำงานของเลขาธิการ UNCTAD
 
               ชีวประวัติของ ดร.ศุภชัยฯ ในฐานะเลขาธิการ UNCTAD มีปรากฏที่ www.unctad.org

               สำนักงานเลขาธิการของ UNCTAD ปฏิบัติงานร่วมกับรัฐบาลประเทศสมาชิก องค์กรต่างๆ ในสังกัดองค์การ
     สหประชาชาติ คณะกรรมาธิการระดับภูมิภาค หน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่มิใช่ของรัฐ (non-governmental
     organizations: NGOs) ภาคเอกชน รวมทั้งสมาคมการค้าและอุตสาหกรรม สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาระดับ
     มหาวิทยาลัยทั่วโลก

               สำนักงานเลขาธิการของ UNCTAD มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประมาณ 400 คน มีงบประมาณปกติรายปี (annual
     regular budget) ปีละประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และงบประมาณพิเศษเป็นเงินกองทุนให้ความช่วยเหลือ
     ทางวิชาการ (extrabudgetary technical assistance funds) อีกประมาณ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ    

               ปัจจุบัน UNCTAD มีสมาชิก 192 ประเทศ (ข้อมูลจาก www.unctad.org พฤษภาคม 2548) จากทุกภูมิภาค
     ของโลก ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง

               รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ UNCTAD มีปรากฏที่ www.unctad.org

ข้อมูลจากเว็บไซต์ กระทรวงการต่างประเทศ


อังค์ถัด UNCTAD, อังค์ถัด UNCTAD หมายถึง, อังค์ถัด UNCTAD คือ, อังค์ถัด UNCTAD ความหมาย, อังค์ถัด UNCTAD คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu