ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ตำหนักทองที่วัดไทร, ตำหนักทองที่วัดไทร หมายถึง, ตำหนักทองที่วัดไทร คือ, ตำหนักทองที่วัดไทร ความหมาย, ตำหนักทองที่วัดไทร คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ตำหนักทองที่วัดไทร

เมื่อวันที่ ๒๓ และวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ กรรมการให้เปิดหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นการพิเศษ สำหรับพระภิกษุสามเณรจะได้ชมตามปรารถนา พระครูถาวรสมณวงศ์ วัดไทร อำเภอบางขุนเทียน แขวงจังหวัดธนบุรี ได้มาชมหอพระสมุดฯ มาบอกว่า ที่วัดไทรมีตำหนักฝาเขียนลายทองรดน้ำอย่างตู้หนังสือในหอพระสมุดฯอยู่หลังหนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่ากันสืบมาว่า เป็นตำหนักของขุนหลวงเสือทรงสร้างไว้ ได้ความดังนี้ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ข้าพเจ้าจึงไปดูตำหนักที่วัดไทร เห็นเป็นตำหนักของโบราณจริง และมีเรื่องราวในพงศาวดารประกอบกัน ควรนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งซึ่งเนื่องในโบราณคดี ข้าพเจ้าจึงเรียบเรียงคำอธิบายฉบับนี้ขึ้น สำหรับท่านผู้ที่เอาใจใส่ในโบราณคดีจะได้อ่านทราบเรื่องตำหนักแห่งนี้


๑) วัดไทรอยู่ริมคลองสนามชัย (ที่เรียกเป็นสามัญว่าคลองด่าน) ใกล้ตำบลบางขุนเทียนข้างฝั่งตะวันตก ทางไปจากกรุงเทพฯจะไปรถไฟสายท่าจีนก็ได้ ไปลงที่สถานบางขุนเทียนแล้วเดินต่อไปข้างใต้หน่อยหนึ่งก็ถึงเขตวัดไทร ซึ่งทางรถไฟผ่านไปข้างหลังวัด ถ้าไปเรือจะไปทางคลองบางกอกใหญ่หรือคลองดาวคนองก็ได้ทั้ง ๒ ทาง แต่ต้องไปให้สบน้ำในคลองมีมากจึงจะสะดวก ตำหนักของโบราณนั้นอยู่ริมคลองข้างหมู่กุฏิสงฆ์ เป็นตำหนักไม้ ๓ ห้อง ยาว ๔ วาศอก กว้าง ๙ ศอก ปลูกยาวตามคลอง ทางด้านใต้กั้นฝาทึบห้องหนึ่ง มีหน้าต่างกรอบจำหลักเป็นซุ้มยอด ทางด้านเหนือฝาเป็นช่องโถงสำหรับผูกม่านไม่มีบาน ๒ ห้อง เสาและเครื่องบนของเดิมผุเปลี่ยนใหม่เสียหมดแล้ว ยังเหลือแต่ฝา ฝานั้นข้างนอกเขียนทองรดน้ำพื้นดำ ลายเป็นกระหนกเครือ แต่ลายทองยังคงเหลืออยู่เพียงข้างบนที่ชายคาบังฝน ตอนล่างที่ถูกแดดถูกฝนนั้น ลายทองชำรุดซ่อมทาสีเสียแล้ว เครื่องบนยังมีของเดิมแต่กรอบกระจังจำหลักที่หน้าบันเหลืออยู่ท่อนหนึ่ง ข้างในตำหนักฝารอบมาสีพื้นขาวเขียนสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ สงสัยว่าจะเขียนเปลี่ยนลายเมื่อซ่อมชั้นหลังบ้าง พระบอกว่าเสาเดิมเป็นลายรดน้ำเหมือนลายฝาด้านนอก ฝาประจันห้องที่ยังคงเหลืออยู่จนบัดนี้ เขียนลายทองรดน้ำเหมือนลายฝาด้านนอก มีประตูฝาประจันห้อง ๒ ช่อง ที่บานเขียนรูปเทวดา แต่ดูจะเป็นฝีมือช่างกรุงเทพฯซ่อมชั้นหลัง

ลักษณะของตำหนักดังกล่าวมานี้ พิเคราะห์ดูเห็นว่าเดิมคงเป็นตำหนักของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งได้ทรงสร้างไว้จริงอย่างนี้ ที่เรียกว่า ตำหนักทอง ซึ่งผู้อื่นจะสร้างอยู่นั้นไม่ได้ โดยถ้าสร้างถวายเป็นพุทธบูชา ก็ได้แต่เป็นโบสถ์วิหาร หรือหอไตร ที่ผู้อื่นจะทำเป็นเรือนทองถวายเป็นเสนาสนสงฆ์ หรือเป็นศาลาอาศัยนั้น หามีอย่างธรรมเนียมไม่ ความที่กล่าวนี้มีอุทาหรณ์ในพงศาวดารครั้งรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปรารภจะทดแทนทรกรรมที่พระเจ้ากรุงธนบุรีลงพระราชอาญาสมเด็จพระสังฆราช(สี) เพราะเหตุที่ไม่ยอมถวายบังคม โปรดฯให้รื้อตำหนักทองของพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปลูกถวายเป็นตำหนักสมเด็จพระสังราชพระองค์นั้นให้เป็นเกียรติยศสถานหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ว่าแต่โบราณนับถือตำหนักทองว่าเป็นของสูงศักดิ์เพียงไร ถ้าเป็นตำหนักเจ้านายในพระราชวงศ์ก็เพียงใช้แต่ทาสี ดังเช่นที่เรียกนามตำหนักของสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ ๑ ว่า ตำหนักเขียวและตำหนักแดงนั้นเป็นตัวอย่าง ด้วยมีหลักฐานดังอธิบายมานี้ จึงเห็นว่าตำหนักทองที่วัดไทรเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างเป็นแน่


๒) คำที่ชาวบ้านในตำบลนั้นบอกเล่ากันสืบมาว่า เป็นตำหนักของขุนหลวงเสือ ข้อนี้ก็มีเรื่องพงศาวดารประกอบชอบกลอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดเสด็จประพาสทางอ่าวทะเลลงไปจนถึงตำบลโตนดหลวง ในแขวงจังหวัดเพชรบุรี ทางเสด็จสมัยนั้น กระบวนเรือพระที่นั่งต้องผ่านไปทางคลองสนามชัยนี้ จึงเป็นทางเสด็จมาแต่โบราณ แต่ต่อมาการเสด็จประพาสทางทะเลมาหยุดเสียระยะหนึ่ง ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ซ. ๒๑๖๓) จนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๔๖) เห็นจะเป็นเพราะตั้งแต่พบรอยพระพุทธบาทเป็นต้นมา ก็เปลี่ยนที่เสด็จประพาสไปเป็นทางข้างเหนือ คือที่เขาพระพุทธบาทและเมืองลพบุรี หาเสด็จทางทะเลเหมือนแต่ก่อนไม่

มาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี ซึ่งเสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยาแต่ พ.ศ. ๒๒๔๖ จน พ.ศ. ๒๒๕๑ คนทั้งหลายเรียกกันอย่างสามัญว่า "ขุนหลวงเสือ" หรือ "พระเจ้าเสือ" โปรดเสด็จประพาสทางทะเล การเสด็จประพาสทางทะเลจึงกลับมีขึ้นอีกตั้งแต่รัชกาลนั้น ตลอดมาจนในรัชกาลสมเด็จพระภูมินทราชาธิบดี ซึ่งเรียกกันว่า "ขุนหลวงท้ายสระ" และรัชกาลสมเด็จพระธรรมราชาที่ ๒ ซึ่งเรียกกันว่า "ขุนหลวงบรมโกศ" อันเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเสือทั้ง ๒ พระองค์

มีเรื่องปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๗ พระเจ้าเสือเสด็จทางคลองสนามชัยนี้ (เวลานั้นเสวยราชย์ได้ปีหนึ่ง เห็นจะเป็นครั้งแรกเสด็จ) ถึงตำบลโคกขาม พันท้ายคัดท้ายไม่ดี เรือพระที่นั่งเกยตลิ่งจนหัวเรือหัก (เรือก็เห็นจะจวนล่ม) ตามกฏหมายในสมัยนั้น พันท้ายต้องระวางโทษถึงสิ้นชีวิต แต่พระเจ้าเสือทรงพระปรานี ดำรัสว่าเหตุเกิดด้วยคลองคดนัก จะไม่ลงพระราชอาญาแก่พันท้าย พันท้ายคนนั้นเป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงจังหวัดอ่างทอง เรียกกันว่า พันท้ายนรสิงห์ ทูลวิงวอนขอให้ประหารชีวิตตน รักษาพระราชกฤษฎีกาไว้อย่าให้เสื่อมเสีย จึงได้โปรดให้ประหารชีวิต ยังมีศาลเทพารักษ์ที่ตำบลโคกขาม ว่าสร้างตรงที่ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ปรากฏอยู่จนบัดนี้ เพราะเหตุที่เรือพระที่นั่งโดนครั้งนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าเสือกลับคืนพระนคร จึงมีรับสั่งให้พระราชสงคราม (ซึ่งต่อมาได้ชลอพระนอน วัดป่าโมกข์ ในรัชกาลหลัง) เป็นนายงานคุมไพร่ลงไปขุดคลองนั้นเสียให้ตรง พระราชสงครามให้ขุดแต่ปากคลองทางลำน้ำท่าจีนมาจนตำบลโคกขาม แต่การขุดค้างอยู่ มาสำเร็จต่อในรัชกาลหลัง ยังเป็นคลองตรงและกว้างใหญ่ เรียกว่า คลองมหาชัย อยู่จนบัดนี้

ในระยะเวลา ๕๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๔๖ จน พ.ศ. ๒๓๐๑ คลองสนามชัยนี้เป็นทางที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จผ่านไปมาเนืองๆ ทั้ง ๓ รัชกาล คงต้องมีตำหนัก พลับพลาที่ประทับร้อน ประทับแรมไว้ในระยะทางหลายแห่ง พวกเพชรบุรีเคยชี้บอกข้าพเจ้าที่ปากน้ำบางตะบูนว่า มีพลับพลาครั้งกรุงเก่าอยู่ที่นั่นแห่งหนึ่ง แต่ตัวตำหนักหักพังเสียหมดแล้ว พลับพลาที่ปากน้ำบางตะบูนก็คือที่ประทับแห่งหนึ่งในระยะทางสายนี้นั่นเอง แบบอย่างตำหนักทองที่วัดไทร ซึ่งทำเป็นตำหนัก ๓ ห้อง กั้นฝาห้อง ๑ และโถง ๒ ห้อง ดูสมจะเป็นตำหนักที่ประทับร้อน คงสร้างในรัชกาลพระเจ้าเสือดังพวกชาวบ้านว่า หรือมิฉะนั้นก็สร้างใน ๒ รัชกาลหลังต่อมาเมื่อครั้งกรุงเก่าเป็นแน่


๓) ยังมีข้อวินิจฉัยต่อไปอีกข้อ ๑ ว่าเหตุใดตำหนักทองหลังนี้จึงอยู่ที่วัดไทร จะสร้างตรงนี้นั้นแต่เดิมหรือ หรือว่ารื้อย้ายมาจากที่อื่น ได้ถามพระครู ๆ ว่าไม่เคยได้ยินว่ารื้อมาจากไหน อนึ่งเมื่อพระครูสร้างเขื่อนวัด ก็ขุดพบเสาไม้แก่นปักเป็นแถวอยู่ตรงตำหนักนั้นลงไป เข้าใจว่าเดิมจเป็นสะพานฉนวนสำหรับตำหนัก ดังนี้

เมื่อคิดใคร่ควรดูเห็นว่า ถ้าตำหนักสร้างตรงนั้นมาแต่เดิม ที่ตรงนั้นเมื่อเวลาสร้างตำหนักคงต้องอยู่นอกเขตวัด ที่จะสร้างตำหนักทองที่ประทับร้อนของพระเจ้าแผ่นดินในวัดนั้น เห็นใช่วิสัยที่จะเป็นได้ จึงพิจารณาดูทำเลที่วัดไทรเห็นที่เป็น ๒ แปลง ที่แปลงใหญ่ข้างใต้สร้างโบสถ์ วิหาร การเปรียญของเดิมหักพัง พระครูปฏิสังขรณ์ใหม่โดยมาแล้ว แต่ยังเหลือพระเจดีย์ที่หน้าวิหารกับธรรมาสน์ที่ในการเปรียญ เป็นฝีมือช่างครั้งกรุงเก่ารุ่นเดียวกันหรือก่อนฝีมือที่สร้างตำหนักทอง เป็นหลักฐานว่าวัดไทรนี้เป็นวัดเก่ามีมานานแล้ว ก่อนสร้างตำหนักทองเป็นแน่ ที่ดินแปลงเล็กซึ่งสร้างตำหนักทองอยู่ข้างเหนือ มีคลองคูคั่นกับที่แปลซึ่งสร้างโบสถ์วิหาร ถ้าจะอยู่นอกเขตวัดในสมัยเมื่อสร้างตำหนักทอง เพิ่งมาถวายเป็นที่วัดต่อภายหลังก็อาจจะเป็นได้ แต่เมื่อพิจารณาดูที่สร้างตำหนักทอง เห็นอยู่ชิดคูเคียงเขตวัดนัก ถ้าหากว่าที่แปลงนั้นอยู่นอกเขตวัดในสมัยเมื่อสร้างตำหนัก คงสร้างตำหนักกลางแปลงที่ห่างคูไปข้างเหนืออีก จะหาไปสร้างชิดเขตวัดอย่างเช่นเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ไม่ จึงสันนิษฐานว่า ตำหนักทองนี้เดิมเห็นจะสร้างไว้ที่อื่น แต่คงอยู่ในแถวริมคลองสนามชัยนั้นเอง

คิดประมาณดูว่าพลับพลาประทับแรมคงตั้งที่เมืองธนบุรี กระบวนเรือพระที่นั่งออกจากเมืองธนบุรีเวลาเช้า ไปทางคลองนี้ถึงเวลากลางวันตรงไหน ตำหนักทองหลังนี้เดิมคงสร้างไว้ตรงนั้น อันที่ประทับร้อนตอนบ่ายออกจากนั้นไปก็ไปประทับแรมที่ท่าจีน ความสันนิษฐานข้อนนี้สมด้วยลักษณะของตำหนักในเวลานี้ ซึ่งเปลี่ยนรูปทรงไปเป็นอย่างอื่น คงเหลือของเดิมแต่ฝากับตัวไม้หน้าบันอยู่ท่อน ๑ คงเป็นเพราะตำหนักทองนี้ทิ้งร้างทรุดโทรมอยู่ตลอดสมัยอันหนึ่ง จนจวนจะปรักหักพังหมด มีผู้เสียดาย จึงไปรื้อเอาฝาและตัวไม้ที่ยังเหลืออยู่มาปรุงปลูกถวายเป็นพุทธบูชา เพราะฉะนั้นรูปทรงตำหนักจึงไม่เหมือนของเดิม และมีรอยซ่อมแซมเป็นฝีมือช่างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ดังเช่นรูปเทวดาที่บานประตูฝาประจันห้อง และเขียนลายสีที่กระดานกรุจั่วฝาประจันห้องเป็นพระพุทธรูปต่างๆ อันเข้าใจได้ชัดว่าเป็นของเขียนเมื่อมาปลูกไว้ในวัดแล้ว เหตุที่เอามาปลูกไว้ที่วัดไทรก็คงเป็นด้วยเจ้าอธิการวัดไทรในครั้งนั้น ได้เป็นผู้อำนวยการย้ายตำหนักนี้มาปฏิสังขรณ์ ทำนองจะเอามาสร้างเป็นหอสวดมนต์ จึงได้ปลูกไว้ในกุฏีสงฆ์

วินิจฉัยเรื่องตำหนักทองที่วัดไทร เห็นว่าเรื่องตำนานจะเป็นดังแสดงมา การที่พระสงฆ์วัดไทรเอาใจใส่รักษาตำหนักทองไว้ก็ดี และที่พระครูถาวรสมณวงศ์ได้ปฏิสังขรณ์วัดมาจนบัดนี้ก็ดี สมควรจะได้รับความสรรเสริญข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าท่านผู้ใดได้ไปเห็นคงจะอนุโมทนาไม่เว้นตัว.

ชุมนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่อง ตำหนักทองที่วัดไทร

ภาพและที่มา www.bloggang.com


ตำหนักทองที่วัดไทร, ตำหนักทองที่วัดไทร หมายถึง, ตำหนักทองที่วัดไทร คือ, ตำหนักทองที่วัดไทร ความหมาย, ตำหนักทองที่วัดไทร คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu