สนอง ฐิตะปุระ ประดิษฐ์เรือหางยาวในปี 2475 จากการถอยเรือยนต์เข้าจอด แล้วเผอิญเกียร์เรือเสีย จึงทำให้รู้ว่าเครื่องเรือมีเพียงเพลากับใบจักรก็พอแล้ว
สุชีพ รัตรสาร ประดิษฐ์เรือหางยาวในปี 2476 จากการใช้เรือแจวเข้าไปในคลองวังหินแถวเสนานิคม แล้วใช้เวลานานมาก จึงคิดว่าถ้าได้เครื่องมาติดท้ายเรือก็จะสะดวกขึ้น จึงเกิดความคิดใช้เครื่องสูบน้ำมาเป็นกำลังฉุดให้ใบพัดเดินเรือ เพราะเรือติดท้ายเครื่องในสมัยนั้นราคาแพงมาก
สมัย กิตติกูล ประดิษฐ์เรือหางยาวในปี 2493 ด้วยความที่เป็นช่าง จึงอยากทดลองเอาเครื่องยนต์มาติดท้ายเรือ
สุขุม จิรวาณิช - ชาญชัย ไพรัชกุล ประดิษฐ์เรือหางยาวในปี 2484 และ 2482 ตามลำดับ ทั้งสองมีความคิดคล้ายกัน คือทำอย่างไรจึงจะได้เรือสักลำที่วิ่งในลำน้ำได้อย่างรวดเร็ว และมีราคาถูก โดยไม่ต้องใช้แรงคนพายอีกต่อไป
ทั้ง 5 คนที่ผมกล่าวข้างต้นได้รับรางวัลในปี 2527 ในฐานะกลุ่มผู้ประดิษฐ์เครื่องเรือหางยาวขึ้นสำเร็จ เป็นการให้รางวัลย้อนหลัง เนื่องจากแต่ละคนได้มีแนวความคิดในการประดิษฐ์เรือหางยาวที่ต่างเวลากัน และไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
หลักการที่ทั้ง 5 นักประดิษฐ์ไทยคิดมานี้กลับเป็นเรื่องที่คล้ายคลึงกันมาก คือ การนำเครื่องยนต์มาใช้กับเรือเพื่อให้แล่นได้เร็วขึ้น
แนวความคิดนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมทางน้ำในสมัยก่อนที่ใช้เพียงเรือพาย ที่ล่าช้า และบรรทุกของได้น้อย
เรือหางยาวรุ่นแรกถือกำเนิดบนรูปร่างของเรือพายที่นำเครื่องยนต์ เช่น เครื่องสูบน้ำ หรือเครื่องฉุดระหัดเก่า มากลึงต่อกับเพลายาวที่มีปลายเป็นใบพัด แล้วนำไปติดตั้งที่ช่วงกลางของลำเรือ ให้ใบพัดจุ่มลงไปในน้ำพอควร อาศัยกำลังของเครื่องยนต์ทีส่งตรงจากเครื่องถึงใบพัด เพื่อตัดปัญหาเรื่องเกียร์ที่มีราคาแพงและหายาก ฉุดใบพัดให้หมุน ใบพัดจะผลักน้ำในระยะไกลกว่าตัวเรือพอสมควร ทำให้เกิดแรงดันให้เรือวิ่งได้
เรือหางยาวรุ่นแรกนั้นยังต้องใช้หางเสืออยู่
ต่อมาได้มีการพัฒนาเรือหางยาวให้มีรูปร่างสั้นลงเป็นเรือ 2 ตอน คือ ท่อนหลังเรียบเป็นแผ่นกระดานยกหักฉากกับท่อนแรกซึ่งเป็นส่วนที่เรียวงอน เวลาวิ่งท่อนหัวตรงส่วนที่ยกหักจากท่อนหางจะติดน้ำ ส่วนท่อนหางจะสัมผัสน้ำเล็กน้อย
พัฒนาการขั้นต่อมาได้ทำเป็นเรือบรรทุกที่มีรูปร่างคล้ายเรือ 2 ตอน เพียงแต่มีการขยายส่วนหน้าให้กว้าง หนา และยาวขึ้นมาอีกเล็กน้อย เพื่อให้จุผู้โดยสารมากขึ้น ที่นั่งราว 9-10 คน
ถัดมาก็มีการขยายขนาดเป็นเรือใหญ่ขนาด 10 ศอกขึ้น ถึง 20 ศอกขึ้น และนำเครื่องรถสิบล้อมาใช้
เรือหางยาวในปัจจุบัน เมื่อนำเครื่องยนต์จากรถยนต์มาติดตั้ง ก็สามารถวิ่งได้ในแม่น้ำลำคลอง หนองบึง ชายทะเล ในน้ำตื้นก็ได้ รวมไปถึงในที่ที่มีขยะได้อย่างสบาย ด้วยคุณสมบัติที่ใช้งานง่าย ใช้ได้ทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ สามารถเปลี่ยนเรือได้ตามใจชอบ อีกทั้งเครื่องยนต์มีกำลังสูงและแล่นได้เร็ว ทำให้สามารถยกใบพัดพ้นที่ตื้นเขินได้ การบังคับเรือก็ง่าย เพียงแค่โยกใบพัดหรือใบจักรก็สามารถบังคับเลี้ยวได้ตามใจชอบ ไม่ต้องมีหางเสือเหมือนในอดีต และถ้าถอดหางออกก็ใช้เป็นเครื่องสูบน้ำได้ทันที
ปัจจุบัน เรือหางยาวได้รับความนิยมใช้เป็นทั้งเรือหาปลา เรือรับส่งคนโดยสาร เรือบรรทุกสินค้าผลิตผลทางการเกษตร และเป็นรถโดยสารประจำบ้านชาวบรรดาชาวน้ำทั้งหลายที่ไม่มีทางออกถนน
นอกจากนั้น เรือหางยาวได้กลายเป็น “เรือแข่ง” ที่ได้รับความนิยมตามประเพณีต่าง ๆ อีกด้วย
เรือหางยาวหรือเรือพายในสมัยก่อนมีไว้เพื่อสัญจรตามลำคลอง ใช้ในการข้ามฟาก หรืออาจมีการบรรทุกสิ่งของและคนบ้าง แต่ในจำนวนที่ไม่มาก ลักษณะของการใส่สิ่งของหรือสัมภาระต่าง ๆ ก็มักใส่ไว้ในส่วนของหางเรือ ซึ่งจะทำให้หัวเรือเชิดขึ้น การที่หัวเรือเชิดขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนคือจะทำให้เรือวิ่งได้เร็วขึ้น และปลอดภัยกว่าการที่มีหัวเรือต่ำ แต่ปัจจุบันผู้คนมักใช้เรือหางยาวมาเป็นเรือโดยสารบ้าง เป็นเรือบรรทุกบ้าง แล้วก็ใส่น้ำหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้หัวเรือเชิดสูงกว่าปกติและเกิดอันตรายได้ เมื่อคนขับมองไม่เห็นทางและมีการเอี้ยวตัวชะโงกหน้ามามองทาง จะทำให้การทรงตัวและทิศทางของเรือเปลี่ยนไป
เป็นอันตรายพอสมควรอย่างที่คุณนักเดินทางว่ามา แต่จะแก้ไขอย่างไร นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ๆ อาจจะแก้ปัญหานี้ได้
ที่มา www.bloggang.com