ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การรบที่ร่มเกล้า, การรบที่ร่มเกล้า หมายถึง, การรบที่ร่มเกล้า คือ, การรบที่ร่มเกล้า ความหมาย, การรบที่ร่มเกล้า คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การรบที่ร่มเกล้า

การรบระหว่าง ไทย-ลาว ที่บ้านร่มเกล้า
๑. มูลเหตุของการรบ
ยุทธการบ้านร่มเกล้า เกิดขึ้นในกรณีพิพาทระหว่าง ไทย-ลาว ณ บ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก อันเนื่องมาจากปัญหาเส้นเขตแดน ซึ่งไทยและลาวอ้างสนธิสัญญาคนละฉบับ โดยลาวได้ส่งกำลังทหารเข้ามายึดพื้นที่ส่วนที่เป็นปัญหา ไทยจึงได้ส่งกำลังทหารเข้าผลักดัน และเกิดการปะทะกันด้วยกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายอย่างหนักหน่วง ในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๓๐ - กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ และมีการหยุดยิง ของทั้งสองฝ่ายเมื่อ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
๒. ปัญหาเส้นเขตแดน จุดก่อของสงคราม
ตามสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ กำหนดให้น้ำเหืองเป็นเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส แต่ปีถัดมาพนักงานสำรวจทำแผนที่พบว่ามีน้ำเหืองสองสาย ฝรั่งเศสตัดสินเอาเอง (เข้าใจว่าไม่ได้แจ้งให้กรุงเทพฯ ทราบ) ว่าเลือกสายน้ำที่ทำให้ฝรั่งเศสได้ดินแดนมากขึ้นหน่อย เขตแดนตรงนั้นไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งปี ๒๕๓๐ ทางลาวอ้างว่าบริเวณบ้านร่มเกล้าเป็นของลาว เนื่องจากแผนที่คนละฉบับกับไทย ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดพลาดในการสำรวจครั้งนั้น ภายหลังพบว่าลำน้ำเหืองมี ๒ สาย ซึ่งไม่ตรงกับแนวลำน้ำในปัจจุบัน ซึ่งปรากฏในแผนที่สหรัฐทำให้รัฐบาลไทยช่วงสงครามเวียดนาม อีกทั้งลำน้ำในปัจจุบันเรียกว่าเหืองป่าหมัน ซึ่งไม่ใช่ชื่อที่เคยปรากฏในเอกสารใด ๆ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๔๕๑

๒.๑ จุดที่น่าสังเกตของเหตุการณ์ครั้งนี้
๒.๑.๒ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวคือปี ๒๕๒๘-๒๕๓๐ ทหารเวียดนาม-เฮงสัมริน ได้ส่งกองกำลังจำนวนมากเข้ากวาดล้างกองกำลังเขมรฝ่ายต่อต้าน ตามแนวชายแดนไทยที่จังหวัดอุบลราชธานี จนเกิดกรณีการรบกันอย่างหนักกับไทยที่ช่องบก ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.น้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ชายแดนซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน ๓ ประเทศ คือ ไทย ลาว และกัมพูชา มีทิวเขาพนมดงรัก กั้นเป็นแนวเขตแดน เนื่องจากพื้นที่ทางฝั่งเขมรเป็นที่ราบต่ำ ทหารเวียดนามจึงได้รุกล้ำเข้ามาตั้งฐานที่มั่นลึกเข้ามาในเขตไทยประมาณ ๕ กม. มีการปรับปรุงดัดแปลงที่ตั้งเพื่อรับการโจมตีจากทางไทยเป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นการตัดการติดต่อระหว่างไทยกับกองกำลังกลุ่มต่อต้านในการสนับสนุนยุทธปัจจัยการรบที่ช่องบก ที่ช่องบกนั้นมีการปะทะกันอย่างหนักระหว่างไทยและเวียดนาม (ไทยใช้กำลังส่วนต่าง ๆ จากกองทัพภาคที่ ๒ ประกอบด้วย ๕ กองพันทหารราบ, ๑ ร้อยลาดตระเวนระยะไกล, ๒๗ กองร้อยทหารพราน, ๑ ร้อยรถถัง สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และกำลังทางอากาศ โดยเครื่องบิน เอ ๓๗ และเอฟ ๕) การรบมีความรุนแรงไม่น้อยไปกว่าที่บ้านร่มเกล้า การปฏิบัติการกวาดล้างกองกำลังทหารเวียดนามที่ช่องบก ตั้งแต่ ม.ค.๒๕๒๘-ธ.ค.๒๕๓๐ ทหารไทยสูญเสีย กำลังพล ๑๐๙ นาย บาดเจ็บ ๖๔๔ นาย ยึดอาวุธจากฝ่ายเวียดนามได้จำนวนมาก (ตัวเลขที่เปิดเผยจากทางการไทย) ทหารเวียดนามเสียชีวิตประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน จากการรบในเขมรและชายแดนไทยตั้งแต่บุกเข้ามาจนถอนออกไป บางส่วนถูกจับเป็นเชลยและหนีทัพมอบตัวกับไทยประมาณ ๕๐๐ คน
จุดที่น่าสังเกตเรื่องหนึ่งก็คือการรบครั้งนี้มีการเตรียมการอย่างดี ทหารเวียดนามมีอาวุธและระบบการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยมาก คาดว่าได้รับมาการสนับสนุนจากรัสเซีย ( ปี ๒๕๒๒ เวียดนามตีเขมรแดงแตกและถอยไปตั้งฐานที่ชายแดนไทย แถบเทือกเขาพนมมาลัย และเกิดการรบเรื่อยมาในเขมร โดยฝ่ายเขมรต่อต้านคือ เขมรแดง ได้จีนสนับสนุน กลุ่มซอนซาน และเจ้าสีหนุ (มีไทย สหรัฐ ฝรั่งเศสให้การสนับสนุน) กับทหารเวียดนาม ผสมกับเขมรกลุ่มเฮงสัมริน มีนายฮุนเซน เป็นผู้นำซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นเขมรแดงมาก่อน แต่แตกคอกันและไปเข้ากับเวียดนาม นำทหารเวียดนามมาขับไล่เขมรแดงออกไป)
นอกจากนี้ยังมีรายงานจากบางหน่วยของกองทัพบกว่าทหารเวียดนามมีการใช้อาวุธเคมีในบริเวณดังกล่าวด้วย ซึ่งมีการยืนยันจากทหารเขมรในการปะทะหลายครั้งว่ามีการโปรยหรือทิ้งสารบางอย่างลงมา ซึ่งมีผลต่อผิวหนังและระบบหายใจ นอกจากนั้นแหล่งน้ำในบริเวณดังกล่าวยังเต็มไปด้วยสารพิษ จากการปะทะและกวาดล้างทหารเวียดนามในเนิน ๕๖๕,๔๐๘,๕๐๐,๓๘๒ พบหน้ากากและชุดสำหรับป้องกันอาวุธเคมี ด้วย
๒.๑.๓ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ากรณีพิพาทระหว่างไทยกับลาวครั้งนี้เป็นแรงผลักดันที่ลาวได้รับจากเวียดนามและโซเวียต ซึ่งพยายามขัดขวางการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ และเป็นหนึ่งในแผนตัดขาดและยึดภาคอีสานของไทยตามยุทธการตัว L (L Operation) และรวมภาคอีสานของไทย ลาว เขมร เวียดนาม เป็นสหพันธ์อินโดจีน โดยมีเวียดนามเป็นผู้นำ
ลักษณะภูมิประเทศรูปตัวแอลใหญ่คือพื้นที่ป่าภูเขาบริเวณรอยต่อจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ทอดตัวยาวลงมาทางใต้ตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ มาบรรจบกันบริเวณเขาใหญ่ บริเวณรอยต่อ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระบุรี ซึ่งทอดตัวยาวมาจากทิศตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก เขาบรรทัด เขากำแพง และบรรจบกันที่ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
๒.๑.๔ ในช่วงดังกล่าวบางรายงานแจ้งว่ามีทหารเวียดนามในลาวประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน และในเขมรประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน ซึ่งอาจจะต้องการเปิดศึก ๒ ด้าน ให้ไทยพะว้าพะวงทั้งการรุกที่บ้านร่มเกล้าตีเจาะมาทางเหนือ และตีรุกเข้ามาที่ช่องบกทางใต้ เพื่อตัดและยึดภาคอีสาน เลยหากรณีมาอ้าง เพื่อทำการรบ
๒.๑.๕ จากการปะทะกันระหว่างทหารไทยและลาวนั้น มีรายงานจากบางหน่วยแจ้งว่าฝ่ายลาวมีทหารต่างชาติบัญชาการรบ อาจเป็นคนรัสเซีย และถูกทหารไทยยิงตายไปหลายคน (กองทัพไทยไม่ได้ให้ข้อมูลกับเรื่องนี้มากนัก) จากการปะทะหลายครั้งบางหน่วยรายงานว่า ทหารที่เข้าใจว่าเป็นทหารลาว บางคนพูดร้องสั่งการเป็นภาษาเวียดนาม คาดว่าเป็นกองกำลังผสมระหว่างเวียดนามและลาวที่รบกับไทย ในการรบที่บ้านร่มเกล้านี้จึงไม่ใช่กรณีพิพาทระหว่างไทยกับลาวธรรมดา
๒.๑.๖ ระบบอาวุธและการติดต่อสื่อสารในการรบที่ทางฝ่ายลาวใช้นั้น ทันสมัยมาก สามารถรู้พิกัดที่ตั้งปืนใหญ่ของไทย และยิงตอบกลับอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีการรบกวนระบบการสื่อสารของทหารไทย ซึ่งกองทัพประชาชนลาวคงไม่มีระบบที่ทันสมัยอย่างนี้
๒.๑.๗ ที่ตั้งบนเนิน ๑๔๒๘ มีการดัดแปลงการตั้งรับอย่างดี บังเกอร์เป็นคอนกรีต เสริมเหล็ก ลักษณะเป็นเนินเขาบีบแคบ ในการเข้าตีต้องเข้าตีจากด้านหน้าอย่างเดียว ทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบในการรบ หากจะต้องทำการรบในกรอบปกติ
๒.๑.๘ ข้อกล่าวหาของลาวต่อไทยอีกอย่างหนึ่งคือ ลาวกล่าวหาว่ามีบริษัทคนไทยบุกรุกเข้าไปตัดไม้และชักลากไม้ของลาวเข้ามาในอาณาเขตไทย ทหารลาวต้องการเงินค่าไม้ เมื่อไม่ได้รับจึงดำเนินการในลักษณะรุกรานดังกล่าว แต่บางรายงานก็กล่าวว่ามีคนไทยบางคนสมคบกับทหารลาวในพื้นที่ทำธุรกิจไม้เถื่อนจากลาวเข้ามาในไทย มีการติดต่อค้าขายกันมานาน ก่อนเกิดเหตุมีการคดโกงกันขึ้น คือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายไทยไม่ยอมจ่ายค่าไม้เถื่อนให้กับทหารลาวในวงเงินประมาณ ๕ ล้านบาท ทหารลาวจึงทำการเผารถแทรกเตอร์ รถบรรทุก และรถจี๊บเป็นการตอบแทน ซึ่งมีหลายฝ่ายของไทยกล่าวว่า การตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว เพื่อเป็นการเสริมเรื่องไทยรุกล้ำแดนลาว และยังเข้าไปตัดไม้ด้วย เพื่อหาเหตุผลในการรุกราน

ลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญของสงครามบ้านร่มเกล้า
..................ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๒๐ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)เคลื่อนไหวรุนแรงที่จะยึดอำนาจรัฐ พื้นที่ติดต่อเขตลาวในเขตนี้ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเผ่าม้ง ใช้เป็นพื้นที่หลบซ่อนและปฏิบัติการ เพราะสามารถข้ามลำน้ำเหืองเข้ามาในเขตไทยได้ง่าย และบริเวณพื้นที่นี้กลายเป็นยุทธบริเวณอันสำคัญระหว่างทหารกับ พคท. ชาวม้งซึ่งเป็นแนวร่วมกับ พคท.ถูกปราบปรามอย่างหนัก หนีข้ามลำน้ำเหืองเข้าไปในเขตลาว
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สถานการณ์ในอินโดจีนเปลี่ยนแปลง ประกอบกับนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ ของรัฐบาลไทยคือใช้ยุทธวิธี “กวนป่า ล้อมบ้าน” ใช้ยุทธศาสตร์ “การเมืองนำทหาร” ทำให้ชาวม้งตัดสินใจกลับเข้ามาตามโครงการเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย กองทัพภาคที่ ๓ ได้ตัดถนนสายยุทธศาสตร์และแนวชายแดนจาก อ.นาแห้ว จ.เลย ขึ้นไปสิ้นสุดที่บ้านร่มเกล้า กลายเป็นเขตสัมปทานป่าไม้ มีการจัดตั้งชุดทหารพรานคุ้มครองที่ ๓๔๐๕ ขึ้น
..................๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ ทหารลาวยกกำลังเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งไทยอ้างว่าอยู่ในเขต อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ทำลายรถแทรกเตอร์ของบริษัทป่าไม้เอกชนเสียหาย ๓ คัน มีผู้เสียชีวิต ๑ คน หายสาบสูญ ๑ คน ทหารพรานชุด ๓๔๐๕ เข้าปะทะกับทหารลาว
..................๑ มิถุนายน ๒๕๓๐ ทหารลาวเข้าโจมตีม้งที่บ้านร่มเกล้า โดยอ้างว่าเป็นการกวาดล้างม้งที่เคลื่อนไหวต่อต้านทางการลาว (กลุ่มกองกำลังต่อต้านลาว ซึ่งมีการจัดตั้งในสมัยสงครามเวียดนาม ผู้นำคือนายพลวังเปา เพื่อใช้ต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือและลาวแดง ปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวในภาคเหนือของลาว บางพื้นที่ทหารลาวยังไม่สามารถควบคุมได้ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีการปะทะระหว่างทหารลาวและลาวฝ่ายต่อต้านหลายครั้ง เช่น ที่ด่านวังเต่าติดชายแดนไทยเมื่อไม่นานมานี้ และลาวกล่าวหาไทยว่าให้การสนับสนุน บางรายงานแจ้งว่าม้งกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากม้งที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศ) และมีทหารลาวอีกชุดหนึ่งยกกำลังข้ามพรมแดนเข้ามาที่เขตบ้านนาผักก้าม และบ้านนากอก อ.นาแห้ว จ.เลย ยิงราษฎรไทยตาย ๑ คน จับกุมตัวไป ๖ คน หนีรอดมา ๑ คน โดยกล่าวหาว่าราษฎรเหล่านั้นลักลอบเข้าไปตัดไม้ในลาว
..................๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ ทหารลาวประมาณ ๒๐๐ นาย เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของทหารพรานชุดคุ้มครองที่ ๓๔๐๕ ที่บ้านร่มเกล้า (บางรายงานแจ้งว่าทหารลาวประมาณ ๑ กองพัน ซึ่งมีประมาณ ๘๐๐ คน เข้าโจมตี โดยการระดมยิงด้วยเครื่องยิงลูกระเบิดจรวดอาร์พีจี และปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังอย่างหนัก ก่อนจะโหมกำลังเข้าตี ตามกลยุทธ์ของคอมมิวนิสต์ ที่จะบุกเข้าตีข้าศึกด้วยกำลังมากกว่า ๑๐ เท่า และกองทัพภาคที่ ๓ ได้รายงานด่วนไปยังกองทัพบกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น)
..................๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ สถานีวิทยุลาวเสนอบทสัมภาษณ์ประธานคณะปกครองเมืองบ่อแตน แขวงไทรบุรี กล่าวหาบริษัททำไม้เอกชนของไทยกับฝ่ายทหารไทยว่าได้ร่วมกันสร้างเส้นทางเข้าไปตัดไม้ในลาว และได้เรียกร้องให้ไทยยุติการกะทำดังกล่าว รวมทั้งกล่าวหาฝ่ายไทยว่าใช้กำลังทหารเข้ารุกรานเบียดบังเอาดินแดนของลาวไป
..................ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ๒๕๓๐ ทหารไทยเคลื่อนกำลังเข้าประจำการในพื้นที่ที่เกิดปัญหาทั้งจากทหารราบ ทหารม้า ทหารพราน และหน่วยปืนใหญ่ เช่นเดียวกับทางลาวก็มีการเคลื่อนย้ายทหารและอาวุธจำนวนมาก ทหารไทยเข้าตีและทำลายเนินต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ที่ทหารลาวมาตั้งฐานอยู่ เพื่อยึดจุดยุทธศาสตร์
..................๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ กองทัพภาคที่ ๓ เปิดยุทธการภูสอยดาว โหมการรบอย่างรุนแรงทั้งทางภาคพื้นดินและทางอากาศ โดยส่งเครื่องบินขับไล่เอฟ ๕ อี ไปทิ้งระบิดในยุทธภูมิอย่างหนัก การสู้รบยังคงต่อเนื่องและรุนแรงยังคงดำเนินอยู่ ตัวเลขของความเสียหายของทั้งสองฝ่ายไม่เป็นที่เด่นชัด บางรายงานแจ้งว่าทางลาวเสียหายอย่างหนักที่โรงพยาบาลเมืองไทรบุรีของลาวเต็มไปด้วยทหารที่บาดเจ็บ จนล้นโรงพยาบาล
..................๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๐ กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าลาวมีความประสงค์ที่จะให้มีการเจรจาเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ หลังจากการเจรจาสองครั้งที่ผ่านมาคือครั้งแรก ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๐ ครั้งที่สอง ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ ประสพความล้มเหลว (หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าทุก ๆ ครั้งที่ฝ่ายลาวเกิดการสูญเสียในการรบอย่างหนัก จะยื่นเจรจา เพื่อให้ทางไทยชะลอการรุก และทำการเสริมกำลังของฝ่ายลาว และปรับปรุงการตั้งรับ)
..................๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๐ กองทัพภาคที่ ๓ ออกปฏิบัติการกวาดล้างเข้าโจมตีฐานทหารลาวเกิดการปะทะกันอย่างหนักของทั้งสองฝ่าย อย่างหนักหน่วง
..................๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๐ กระทรวงการต่างประเทศลาวเชิญอุปทูตไทยเข้ารับบันทึกช่วยจำ มีเนื้อความว่า เครื่องบินไทยละเมิดน่านฟ้าลาว และทำการทิ้งระเบิดพื้นที่แขวงไทรบุรีของลาว รวมทั้งมีการยิงปืนใหญ่ใส่บริเวณต่างๆของลาวอีกด้วย
สำหรับในกรณีนี้นั้นจากการวิเคราะห์ของหลายฝ่ายกล่าวว่า เนื่องจากเนิน ๑๔๒๘ เป็นที่ตั้งที่ดี การเข้าตีต้องเข้าตีจากด้านหน้า ทางลาวตั้งฐานปืนใหญ่ด้านหลัง ซึ่งเป็นแนวเขาซับซ้อน ยากต่อการค้นหา และยิงตอบกลับ ในช่วงนั้นมีข่าวว่า กองทัพไทยประกาศว่าหากจะทำการบุกข้ามแม่น้ำโขงเข้าไปก็ต้องทำหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งมีผู้ใหญ่หลายฝ่ายออกมามาปรามในเรื่องนี้ เพราะไม่อยากให้สถานการณ์รุนแรงจนกลายเป็นสงครามเต็มขั้นระหว่างไทยกับลาว และจากการรบในช่วงแรกที่ทางไทยเข้าตีตามกรอบคือเข้าทางด้านหน้าได้รับการต้านทานอย่างหนัก และยากต่อการเคลื่อนกำลัง จึงมีการใช้เครื่องบินรบ เอฟ ๕ เข้าไปทิ้งระเบิดบนเนิน ๑๔๒๘ และที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในเขตลาว จนเสียหายยับเยิน เช่น สนามบินบ้านน้ำทาของลาว จากภาพถ่ายทางอากาศเนิน ๑๔๒๘ ราบเป็นหน้ากลองไม่มีต้นไม่เหลืออยู่เลย เพราะถูกระดมยิงจากปืนใหญ่ และการทิ้งระเบิดจากเอฟ ๕ แต่ทางลาวมีที่ตั้งแข็งแรง และเตรียมการตั้งรับอย่างดี บางรายงานกล่าวว่าเมื่อไม่สามารถเข้าไปตรง ๆ ได้ กองทัพไทย ได้ส่งหน่วยสงครามพิเศษ แทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ของลาว เพื่อทำการโจมตีระบบส่งกำลังบำรุง และค้นหาที่ตั้งปืนใหญ่ ทำให้การปฏิบัติการของลาวถูกกดดันมากยิ่งขึ้น (ซึ่งทางการไทยได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการรบใหม่เนื่องจากมีการสูญเสียกำลังพล และไม่สามารถรุกคืบหน้าได้)
..................๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๐ กองทัพบกออกแถลงการณ์ว่าขณะนี้กองทัพปลดปล่อยประชาชนลาวได้เคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธอย่างต่อเนื่องเข้ามาในพื้นที่เมืองบ่อแตน แขวงไทรบุรี และได้เข้ามาในพื้นที่ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก เพื่อลาดตระเวนวางกับระเบิดและทุ่นระเบิด พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ บินด่วนเพื่อตรวจสถานการณ์ และหาหนทางคลี่คลายสถานการณ์
..................๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๐ นายกิทอง วงสาย เอกอัครราชทูตลาวประจำองค์การสหประชาชาติ ยื่นหนังสือประท้วงไทยต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ โดยมีใจความว่า ไทยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแขวงไทรบุรี และมีการระดมยิงปืนใหญ่เข้าไปในพื้นที่อย่างรุนแรง ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ ที่ผ่านมา
..................๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๐ สำนักข่าวเอพี รายงานว่าการรบระหว่างไทย-ลาว ในวันที่ ๑๕ ธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นการต่อสู้ที่รุนแรงที่สุดของทั้งสองฝ่าย (มีรายงานจากบางหน่วยที่เข้ายึดฐานทหารลาวได้แจ้งว่าพบชุดป้องกันอาวุธเคมี แบบเดียวกันกับที่ยึดได้จากทหารเวียดนามในช่องบก บางรายงานแจ้งว่าทางการลาวมีแผนจะใช้อาวุธเคมีด้วย และในช่วงนั้นหนึ่งกรมทหารราบของลาว จะมี ๑ กองร้อยอาวุธเคมีประจำการอยู่)
..................๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๐ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประกาศยืนยันว่าพื้นที่บ้านร่มเกล้าเป็นของไทย โดยหลักฐานมีแน่ชัด และได้กล่าวถึงเรื่องการเจรจาปรับความสัมพันธ์นั้น ทางไทยตั้งเงื่อนไขให้ลาวเปลี่ยนตัวหัวหน้าผู้แทนการเจรจา เพราะผู้แทนลาวมักไม่มีความจริงใจในการเจรจา เอาการเจรจาเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อทำลายไทย
..................๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๐ รายงานข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า ไทยได้เสนอผ่านประเทศที่สาม ให้ลาวแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศลาวคนใหม่แทนท้าวคำพัน สิมาลาวงศ์ ซึ่งมีพฤติกรรมชัดแจ้งหลายอย่างที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ผู้นำไทย และไม่สร้างบรรยากาศการแก้ไขปัญหาพิพาทให้ดีขึ้น
..................๕ มกราคม ๒๕๓๑ นักศึกษาลาวและพระภิกษุจำนวนหลายร้อยคนเดินขบวนประท้วงไทย ผ่านหน้าสถานทูตไทยประจำเวียงจันทน์ เรียกร้องให้ไทยยุติการโจมตี และให้ไทยถอนกำลังออกจากบ้านร่มเกล้าโดยเร็ว
..................๒๐ มกราคม ๒๕๓๑ ใกล้บริเวณเนิน ๑๔๒๘ ทหารลาวซุ่มโจมตีรถบรรทุกทหารช่างและทหารพรานเกิดความเสียหายครั้งสำคัญยิ่งของไทย
..................๒๑ มกราคม ๒๕๓๑ มีการปรับยุทธวิธีการสู้รบครั้งใหญ่ต่อยุทธการภูสอยดาว เพราะไทยเริ่มมีการสูญเสียมากขึ้น และเพื่อลดความสูญเสียดังกล่าว จึงมีการปรับปรุงยุทธการรบให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อยุทธภูมิที่เป็นอยู่ (ทางไทยเริ่มมีการใช้การรบนอกแบบ และได้ผล สร้างความกดดันต่อการปฏิบัติการของฝ่ายลาวเป็นอย่างมาก)
..................๒๒ มกราคม ๒๕๓๑ พลเอกเปรม ติณสูรานนท์ นายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ รมว.กระทรวงกลาโหม พลเอกประจวบ สุนทรางกูร รมว.กระทรวงมหาดไทย พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พร้อมทหารระดับสูงอีกหลายนาย เดินทางไปดูสถานการณ์การรบในพื้นที่ และเน้นให้ทหารผลักดันกองกำลังทหารลาวไปให้เร็วที่สุด แต่ก็ให้ทหารทำการรบในขอบเขตจำกัดที่สุด
..................๒๖-๒๗ มกราคม ๒๕๓๑ ได้มีการเคลื่อนไหวของประชาชนนับแสนคน ในประมาณ ๒๐ จังหวัดทั่วประเทศ ทำการเคลื่อนไหวประท้วงลาวอย่างต่อเนื่อง เช่นที่ เลย หนองคาย มุกดาหาร สงขลา ระนอง และลำปาง เป็นต้น
๒๗ มกราคม ๒๕๓๑ กระทรวงการต่างประเทศนำทูตประจำประเทศไทยจาก ๒๒ ประเทศพร้อมทั้งสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ไปดูสถานการณ์ในพื้นที่บ้านร่มเกล้าท่ามกลางการต่อสู้อย่างหนักของกองกำลังทั้งสองฝ่าย
๒๙-๓๐ มกราคม ๒๕๓๑ สถานการณ์ตึงเครียดรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณเนินยุทธศาสตร์ ๑๔๒๘นายชีวิน สุทธิสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้มีคำสั่งปิดพรมแดนด้านอำเภอปากชม เชียงคาน ภูเรือ ด่านซ้าย และนาแห้ว เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายลาวลักลอบเข้ามาซื้อสินค้ายุทธปัจจัยอันจะเป็นประโยชน์ในการรบของลาวต่อไป (ฐานทหารลาวที่ถูกไทยตีแตกพบว่าอาหารมีการซื้อมาจากฝั่งไทย ด้านจังหวัดเลย)
..................๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ การปฏิบัติการทางอากาศของเครื่องบิน เอฟ-๕ อี อย่างหนัก และรุนแรงในวันๆ หนึ่งมีเที่ยวบินไม่ต่ำกว่า ๓๐ เที่ยวบินรบ
..................๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เครื่องบินขับไล่ เอฟ-๕ อี ของไทยลำหนึ่งถูกยิงตกขณะบินปฏิบัติการเหนือยุทธภูมิร่มเกล้า โดยจรวดแซม ๗ ทำจากโซเวียต แต่นักบินปลอดภัย นับเป็นความสูญเสียที่สำคัญอีกครั้งของฝ่ายไทย เครื่องบินถูกยิงที่บริเวณส่วนหางและเครื่องยนต์ด้านขวา ทำให้เครื่องยนต์ระเบิดกลางอากาศ ได้รับความเสียหายอย่างหนักไม่สามารถบังคับเครื่องบินต่อไปได้ จำเป็นต้องสละเครื่องบินเหนือพื้นที่ที่ฝ่ายตรงข้ามครอบครองอยู่และได้ถูกควบคุมตัวโดยกำลังฝ่ายตรงข้าม จนกระทั่งในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ได้รับนักบินทั้งสองนายกลับประเทศไทย รายงานบางกระแสแจ้งว่าทหารเวียดนามเป็นคนยิง โดยยิงพร้อมกันทีละ ๗ กระบอก การรบครั้งนี้ไทยยังเสียเครื่อง โอวี๑๐ ไปอีก ๑ เครื่องด้วย และมีเครื่องเอฟ ๕ อีกเครื่องหนึ่งโดนจรวดแซมยิงเข้าที่เครื่องยนต์ท้าย ในการเข้าโจมตีของเครื่องเอฟ ๕ จำนวน ๔ เครื่อง ที่เป้าหมายในการเข้าโจมตีทิ้งระเบิดต่อเป้าหมายครั้งหนึ่ง แต่นักบินสามารถนำเครื่องกลับมาลงที่สนามบินได้อย่างปลอดภัย และกองทัพอากาศทำการแก้ไข ซ่อมแซมนำกลับมาบินได้อีกครั้ง
..................๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ หลังการสูญเสียเครื่องบิน เอฟ - ๕ อี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศกร้าวที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ อีกทั้งย้ำว่าทุกครั้งที่ทหารไทยที่เสียชีวิต ๑ คน ทหารลาวต้องเสียชีวิตอย่างน้อย ๓ คน และกล่าวถึงว่าถ้าหากจำเป็นจะเปิดศึกข้ามโขงก็ต้องทำ นายฮาเวียร์ เปเรซ เดอ เชอลาร์) (Javier Perez de Cuella ) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้มีสาส์นถึง พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา ขอให้ฝ่ายไทยและลาวใช้ความอดกลั้นให้ถึงที่สุดเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก และขอให้หาทางยุติปัญหาโดยสันติโดยเร็วที่สุดและพร้อมที่จะช่วยเหลือในการเจรจายุติปัญหาดังกล่าว
..................๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ มีการเปิดเผยโดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงของกองทัพบกว่า ลาวและกลุ่มประเทศอินโดจีน มีแผนตั้งสหพันธ์อินโดจีน และจะมีการส่งกำลังรบจากลาวบุก ๑๖ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แล้วตัดส่วนที่อยู่เหนือบริเวณ ๓ จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย เป็นรูปตัว L เพื่อเป็นฐานที่มั่นของขบวนการดาวเขียวที่เวียดนามหนุนอยู่
..................๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ มีการประชุม และปรับยุทธการการรบของฝ่ายไทยอย่างเต็มที่ หลังจากมีการสูญเสียมากขึ้นโดยเน้นการประสานงานระหว่างหน่วยต่างๆ ในพื้นที่การรบ และที่สำคัญคือกำลังจากไทยเสียเครื่องบินรบไปในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
..................๙-๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ คณะผู้แทนฝ่ายไทย นำโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปลาว ซึ่งหลายฝ่ายให้ความเห็นว่าเป็นการเดินทางไปทำงาน ให้รัฐบาลไทยในการหาทางหาข้อยุติในปัญหาพิพาทด้วยการเจรจา
..................๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ นายไกรสอน พรมวิหาร นายกรัฐมนตรีลาวได้ส่งสาสน์ถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทย เสนอให้ทหารทั้งสองฝ่ายพบแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้โดยเร็ว ลาวพร้อมที่จะส่งคณะผู้แทนทหารมากรุงเทพมหานคร และยินดีที่จะต้อนรับคณะผู้แทนทหารของประเทศไทย ที่จะเดินทางไปนครเวียงจันทน์เพื่อปรึกษาหารือ ดังนี้
๑. ให้ทั้งสองฝ่าย หยุดยิงและแยกกำลังทหารออกไกลจากกันโดยทันทีแล้วตั้งคณะกรรมการทหารผสมของทั้ง ๒ ฝ่ายขึ้น เพื่อตรวจตราการหยุดยิง และแยกกำลังทหารทั้งสองฝ่ายออกไกลจากกันโดยเด็ดขาด
๒. ให้ทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงและหาวิธีการแก้ไขปัญหาชายแดนในบริเวณดังกล่าวนี้ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลทั้งสองฝ่ายต่อไป
๓. ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอข้อร้องเรียนไปยังเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อขอความอุปถัมภ์ให้แก่การปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ตอบตกลงตามข้อเสนอของฝ่ายลาว และได้กำหนดวันพบปะหารือระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายขึ้น ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
..................๑๖-๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ คณะผู้แทนลาวนำโดย พล.อ.สีสะหวาด แก้วบุญพัน พร้อมคณะเดินทางถึงไทยเพื่อเจรจาปัญหากับคณะผู้แทนฝ่ายไทย โดยมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าคณะ หลังการเจรจาตกลงได้มี แถลงการณ์ร่วมไทยลาวดังนี้
๑. ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มหยุดยิงในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
๒. ทั้งสองฝ่ายจะแยกทหารออกจากกันฝ่ายละ ๓ กิโลเมตร ภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาหยุดยิง
๓.ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานทางทหารเพื่อพิสูจน์ตรวจตราและประสานการปฏิบัติตาม ข้อตกลง ข้อ ๑ และ ข้อ ๒ อย่างเคร่งครัด
๔. ให้ทั้งสองฝ่าย สั่งทหารของตนให้หลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอย่างเคร่งครัด เน้นการประสานความเข้าใจ
..................๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เริ่มวันแรกของการหยุดยิง และแยกทหารออกจากกัน มีการประชุมฝ่ายปฏิบัติการหยุดยิงทั้งสองฝ่ายที่บ้านร่มเกล้า
..................๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ การแยก และถอนทหารของทั้งสองฝ่ายออกจากพื้นที่การสู้รบ ๓ กิโลเมตร เริ่มขึ้น
..................๒๓-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และคณะเดินทางไปลาว เพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้แทนลาวมาไทย และเป็นการไปปรึกษาหารือเพื่อหาหนทางแก้ไขให้เพิ่มระดับสันติภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากจะพบกับผู้บริหารประเทศแล้ว พลเอกชวลิต ยังได้เข้าพบเสด็จเจ้าสุภานุวงศ์ ประธานสมัชชาซึ่งมีสายสัมพันธ์กับตัวท่านเองในฐานะ อา-หลาน และตกลงที่จะเจรจาครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๓-๔ มีนาคม ๒๕๓๑ ที่เวียงจันทน์
..................๓-๔ มีนาคม ๒๕๓๑ คณะผู้แทนไทยนำโดย ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปเจรจากับลาวที่เวียงจันทน์โดยฝ่ายลาวมี พลเอกทองไหล กมมะสิด รองหัวหน้ากรมใหญ่การเมืองกองทัพประชาชนเป็นหัวหน้า แต่ยังตกลงกันไม่ได้ในประเด็นของแผนที่ที่จะนำเอามาอ้างชี้เขตแดน และประเด็นเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการปักปันพรมแดน
..................๖-๑๒ มีนาคม ๒๕๓๑ มีการออกเผยแพร่ใบปลิวลงท้ายว่า “ทหารม้า” โจมตีการปฏิบัติการที่ล้มเหลว และการสร้างความสูญเสียของกองทัพอากาศต่อฝ่ายไทยด้วยกันเอง โดยแจ้งว่าครึ่งหนึ่งของความสูญเสียมาจากการโจมตีผิดเป้าหมายของกองทัพอากาศไทยเอง (สำหรับการสูญเสียของทหารม้า จากตัวเลขที่เปิดเผยของกองพันทหารม้าที่ ๘ ที่จัดกำลัง กองพันทหารม้าผสม ปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศชายแดนไทย - ลาว กรณีบ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลกนั้น กำลังพลของหน่วยได้สละชีวิตในการป้องกันอธิปไตยของชาติไทยไว้ จำนวนทั้งสิ้น ๒๔ นาย และมีผู้ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ จำนวน ๓ นาย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ายอดสูญเสียสูงมาก แค่หน่วยเดียวถึง ๒๕% ของยอดสูญเสียที่ช่องบก ถึงแม้จะมีรายงานว่าจำนวนทหารลาวที่เสียชีวิตจากการรบครั้งนี้มีจำนวนหลายเท่าของทหารไทย กระแสข่าวการสูญเสียดังกล่าวยังคงสร้างความสงสัยให้กับหลายคน)

ในกรณีการทิ้งระเบิดใส่ฝ่ายเดียวกันเองนี้ เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก มีรายงานหลายกระแส เช่น
๑. เกิดจากความผิดพลาดในการประสานงานระหว่างกองกำลังภาคพื้น และเครื่องบินที่จะเข้าทิ้งระเบิด เช่น ทางภาคพื้นมีการแจ้งยกเลิกการโจมตี แต่กองทัพอากาศไม่ได้รับแจ้ง เมื่อมีการแจ้งยืนยันการทิ้งระเบิดที่เป้าหมาย มีการแจ้งกลับว่าให้ทำการโจมตีได้
๒. เกิดการรบติดพันรุนแรง และประชิด ไม่สามารถระบุเป้าหมายที่แน่นอนได้ (ในสงครามเวียดนามหรือกรณีอิรักครั้งล่าสุดยอดทหารสหรัฐที่เสียชีวิตจากการยิงหรือทิ้งระเบิดฝ่ายเดียวกันมีจำนวนมาก)
๓. ทหารไทยยึดฐานทหารลาวได้ก่อนกำหนดการณ์ และมีการเคลื่อนกำลังปะทะติดพัน ไม่สามารถแยกแนวรบที่ชัดเจนได้ ตอนที่นักบินทิ้งระเบิดลงไปโจมตี
๔. ทางลาวทำการรบกวนระบบการสื่อสารของไทย มีการดักฟัง ทำการถอดรหัส และรวมทั้งมีการเลียนเสียงการสั่งการ ซึ่งได้รับอุปกรณ์ที่ทันสมัยจากรัสเซีย
๕. เกิดการขัดแย้งกันในกองทัพ และสายทางการเมือง ที่ต้องการแย่งอำนาจการเมืองจากทางทหาร เลยทำการสร้างความแตกแยกในกองทัพ และมีการให้ข้อมูลแก่ฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับแผนการรบ ๆลๆ เนื่องจากในช่วงนั้น ส.ส. หลายคน อดีตเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาก่อนและมีความสัมพันธ์กับทหารบางกลุ่ม บางคนเคยเป็นสมาชิกของเขมรแดง หลังจากนโยบาย ๖๖/๒๓ จึงเข้ามาต่อสู้ทางการเมือง อีกทั้งฝ่ายทหารยังแตกแยกเรื่องการบังคับบัญชา
๖. การวางแผนการรบที่ผิดพลาด ขาดความยืดหยุ่นในการรบและการตั้งรับ และเรื่องยุทโธปกรณ์ที่ไม่พร้อม รวมทั้งการประเมินกำลังและขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้ามต่ำไป


บทเรียนและการเปลี่ยนแปลงที่ได้จากสงครามครั้งนี้
๑. หลังจากที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประกาศนโยบาย เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า มีการไปเยี่ยมเยียนกันของผู้นำทางทหารของไทย ที่ลาว และเวียดนาม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ รวมทั้งลดความตึงเครียดทางการทหารระหว่างกัน ปัจจุบันไทยกับลาวมีการร่วมมือกันมากขึ้นในด้านต่าง ๆ และลาวยึดไทยเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจ แทนการเดินตามเวียดนาม แต่ลาวก็ดำเนินนโยบายกับไทยอย่างระมัดระวัง เพราะกลัวไทยครอบงำและเข้าแทรกแซงทางสังคม และวัฒนธรรม เนื่องจากขนบธรรมเนียมและประเพณีที่ใกล้เคียงกัน
๒. กองทัพบกได้ทำการปรับปรุงกำลังรบให้มีความคล่องตัวในการเคลื่อนที่เข้าหาพื้นที่ที่เกิดปัญหา ปรับลดกำลังคนลงตามภัยคุกคามที่เปลี่ยนไป และเพิ่มระบบอาวุธให้มีความทันสมัยและคล่องตัวมากขึ้น ตามนโยบาย "จิ๋วแต่แจ๋ว" รวมทั้งมีการจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว
๓. แนวทางในการป้องกันประเทศเปลี่ยนไป มีการดำเนินการของฝ่ายทหารและการเมืองเป็นระบบมากขึ้น ประสานการทำงานกัน โดยฝ่ายทหารทำการรบและสร้างความได้เปรียบและอำนาจการต่อรอง ส่วนฝ่ายการเมืองคือกระทรวงการต่างประเทศจะทำการเจรจา เมื่อมีกรณีปัญหาตามแนวชายแดนกองทัพจะส่งทหารเข้าไปในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นหน่วยที่มีความคล่องแคล่ว และมีอำนาจในการยิงสูง ตรวจหาและตอบโต้กลับทันที เข้าตีและยึดพื้นที

การรบที่ร่มเกล้า, การรบที่ร่มเกล้า หมายถึง, การรบที่ร่มเกล้า คือ, การรบที่ร่มเกล้า ความหมาย, การรบที่ร่มเกล้า คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu