ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การเลี้ยงสุกร, การเลี้ยงสุกร หมายถึง, การเลี้ยงสุกร คือ, การเลี้ยงสุกร ความหมาย, การเลี้ยงสุกร คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 3
การเลี้ยงสุกร

          ปัจจุบันการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยได้มีการพัฒนาการด้านพันธุ์อาหารสัตว์ การจัดการและการสุขาภิบาล จนทัดเทียมกับต่างประเทศ การเลี้ยงสุกรภายในประเทศ แม้จะมีฟาร์มใหญ่ ๆ แต่ก็ยังมีเกษตรกรรายย่อยที่ทำการเลี้ยงสุกรรายละ 1-20 ตัว ตามหมู่บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก เกตรกรรายย่อยดังกล่าวจำเป็นจะต้องได้รับความรู้ในด้านการเลี้ยงสุกรอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้นำไปพัฒนาการเลี้ยงสุกรอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้นำไปพัฒนาการเลี้ยงสุกรของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำรายได้ให้กับครอบครัว และยังจะได้ประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรให้ได้ผลดีด้วย 

ปัจจัยที่จะทำให้การเลี้ยงสุกรประสบความสำเร็จประกอบด้วย 
          สุกรพันธุ์ดี  อาหารดี  โรงเรือนดี  การจัดการเลี้ยงดูดี  การป้องกันโรคดี


เหตุผลในการเลี้ยงสุกร
 -    สุกรสามารถเลี้ยงได้ในจำนวนน้อย เป็นฟาร์มเล็ก ๆ
 -    ในการเลี้ยงสุกรต้องการพื้นที่เพียงเล็กน้อย
 -    การเลี้ยงสุกรใช้แรงงานน้อย เลี้ยงง่าย
 -    ใช้เศษอาหารและของเหลือต่าง ๆ เป็นอาหารสุกรได้
 -    มูลสุกรใช้เป็นปุ๋ยอย่างดี และใช้กับบ่อเลี้ยงปลา เพื่อเพิ่มผลผลิตของการเลี้ยงปลา
 -    สุกรให้ลูกดก ขยายพันธุ์ได้เร็ว
 -    การเลี้ยงสุกรเป็นกิจการที่ให้ผลกำไรดี สามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 6 เดือน



การเติบโตของสุกรขุน

ตารางแสดงน้ำหนัก อัตราการเจริญเติบโต ปริมาณอาหารของสุกรขุน

อายุของสุกร
(วัน) น้ำหนักสุกร
(กิโลกรัม) อัตราการเจริญเติบโต
(กรัม/วัน) ประสิทธิภาพ
การใช้อาหารสมทบ อาหารที่กิน/ตัว/วัน
(กิโลกรัม) ปริมาณอาหารสมทบ
(กิโลกรัม) 30 6.5 150 - 0.30 0.4 42 9.0 330 1.5 0.50 5.0 60 15.0 500 1.6 1.0 15.0 70 22.0 600 1.8 1.4 27.0 82 30.0 650 2.2 1.5 45.0 94 40.0 700 2.3 2.0 67.0 106 50.0 720 2.3 2.2 90.0 120 60.0 750 2.4 2.4 125 133 70.0 780 2.5 2.6 155 145 80.0 800 2.6 2.8 190 158 90.0 800 30. 3.0 225 170 100.0 800 3.0 3.0 260

ที่มา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์



การเลี้ยงดูสุกร

การจัดการพ่อสุกร  
          พ่อสุกรที่จะนำมาใช้เป็นพ่อพันธุ์ ควรมีอายุ 8 เดือนขึ้นไป ให้อาหารโปรตีน 16 % ให้กินอาหารวันละ 2 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับสภาพของพ่อสุกรด้วยว่าไม่อ้วนและผอมเกินไป 

การจัดการแม่สุกร  
          ให้อาหารโปรตีน 16% ให้กินอาหารวันละ 2 กิโลกรัม แม่สุกรสาวควรมีอายุ 7-8 เดือน น้ำหนัก 100-120 กิโลกรัม จึงนำมาผสมพันธุ์ (เป็นสัดครั้งที่ 2-3) ผสมพันธุ์ 2 ครั้ง (เช้า-เช้า , เย็น-เย็น) เมื่อผสมพันธุ์แล้วควรลดอาหารให้เหลือ 1.5-2 กิโลกรัม เมื่อตั้งท้องได้ 90-108 วัน ควรเพิ่มอาหารเป็น 2-2.5 กิโลกรัม และเมื่อตั้งท้องได้ 108 วันคลอดลูก ให้ลดอาหารลงเหลือ 1-1.5 กิโลกรัม (ปกติสุกรจะตั้งท้องประมาณ 114 วัน) แม่สุกรควรอยู่ในสภาพปานกลาง คือ ไม่อ้วน หรือผอมเกินไป แม่สุกรจะให้ลูกดีที่สุดในครอกที่ 3-5 และควรคัดแม่สุกรออกในครอกที่ 7 หรือ8 (แม่สุกรให้ลูกเกินกว่าครอก ที่ 7 ขึ้นไป มักจะให้จำนวนลูกสุกรแรกคลอด มีชีวิต และจำนวนสุกรหย่านมลดลง)

การจัดการแม่สุกรก่อนคลอด  ระวังอย่าให้แม่สุกรเจ็บป่วยหรือท้องผูก ควรจัดการ ดังนี้
          - แม่สุกรก่อนคลอด 7 วัน ให้อาบน้ำด้วยสบู่ทำความสะอาดแม่สุกร โดยเฉพาะราวนม บั้นท้าย อวัยวะเพศ แล้วพ่นอาบด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค (ละลายน้ำ ตามอัตราส่วน) และพ่นยาพยาธิภายนอก แล้วนำเข้าคอกคลอด 
          - ก่อนแม่สุกรคลอด 4 วัน ควรลดอาหารลงเหลือ 1-1.5 กิโลกรัม/วัน ควรผสมรำละเอียดเพิ่มอีก 20 % ในอาหาร โดยให้แม่สุกรกิน 4-6 วันก่อนคลอด หรือผสมแม็กนีเซียมซัลเฟต (ดีเกลือ) ประมาณ 10 กรัม โดยคลุกอาหารให้ทั่วให้แม่สุกรกินวันละครั้ง 1-3 วันก่อนคลอด เพื่อป้องกันแม่สุกรท้องผูก ช่วยลดปัญหาแม่สุกรคลอดยาก 
          - ดูแลแม่สุกรอย่างใกล้ชิด อย่าให้แม่สุกรป่วย เช่น สังเกตรางอาหารว่าแม่สุกรกินอาหารหมดหรือไม่ ถ่ายอุจจาระเป็นเม็ดกระสุน ท้องเสีย หอบแรง เป็นต้น ถ้าแม่สุกรป่วยก็ควรรักษาตามอาการ 
          - คอกคลอด ก่อนนำแม่สุกรเข้าคอกคลอด คอกคลอดต้องสะอาด ราดหรือพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และโรยปูนขาว ต้องมีอาการพักคอกไว้อย่างน้อย 7 วัน ซึ่งจะเป็นการตัดวงจรของเชื้อโรค

การจัดการลูกสุกรเมื่อคลอด 
          แม่สุกรก่อนคลอด 24 ชั่วโมง จะมีน้ำนมไหลออกมาจากเต้านม ลูกสุกรแรกคลอดควรดูแลปฏิบัติ ดังนี้

          - ใช้ผ้าที่สะอาดหรือฟางเช็ดตัวลูกสุกรให้แห้ง ควักเอาน้ำเมือกในปากและในจมูกออก 
          - การตัดสายสะดือ ใช้ด้ายผูกสายสะดือให้ห่างจากพื้นท้องประมาณ 1-2 นิ้ว ตัดสายสะดือด้วยกรรไกร ทารอยแผลด้วยทิงเจอร์ไอโอดีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค 
          - ตัดเขี้ยวออกให้หมด (เขี้ยวมี 8 ซี่ ข้างบน 4 ซี่ ข้างล่าง 4 ซี่ ) เพื่อป้องกันลูกสุกรกัดเต้านมแม่สุกรเป็นแผลในขณะแย่งดูดนม 
          - รีบนำลูกสุกรกินนมน้ำเหลืองจากเต้านมแม่สุกรในนมน้ำเหลืองจะมีสารอาหาร และภูมิคุ้มกันโรค ปกตินมน้ำเหลืองจะมีอยู่ประมาณ 36 ชั่วโมง หลังคลอด จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นน้ำนมธรรมดา

การจัดการลูกสุกรแรกคลอด-หย่านม 
          - ลูกสุกรในระยะ 15 วันแรก ต้องการความอบอุ่น 
          - ลูกสุกรอายุ 1-3 วัน ให้ฉีดธาตุเหล็กเข้ากล้ามเนื้อตัวละ 2 ซี.ซี เพื่อป้องกันโรคโลหิตจาง
          - ลูกสุกรอายุ 10 วัน เริ่มให้อาหารสุกรนมหรืออาหารสุกรอ่อน (อาหารเลียราง) เพื่อฝึกให้ลูกสุกรกินอาหาร โดยให้กินทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง
          - ลูกสุกรทั่วไปหย่านมเมื่ออายุ 28 วัน (4 สัปดาห์)

การจัดการลูกสุกรเมื่อหย่านม 
          - หย่านมลูกสุกรเมื่ออายุ 28 วัน น้ำหนักประมาณ 6 กิโลกรัม ควรย้ายแม่สุกรออกไปก่อนให้ลูกสุกรอยู่ในคอกเดิมสัก 3-5 วัน แล้วจึงย้ายลูกออกไปคอกอนุบาล เพื่อป้องกันลูกสุกรเครียด และควรใช้วิตามินหรือยาปฏิชีวนะละลายน้ำให้ลูกสุกรกินหลังจากหย่านมประมาณ 3-5 วัน
          - ลูกสุกรอายุ 6 สัปดาห์ ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกรและฉีดวัคซีนซ้ำทุก ๆ 6 เดือน ในสุกรพ่อแม่พันธุ์(วัคซีนมีความคุ้มโรคได้ประมาณ 6-12 เดือน)
          - ลูกสุกรอายุ 7 สัปดาห์ ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย่ และฉีดวัคซีนซ้ำทุก ๆ 4-6 เดือน ในสุกรพ่อแม่พันธุ์ (วัคซีนมีความคุ้มโรคได้ประมาณ 4-6 เดือน)
          - ลูกสุกรอายุ 2 เดือนครึ่ง ควรให้ยาถ่ายพยาธิ และให้ซ้ำหลักจากให้ครั้งแรก 21 วัน ในสุกรพ่อแม่พันธุ์ควรถ่ายพยาธิทุก ๆ 6 เดือน

การจัดการแม่สุกรหลังคลอด 
          - ฉีดยาปฏิชีวนะ ให้แม่สุกรหลังคลอดทันทีติดต่อกันเป็นเวลา 1-2 วัน เพื่อป้องกันมดลูกอักเสบ (ยาเพนสเตร็ป, แอมพิซิลิน, เทอร์รามัยซิน เป็นต้น
          - หลังคลอด 1-3 วัน ควรให้อาหารแม่สุกรน้อยลง(วันละ 1-2 กิโลกรัม) และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนให้อาหารเต็มที่เมื่อหลังคลอด 14 วัน (ให้อาหารวันละ 4-6 กิโลกรัม) จนกระทั่งแม่สุกรหย่านม ระวังอย่าให้แม่สุกรผอมเมื่อหย่านม ซึ่งจะมีผลทำให้แม่สุกรไม่สมบูรณ์พันธุ์ และโทรมมาก แม่สุกรหลังหย่านมควรขังรวมกันคอกละประมาณ 2-5 ตัว (ขนาดใกล้เคียงกัน) เพื่อให้เกิดความเครียดจะเป็นสัดง่ายและจะเป็นสัดภายใน 3-10 วัน ถ้าแม่สุกรเป็นสัดทำให้การผสมพันธุ์ได้เลย 
          - ปัญหาแม่สุกรไม่เป็นสัด สุกรสาวหรือเม่สุกรหลังจากหย่านมแล้วไม่เป็นสัด หรือเป็นสัดเงียบ จะพบเห็นได้บ่อย ๆ มีวิธีแก้ไข ดังนี้
              1. ต้อนแม่สุกรมาขังรวมกัน เพื่อให้เกิดความเครียด
              2. เลี้ยงพ่อสุกรอยู่ใกล้ ๆ หรือให้พ่อสุกรเข้ามาสัมผัสแม่สุกรบ้าง

การผสมพันธุ์เพื่อให้ได้ลูกดก 
              1. คัดเลือกสายแม่พันธุ์ เช่น ควรใช้แม่พันธุ์ เช่น ควรใช้แม่พันธุ์ลาร์จไวท์ แม่พันธุ์แลนด์เรซ หรือลูกผสมแลนด์เรซ-ลาร์จไวท์
              2. ผสมเมื่อแม่สุกรเป็นสัดเต็มที่ ซึ่งจะทำให้ไข่ตกมากจะอยู่ช่วงวันที่ 2-3 ของการะเป็นสัด ผสม 2 ครั้ง ห่างกัน 24 ชี่วโมง (เช้า-เช้า , เย็น-เย็น)
              3. ถ้ามีพ่อสุกรหลายตัว และผลิตสุกรขุนเป็นการค้าควรใช้พ่อสุกร
              4. แม่สุกรหลังจากหย่านมแล้ว 1 วัน ควรเพิ่มอาหารให้จนกระทั่งเป็นสัด โดยให้อาหารวันละ 3-4 กิโลกรัม (ไม่เกิน 15 วัน) เพื่อทำให้ไข่ตกมากขึ้น และเมื่อผสมพันธุ์แล้ว ให้ลดอาหารแม่สุกรลงเหลือวันละ 1.5-2 กิโลกรัม ตามปกติ



การให้อาหารสุกร

          สุกรเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว ไม่สามารถย่อยอาหารที่มีเยื่อใยมากได้ดีเหมือนสัตว์กระเพาะรวม (โค กระบือ) ระบบการย่อยอาหารที่มีหน้าที่ย่อยอาหารที่สุกรกินเข้าไปให้แตกตัวจนมีขนาดเล็กลง เพื่อสามารถดูดซึมไปใช้เสริมสร้างส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สุกรมีความต้องการโภชนะนั้น หมายถึง สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายประกอบด้วย 6 ชนิด 

          - น้ำ ให้น้ำสะอาดแก่สุกรตลอดเวลา ปกติสุกรจะกินน้ำประมาณ 5-20 ลิตรต่อวัน ตามขนาดของสุกร
          - โปรตีน มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของสุกร ช่วยสร้างเนื้อเยื่อและเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญของร่างกายสัตว์ โปรตีนประกอบด้วย กรดอะมิโนอยู่ประมาณ 30 ชนิด กรดอะมิโนที่จำเป็น 10 ชนิด ได้แก่ ไลซีน เมทไธโอนีน ทริพโตแฟน อาร์ยินิน ฮิสทิดีน ไอโซลูซีน ลูซีน อาลานีน ทรีโอนีน และวาลีน
          - คาร์โบไฮเดรท เป็นอาหารที่ให้พลังงานที่เรียกง่าย ๆ ว่าอาหารแป้งและน้ำตาล รวมไปถึงเยื่อใยที่เป็นส่วนประกอบในวัตถุดิบอาหารสัตว์
          - ไขมัน เป็นอาหารที่ให้พลังงาน เช่น เดียวกับคาร์โบไฮเดรด แต่ให้พลังงาน
          - แร่ธาตุ แร่ธาตุเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุด สำหรับการทำงานของร่างกาย มีหน้าที่เสริมสร้างกระดูก และต้านโรค ในร่างกายสุกรมีแร่ธาตุ มากกว่า 40 ชนิด ส่วนที่จำเป็นและสำคัญต่อร่างกาย ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม คลอรีน เหล็ก ทองแดง ไอโอดีน กำมะถัน สังกะสี แมงกานีส โคบอลท์ โปตัสเซียม แมกนีเซียม และซิลิเนียม
          - ไวตามิน เป็นสารประกอบอินทรีย์ มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิต ไวตามินมีมากถึง 50 ชนิด ส่วนที่จำเป็นในร่างกายสัตว์ ได้แก่ ไวตามิน เอ ดี อี บี 2 (ไรโบฟลาวิน) ไนอาซีน กรดแพนโทธินิค โคลีน ไบโอติน และบี 12 เป็นต้น 

วัตถุดิบอาหารสัตว์ 

1.อาหารประเภทโปรตีน ได้มาจากพืชและสัตว์ มีรายละเอียด ดังนี้

1.1 อาหารโปรตีนที่ได้จากพืช ได้แก่
          กากถั่วเหลือง เป็นอาหารโปรตีนจากพืชที่ดีที่สุด ได้มาจากถั่วเหลืองทีสกัดน้ำมันออก มีโปรตีนอยู่ระหว่าง 40-44 % ใช้เป็นอาหารสุกรในรูปของกากถั่วเหลืองอัดน้ำมัน (แผ่นเค็ก) โปรตีนจากกากถั่วเหลืองมีกรดอะมิโนที่จำเป็นสมดุลย์ เหมาะในการใช้เลี้ยงสุกรทุกระยะการเจริญเติบโตในเมล็ดถั่วเหลืองดิบไม่เหมาะแก่การนำมาใช้เลี้ยงไก่ และสุกร ทั้งนี้เพราะเมล็ดถั่วเหลืองดิบมีสารพิษชนิดที่เรียกว่า " ตัวยับยั้งทริปซิน" (Trypsin inhibitor) อยู่ด้วย สารพิษนี้จะมีผลไปขัดขวางการย่อยโปรตีนในทางเดินอาหารถั่วเหลืองที่เหมาะสำหรับใช้ผสมอาหารเลี้ยงสุกรนม อาหารครีพฟีด อาหารสุกรอ่อน อาหารสุกรเล็ก ได้แก่ ถั่วเหลืองอบไขมันสูง (ถั่วเหลืองซึ่งผ่านขบวนการอบให้สุก โดยไม่ได้สกัดน้ำมันออกมี โปรตีน 38 % ) ส่วนสุกรเล็กและสุกรขนาดอื่นทั่วไปนิยมใช้กากถั่วเหลืองสกัดน้ำมันด้วยสารเคมี
          กากถั่วลิสง เป็นผลิตผลพลอยได้จากการสกัดน้ำมันออก มีโปรตีนอยู่ประมาณ 40% กากใช้กาถั่วลิสงอย่างเดียวในอาหารจะทำให้สุกรเจริญเติบโตช้า เนื่องจากความไม่สมดุลย์ของกรดอะมิโน ดังนั้น จึงควรใช้กากถั่วลิสง ถ้ามีความชื้นสูงจะเสียเร็วเนื่องจากถั่วลิสงเป็นพืชที่มีน้ำมันมาก จึงเก็บไว้นานไม่ได้ จะเกิดอาการเหม็นหืนและมีราเกิดได้ง่าย ซึ่งราจะสร้างสารพิษ "อะฟลาท็อกซิน" ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ ดังนั้นควรจะเลือกใช้แต่กากถั่วลิสงที่ใหม่ มีไขมันต่ำ และควรเก็บไว้ในที่ไม่ร้อนและชื้น
          กากเมล็ดฝ้าย เป็นผลผลิตพลอยได้จากการสกัดน้ำมันออกจากเมล็ดฝ้าย จะมีโปรตีนประมาณ 40-45 เปอร์เซ็นต์ การเมล็ดฝ้ายมีสารพิษที่มีชื่อว่า "ก๊อสซิปอล" ซึ่งเป็นสารที่ละลายในน้ำมัน จึงเป็นเหตุให้การใช้อยู่ในขีดจำกัดไม่ควรเกิน 10 % การใช้ในระดับสูงจะทำให้การเจริญเติบโตช้าลง นอกจากนี้การใช้กากเมล็ดฝ้ายควรจะเติมกรดอะมิโนไลซีนสังเคราะห์ลงไปด้วย
          กากมะพร้าว เป็นวัตถุพลอยได้จากโรงงานสกัดน้ำมันมะพร้าว ถ้าอัดน้ำมันออกใหม่ ๆ จะมีกลิ่นหอมน่ากิน มีโปรตีนประมาณ 20% ถ้าใช้กากมะพร้าวในระดับสูงเลี้ยงสุกรระยะการเจริญเติบโตและขุน จะทำให้การเจริญเติบโตของสุกรช้า ดังนั้นควรจะใช้ในระดับ 10-15 %
          กากเมล็ดนุ่น เมื่อสกัดน้ำมันออกแล้วจะมีโปรตีนประมาณ 20% เหมาะที่จะใช้เลี้ยงสุกรรุ่นมากกว่าสุกรระยะอื่น ในปริมาณไม่เกิน 15% กากเมล็ดนุ่นจะทำให้ไขมันจับแข็งตามอวัยวะภายในร่างกายต่าง ๆ เช่น ลำไส้ เป็นต้น

1.2 อาหารโปรตีนที่ได้จากสัตว์ ได้แก่
          ปลาป่น เป็นอาหารโปรตีนที่ได้จากสัตว์ที่ดีที่สุด มีโปรตีนอยู่ระหว่าง 50-60 % คุณภาพของปลาป่นขึ้นอยู่กับชนิดของปลาที่ใช้ทำปลาป่น และสิ่งอื่นปะปนมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งกรรมวิธีการผลิตปลาป่น เช่น ถ้าให้ความร้อนสูง ทำให้คุณค่าทางอาหารต่ำลง ปริมาณกรดอะมิโนในปลาป่นจะต่ำลงเรื่อย ๆ ปลาป่นมีคุณค่าทางอาหารสุงและใช้เลี้ยงสุกรตลอดระยะถึงส่งตลอดระยะถึงส่งตลาดจะทำให้เนื้อมีกลิ่นคาวจัด ดังนั้นจึงควรใช้ในระหว่าง 3-15 %
          เลือดแห้ง ได้จากโรงฆ่าสัตว์ มีโปรตีนค่อนข้างสูง 80% เป็นโปรตีนที่ย่อยยาก ทำให้การเจริญเติบโตของสุกรต่ำลง ควรใช้ร่วมกับอาหารโปรตีนชนิดอื่น ๆ ไม่ควรเกิน 5%
          หางนมผง มีโปรตีนปริมาณ 30-40 % และเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายแต่มีราคาแพง จึงนิยมใช้กับอาหารลูกสุกรเท่านั้น
          ขนไก่ป่น เป็นอาหารที่ได้จากผลิตผลพลอยได้จากโรงงานฆ่าไก่ มีโปรตีนค่อนข้างสูงถึง 85% แต่มีคุณค่าทางอาหารเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นโปรตีนที่ไม่สามารถย่อยได้

2. อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท(แป้งและน้ำตาลให้พลังงาน)
          ปลายข้าว ปลายข้าวและรำละเอียดเป็นผลิตผลพลอยได้จากการสีข้าว ปลายข้าวมีโปรตีน 8% เป็นวัตถุดิบอาหารที่เหมาะในการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ปลายข้าวประกอบไปด้วยแป้งที่ย่อยง่ายเป็นส่วนใหญ่ มีไขมันและเยื่อใยระดับด่ำ (1.0 %) เก็บไว้ได้นาน ตรวจสอบการปลอมปนได้ง่าย ปลายข้าวที่ใช้เลี้ยงสุกร ควรเป็นปลายข้าวเม็ดเล็กปลายข้าวที่มีขนาดใหญ่ควรจะต้องบดให้มีขนาดเล็กลงก่อน แล้วจึงค่อยผสมอาหาร นอกจากนี้ยังมีปลายข้าวนึ่ง (ข้าวเปลือกที่เปียกน้ำ หรือมีความชื้นสูง นำมาอบเอาความชื้นออก สีเอาเปลือกออก ปลายข้าวนึ่งมีสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวปนเหลือง) นำมาเลี้ยงสุกรทดแทนปลายข้าวได้ แต่ต้องพิจารณาเรื่องคุณภาพด้วย เช่น การปนของเมล็ดข้าวสีดำ ซึ่งเมล็ดข้าวสีดำมีคุณภาพไม่ดี
          รำละเอียด มีโปรตีนประมาณ 12% รำละเอียดมีไขมันเป็นส่วนประกอบอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และเป็นไขมันที่หืนได้ง่ายในสภาวะที่อากาศร้อน หากเก็บไว้เกิน 60 วัน ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ รำละเอียดมักจะมีการปลอมปนด้วยแกลบป่น ละอองข้าวหรือดินขาวป่น ทำให้คุณค่าทางอาหารต่ำลง ถ้าเป็นรำข้าวนาปรังควรระวังเรื่องยาฆ่าแมลงที่ปะปนมาในระดับสูง รำสกัดน้ำมันได้จากการนำเอารำละเอียดไปสกัดเอาไขมันออกใช้ทดแทนรำละเอียดได้ดีแต่ต้องระวังเรื่องระดับพลังงาน เพราะรำสกัดน้ำมันมีค่าพลังงานใช้ประโยชน์ได้ต่ำกว่ารำละเอียด รำละเอียดมีเยื่อใยเป็นส่วนประกอบในระดับสูง จึงมีลักษณะฟ่าม ไม่ควรใช้เกิน 30% ในสูตรอาหารรำละเอียดมีคุณสมบัติเป็นยาระบาย โดยเฉพาะสูตรอาหารแม่สุกรอุ้มท้องและเลี้ยงลูก จะช่วยลดปัญหาแม่สุกรท้องผูก
          ข้าวโพด มีโปรตีนประมาณ 8% และมีเยื่อใยอยู่ในระดับต่ำ เป็นวัตถุดิบอาหารที่เหมาะในการผสมเป็นอาหารสุกร ข้าวโพดที่ดีควรเป็นข้าวโพดที่บดอย่างละเอียด ไม่มีมอดกิน ไม่มีสิ่งปลอมปน และที่สำคัญที่สุดจะต้องไม่ขึ้นรา (สารพิษอะฟลาท็อกซิน) และไม่มียาฆ่าแมลงปลอมปน ข้าวโพดสามารถใช้ทดแทนปลายข้าวได้ ข้อเสียในการใช้ข้าวโพดคือ มีเชื้อราและยาฆ่าแมลง เนื่องจากการเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษาไม่ดีพอ
          ข้าวฟ่าง มีโปรตีนประมาณ 11% ข้าวฟ่างโดยทั่วไปจะมีสารแทนนิน ซึ่งมีรสฝาดอยู่ในระดับสูง สารแทนนินมีผลทำให้การย่อยได้ของโปรตีนและพลังงานลดลง ดังนั้นจึงเป็นข้อจำกัดในการใช้ข้าวฟ่าง
          มันสำปะหลัง ใช้เลี้ยงสัตว์ในรูปมันสำปะหลังตากแห้งที่เรียกว่า มันเส้น มีโปรตีนประมาณ 2% มีแป้งมาก มีเยื่อใยประมาณ 4% ข้อเสียของการใช้มันเส้น คือ จะมีลำต้น เหง้า และดินทรายปนมาด้วย ดังนั้นจึงควรเลือกใช้มันเส้นที่มีคุณภาพดี เกรดใช้เลี้ยงสุกร ส่วนหัวมันสำปะหลังสดไม่ควรนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เพราะมีการพิษกรดไฮโดรไซยานิคในระดับสูงมาก และเป็นอันตรายต่อสัตว์ได้ วิธีการลดสารพิษทำได้ 2 วิธี คือ
         ก. ทำเป็นมันเส้น โดยหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผึ่งแดดอย่างน้อย 3 แดด มันเส้นที่มีคุณภาพดี สามารถใช้ทดแทนปลายข้าวได้ ในกรณีปลายข้าวราคาแพง และมันเส้นราคาถูก (ปลายข้าว 1 กิโลกรัม เท่ากับมันเส้น 0.85 กิโลกรัม + กากถั่วเหลือง 0.15 กิโลกรัม)
         ข. ทำเป็นมันหมัก หมักในหลุม หรือถุงพลาสติก ควรหมักอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งจะลดปริมาณสารพิษกรดไฮโดรไซยานิคให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุกร 

3. อาหารประเภทไขมัน
          ไขมันจากสัตว์ ได้แก่ ไขมันวัว ไขมันสุกร ส่วนไขมันจากพืช ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันรำ เป็นต้น สาเหตุที่ต้องใช้ไขมันในสูตรอาหาร เพื่อเพิ่มระดับพลังงานในสูตรอาหารนั้นให้สูงขึ้น ส่วนใหญ่ใช้ในอาหารสุกรเล็ก โดยเติม 2-5 % ในอาหาร ข้อเสียของไขมันมักจะมีกลิ่นหืน และเก็บไว้ได้ไม่นาน

4. อาหารประเภทแร่ธาตุ และไวตามิน
          กระดูกป่น เป็นแหล่งของธาตุแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสที่ดีมาก แต่มีคุณภาพไม่แน่นอน
          ไดแคลเซียมฟอสเฟส ให้ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสทำมาจากกระดูก หรือทำจากหิน โดยนำเอาหินฟอสเฟตมาเผา ปกติจะใช้ไดแคลเซียมฟอสเฟตที่มีฟอสฟอรัส 18% (P18) หรือสูงกว่า
          เปลือกหอยบด ให้ธาตุแคลเซียมอย่างเดียว
          หัวไวตามินแร่ธาตุ หรือพรีมิกซ์ เป็นส่วนผสมของไวตามินและแร่ธาตุปลีกย่อยทุกชนิดที่สุกรต้องการ และพร้อมที่จะนำมาผสมกับวัตถุดิบ อาหารสัตว์อย่างอื่นได้ทันที พรีมิกซ์มีขายตามท้องตลาดทั่วไป 

การให้อาหารสุกรระยะต่าง ๆ 

       - ลูกสุกรระยะดูดนมแม่ เริ่มให้อาหารสุกรนมโปรตีน 22% หรืออาหารสุกรอ่อนโปรตีน 20% เมื่อลูกสุกรมีอายุ 10 วัน ถึงหย่านม (หย่านม 28 วัน) และให้ต่ออีกประมาณ 3 วัน หลังจากหย่านมแล้ว
        - ลูกสุกรระยะหย่านม (หย่านม 28 วัน น้ำหนักประมาณ 6 กิโลกรัม) ให้อาหารสุกรอ่อนโปรตีน 20 % จนถึงอายุ 2 เดือน (น้ำหนักประมาณ 12-20 กิโลกรัม)
       - สุกรระยะน้ำหนัก 20-35 กิโลกรัม ให้อาหารโปรตีน 18% โดยให้สุกรกินอาหารเต็มที่ สุกรจะกินอาหารวันละ 1-2 กิโลกรัม
       - สุกรระยะน้ำหนัก 35-60 กิโลกรัม ให้อาหารโปรตีน 16% สุกรจะกินอาหารวันละ 2-2.5 กิโลกรัม
        - สุกรระยะน้ำหนัก 30 กิโลกรัม-ส่งตลาด ให้อาหารโปรตีน 14-15 % สุกรจะกินอาหารวันละ 2.5-3.5 กิโลกรัม
       -  การให้อาหารสุกรพันธุ์ทดแทน สุกรตัวที่ต้องการจะเก็บไว้ทำพันธุ์(ยกเว้นสุกรขุน ,สุกรทดสอบพันธุ์) ควรจำกัดอาหารเพื่อไม่ให้อ้วนเกินไป เมื่อสุกรน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม ใช้อาหารโปรตีน 16% ให้อาหารวันละ 2.2.5 กิโลกรัม
        - การให้อาหารสุกรพ่อพันธุ์ ให้อาหารโปรตีนประมาณ 15-16 % - พ่อพันธุ์ตัวใหญ่ 150 กิโลกรัมขึ้นไป ให้อาหารวันละ 2-2.5 กิโลกรัม - พ่อพันธุ์ตัวเล็ก 100-150 กิโลกรัม ให้อาหารวันละ 2 กิโลกรัม
       - การให้อาหารแม่สุกรอุ้มท้อง ให้อาหารโปรตีนประมาณ 15-16 % แม่สุกรจะตั้งท้องประมาณ 114 วัน ควรให้อาหารดังนี้ - แม่สุกรสาวทดแทนให้อาหารวันละ 2 กิโลกรัม - แม่สุกรหลังจากผสมพันธุ์ให้อาหารวันละ 1.5-2 กิโลกรัม - แม่สุกรตั้งท้อง 0-90 วัน ให้อาหารวันละ 2 กิโลกรัม - แม่สุกรตั้งท้อง 90-108 วัน ให้อาหารวันละ 2-2.5 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับสภาพแม่สุกรอ้วนหรือผอมด้วย) -แม่สุกรตั้งท้อง 108-114 วัน ให้อาหารวันละ 1-1.5 กิโลกรัม (เมื่อตั้งท้องได้ 108 วัน ให้ย้ายเข้าคอกคลอด)
       - การให้อาหารแม่สุกรหลังคลอด ให้อาหารโปรตีนประมาณ 16% - คลอดลูกแล้ว 0-3 วัน ให้อาหารวันละ 1-2 กิโลกรัม -คลอดลูก 3-14 วัน ให้อาหารวันละ 2-3.5 กิโลกรัม - คลอดลูก 14 วันขึ้นไป ให้อาหารเต็มที่เท่าที่แม่สุกรจะกินอาหารได้ หรือประมาณวันละ 4-6 กิโลกรัม ในกรณีที่แม่สุกรมีลูก 7 ตัวขึ้นไป (ควรให้อาหารแม่สุกรวันละ 3 ครั้ง เป็นอย่างน้อย ดูตามสภาพของแม่สุกร ระวังอย่าให้แม่สุกรผอม)
       - การให้อาหารแม่สุกรหลังหย่านม ให้อาหารโปรตีนประมาณ 15-16 % - แม่สุกรหย่านมในวันแรก ให้อาหารวันละ 1.1.5 กิโลกรัม - แม่สุกรหย่านมจาก 2 วันขึ้นไป จนถึงแม่สุกรเป็นสัด (แต่ไม่ควรเกิน 15 วัน) ให้อาหารวันละ 3-4 กิโลกรัม เพื่อให้แม่สุกรสมบูรณ์พันธุ์เร็วขึ้นและเพิ่มการตกไข่ - แม่สุกรเป็นสัดและผสมพันธุ์แล้ว ลดอาหารลงเหลือวันละ 1.5-2 กิโลกรัม - แม่สุกรไม่เป็นสัดเกิน 15 วัน แสดงว่าแม่สุกรผิดปกติ ให้ลดอาหารลงเหลือวันละ 2 กิโลกรัม และหาวิธีการทำให้แม่สุกรเป็นสัด โดยทำให้แม่สุกรเกิดความเครียด ใช้วิธีต้อนขังรวมกัน (แม่สุกรขนาดน้ำหนักตัวใกล้เคียงกัน) หรือขังสลับคอกทุก ๆ 10 วัน ส่วนใหญ่แม่สุกรก็จะเป็นสัด ถ้าหากปฏิบัติเช่นนี้แล้วภายใน 1 เดือน แม่สุกรยังไม่เป็นสัด ควรคัดแม่สุกรออกไปจากฝูง 

ข้อแนะนำในการเลือกใช้อาหารเลี้ยงสุกร 
            ผสมอาหารใช้เองในฟาร์ม ต้องรู้จักเลือกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดี วัตถุดิบตัวหลัก ๆ ได้แก่ กากถั่วเหลือง ปลาป่น ปลายข้าว ข้าวโพด รำละเอียด และไวตามินแร่ธาตุในรูปของพรีมิกซ์ แล้วนำวัตถุดิบมาผสมตามสูตรและความต้องการของสุกรแต่ละขนาด โดยใช้เครื่อง โดยใช้เครื่องผสมอาหาร หรือ ผสมด้วยมือก็แล้วแต่สะดวก โดยอาศัยหลักผสมจากส่วนย่อยที่มีปริมาณน้อย ๆ ก่อน แล้วจึงผสมเข้ากับส่วนใหญ่ วิธีนี้จะประหยัด สามารถเลือกใช้อาหารราคาถูกและหาได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้มาก ซึ่งในเอกสารนี้ มีสูตรอาหารที่ใชเลี้ยงสุกรตั้งแต่สุกรนมจนถึงสุกรพ่อแม่พันธุ์
            ใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูป ตั้งแต่สุกรนม สุกรอ่อน สุกรเล็ก สุกรรุ่น สุกรขุน และสุกรพันธุ์ ข้อดีคือสะดวกในการใช้และจัดหา ซึ่งอาหารสำหรับสุกรแต่ละขนาด จะมีจำหน่ายตามท้องตลาด ข้อเสียคือ ราคาจะแพง และผู้ใช้ไม่ทราบชัดเจนว่าอาหารเม็ดสำเร็จรูปประกอบด้วยวัตถุดิบอะไรบ้าง
             ใช้หัวอาหารสำเร็จ (ส่วนใหญ่จะมีโปรตีนประมาณ 32-36 % และผสมไวตามินแร่ธาตุไว้ด้วยแล้ว) ใช้ผสมกับปลายข้าว ข้าวโพด รำละเอียด ตามอัตราส่วน น้ำหนักที่ระบุจำนวนวัตถุดิบข้างถุงอาหาร การใช้ในสุกรแต่ละขนาดให้คำนึงถึงเปอร์เซ็นต์โปรตีนในอาหารผสมด้วย 



โรคที่สำคัญในสุกร

โรคอหิวาต์สุกร

          เป็นโรคที่ระบาดรุนแรง เกิดจากเชื้อไวรัส พบว่าเป็นได้กับสุกรทุกอายุ เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยการกินอาหาร กินน้ำ หายใจ หรือโดยทางบาดแผลที่ ผิวหนัง ใช้เวลาฟักตัว 3 วัน ถึง 3 สัปดาห์ แต่โดยทั่วไปประมาณ 7 วัน อาการที่พบคือ มีไข้สูง 105-108 องศาฟาเรนไฮต์ สุกรจะเบื่ออาหาร ซึม เยื่อตาอักเสบ (มีขี้ตา) ท้องผูก (ขี้เป็นเม็ด) และท้องร่วง (ขี้เป็นน้ำ) อาจพบอาการอาเจียนร่วมด้วย ผิวหนังบริเวณ หู คอ ท้อง และด้านในของขาหนีบ จะพบจุดเลือดออกเล็ก ๆ ทำให้ผิวหนังมีสีแดง และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง ในแม่สุกรท้องอาจจะเกิดการแท้งลูก ติดต่อจากสุกรตัวหนึ่งไปยังตัวอื่น ได้รวดเร็วมาก ภายใน 7 วัน อาจเกิดโรคอหิวาต์ได้ทั้งฟาร์มเมื่อสุกรเป็นโรคอหิวาต์แล้ว อัตราการตายสูงถึง 90% และไม่มีทางรักษา 

          การป้องกัน ทำวัคซีนเมื่อลูกสุกรอายุประมาณ 6 สัปดาห์ และสำหรับสุกรพ่อแม่พันธุ์ ควรทำวัคซีนทุก 6 เดือน ห้ามทำวัคซีนกับสุกรที่อ่อนแอหรือ สัตว์ป่วย หรือในสุกรตั้งท้องแก่ใกล้คลอด 

 โรคปากและเท้าเปื่อย

          เป็นโรคติดต่อที่รุนแรง ติดต่อได้อย่างรวดเร็วในสัตว์กีบคู่ (โค, กระบือ , แพะ ,แกะ, สุกร) โรคนี้เป็นได้กับสุกรทุกอายุ อัตราการเกิดโรคสูง แต่อัตราการตายต่ำ เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งในเมืองไทยขณะนี่พบอยู่ 3 ชนิด คือ โอ เอ และเอเชียวัน (ชนิดโอรุนแรงที่สุด) เมื่อเชื้อ โรคเข้าสู่ร่างกายสุกรแล้วจะใช้เวลาในการฟักโรคประมาณ 3-6 วัน สุกรจะเริ่มแสดงอาการป่วยออกมาให้เห็น อาหารที่พบได้คือ มีตุ่มน้ำใสที่บริเวณ ปลายจมูก ปาก ลิ้น ริมฝีปาก เหงือก และผิวหนังบริเวณไรกีบ ต่อมาตุ่มน้ำใสจะแตก นอกจากนี้ยังพบอาการไข้สูง เบื่ออาหาร น้ำลายยืด ขาเจ็บ กีบลอกหลุด และน้ำหนักลด

          การป้องกัน ทำวัคซีนเมื่อลูกสุกรอายุประมาณ 7 สัปดาห์ และทำวัคซีนอีกครั้ง ในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา และสำหรับสุกรพ่อแม่พันธุ์ ทำวัคซีนทุก ๆ 4-6 เดือน  
 
          นอกจากนี้ก็มีโรคติดต่อในสุกรชนิดอื่นซื่งมีความสำคัญ ต้องอาศัยวิธีป้องกันโรค เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคโพรงจมูกอักเสบ โรค ที.จี.อี. ( โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบติดต่อ) โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไฟลามทุ่ง เป็นต้น 
              



การฉีดวัคซีนสุกรพันธุ์

ตารางการทำวัคซีนป้องกันโรคสำหรับสุกรพันธุ์

อายุสุกร ชนิดของวัคซีน ขนาดและวิธีใช้ หมายเหตุ 6 สัปดาห์ อหิวาต์สุกร ฉีดเข้ากล้ามเนื้อตัวละ 1 ซีซี. ต่อไปให้ฉีดวัคซีนป้องกันทุก ๆ 6 เดือน และเมื่อละลายวัคซีนแล้ว ใช้ให้หมดภายใน 1 ชั่วโมง 7 สัปดาห์ ปากและเท้าเปื่อย ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ต่อไปให้ฉีดวัคซีนป้องกันทุก ๆ 4 เดือน


การเลี้ยงสุกร, การเลี้ยงสุกร หมายถึง, การเลี้ยงสุกร คือ, การเลี้ยงสุกร ความหมาย, การเลี้ยงสุกร คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu