ชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics) เป็นศาสตร์แขนงใหม่ในกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ผนวกความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวางทั้งทางด้านการแพทย์ การเกษตร และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาชีวสารสนเทศศาสตร์เป็นผลมาจากความรู้อย่างก้าวกระโดดด้านจีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่งทำให้ได้ลำดับสารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งข้อมูลการแสดงออกของยีน และข้อมูลโปรตีนแบบครบชุดในสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ข้อมูลดังกล่าวที่มีปริมาณมากมายมหาศาล จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางด้านไอทีในการรวบรวมจัดเก็บ ประมวลผล และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบ
แนวโน้มความต้องการบุคลากรด้านนี้มีมากขึ้น แม้ในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ชีวภาพมาก และมีธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพที่เข้มแข็ง เช่น สหรัฐอเมริกาเองก็ยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเร่งสร้างบุคลากรด้านนี้โดยด่วน เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์ข้อมูลสาธารณะที่ได้จากโครงการจีโนมของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายบนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งให้ การค้นพบความรู้ใหม่ๆ เป็นต้นว่า เป้าหมายของยา การค้นหายีนที่ก่อให้เกิดโรค เป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการทำงานให้ห้องปฏิบัติการลงด้วย
หลักสูตรชีวสารสนเทศระดับวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำ หลักสูตรชีวสารสนเทศ ระดับวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ระยะเวลา 2 ปี ขึ้น โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 นับเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย ปัจจุบันมีนักศึกษาแล้ว 4 รุ่นรวม 36 คน โดยนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 10 คน สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2548
นอกจากความรู้พื้นฐานที่จำเป็น รวมถึงการฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษที่ดีแล้ว นักศึกษาในหลักสูตรนี้มีโอกาสฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ การคิด และการสังเคราะห์ความรู้อย่างเป็นระบบ โดยการทำ Internship เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน กับทีมนักวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดนมาร์ก ประเทศเดนมาร์ก, มหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย, มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา, มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ และที่ห้องปฏิบัติการชีวสารสนเทศ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เป็นต้น
ห้องปฏิบัติการในสถาบันต่างๆ เหล่านี้ มีทั้งโจทย์วิจัย เครื่องมือ และวิธีการต่างๆ ทางชีวสารสนเทศศาสตร์ หัวข้องานวิจัยที่ทำกันอยู่มีลักษณะหลากหลาย เช่น มีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบจีโนมข้าว จีโนมกุ้ง การศึกษาวิเคราะห์ดีเอ็นเอของเชื้อก่อโรคฉี่หนู การวิจัยเกี่ยวกับโรคมาลาเรีย การใช้เทคนิคชีววิทยาเชิงระบบในการศึกษากลไกการสร้างแป้งในหัวมันสำปะหลัง เป็นต้น ตัวอย่างงานวิจัยที่นักศึกษารุ่นแรกได้ร่วมทำ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลจากไมโครอาร์เรย์ การคาดหมายโครงสร้างโปรตีนโดยอาศัยซอฟท์แวร์ และการทำโมเดลเพื่อศึกษาปฏิกิริยาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในระดับเซลล์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างเซลล์ เป็นต้น
ขณะนี้นักศึกษารุ่นแรกจำนวน 3 คนได้ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่ไปฝึกงาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของนักศึกษาจากโครงการนี้ นอกจากนี้บริษัททางด้านชีวสารสนเทศศาสตร์จากประเทศสิงค์โปร์ ได้เห็นศักยภาพของบุคลากรด้านนี้ของประเทศ ตกลงใจที่จะมาตั้งบริษัททางด้านดังกล่าวในประเทศไทย โดยรับนักศึกษา 2 คนที่จบรุ่นแรกเข้าทำงาน (นักศึกษาทั้ง 2 คนได้ไปทำ Internship กับบริษัทโดยผ่านทางมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)