ชายแดนเบื้องบูรพา ป่างาม น้ำตกสวย
มากด้วยรอยอารยธรรมโบราณ ย่านการค้าไทย - เขมร
สระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 245 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นชุมชนสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิ และอาณาจักรทวาราวดี โดยจะเห็นได้จากกลุ่มปราสาทโบราณที่มีมากมายอยู่ทั่วจังหวัดและโบราณวัตถุที่หลงเหลือ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความรุ่งเรืองของแผ่นดินในอดีต ให้แก่คนรุ่นหลัง
นอกจากแหล่งโบราณสถานที่น่าศึกษาทางประวัติศาสตร์ จังหวัดสระแก้วยังมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เช่น อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา นอกจากนี้ยังมีแท่งดินประติมากรรมทางธรรมชาติอย่าง "ละลุ" ที่มีรูปลักษณะแปลกตา
สุดชายแดนอรัญประเทศสระแก้วเป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดไปสู่ประเทศกัมพูชา เชื่อมการคมนาคมและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศให้เป็นเส้นทางเดียวกัน มีตลาดโรงเกลือที่เต็มไปด้วยของราคาถูกและสินค้ามือสองจากนานาประเทศเพื่อนบ้าน
สระแก้วเป็นจังหวัดที่74 ของประเทศไทย เดิมมีฐานะเป็นเมืองบริวารของปราจีนบุรี (เมืองประจิมในสมัยโบราณ) และในปี พ.ศ.2476 เมื่อมีการยกเลิกระบบเทศาภิบาล ปราจีนบุรีได้รับการยกฐานะให้เป็นจังหวัด สระแก้วจึงกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้แยกตัวออกมาจากปราจีนบุรี และได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536
จังหวัดสระแก้วมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานนับ 4,000 ปี ตั้งแต่ยุคหินใหม่-ยุคโลหะ โดยมีการค้นพบวัตถุโบราณที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ ในยุคต่อมาก็มีการค้นพบโบราณวัตถุอีก เช่น ที่อำเภออรัญประเทศและอำเภอตาพระยา แสดงหลักฐานว่าสระแก้วเคยเป็นชุมชนสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคเจนละ- ทวารวดี มีอารยธรรมและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีกษัตริย์หรือผู้ครองเมืองที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานและจารึกรูปอักษรปัลลวะต่างๆ ปรากฏที่ปราสาทเขาน้อย เขารัง และช่องสระแจง เป็นต้น โดยเฉพาะจารึกรูปอักษรปัลลวะที่ปรากฏในบริเวณปราสาทเขาน้อยเขตอรัญประเทศซึ่งถือกันว่าเป็นหลักฐานบันทึกศักราชที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มจารึกรุ่นแรกที่พบในประเทศไทย สร้างขึ้นราวปีพุทธศักราช 1180
นอกจากนี้ยังค้นพบหลักฐานความเจริญของอารยธรรมระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-16 ในแถบนี้อย่างมากมาย มีทั้งปราสาทอิฐ ปราสาทหิน เตาเผา เครื่องถ้วย และคูเมืองโบราณที่ยังเหลือร่องรอยปรากฏในปัจจุบัน เช่น จารึกพบที่ปราสาทสด๊กก๊อกธมอีก 2 หลัก ซึ่งในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 ปราสาทสด๊กก๊อกธมได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานของพระศิวะ ดังข้อความในจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ 1 ได้กล่าวถึงว่าในปีพุทธศักราช 1480 พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 โปรดให้นำศิลาจารึกมาปักไว้ที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม เพื่อประกาศห้ามเรียกข้าของเทวสถานแห่งนี้ไปใช้ในกิจการอื่น แต่ให้ข้าของเทวสถานได้บำรุงรักษาและบูชาพระศิวลึงค์หรือรูปเคารพ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ เทวสถานสด๊กก๊อกธมนี้ตลอดไป ส่วนจารึกอีกหลักหนึ่งก็ได้กล่าวสรรเสริญพระเจ้าอาทิตยวรมันที่ 2 ซึ่งได้ทรงบูรณะโบราณสถานแห่งนี้จนสำเร็จพร้อมจารึกที่เกี่ยวกับอารยธรรมและศาสนาเป็นต้น จากจารึกและโบราณสถานที่พบนี้สามารถบ่งบอกให้เราทราบถึงระบบการปกครองของอาณาจักรขอมโบราณบนผืนแผ่นดินสระแก้วแห่งนี้ เปรียบเสมือนมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพชนที่มีคุณค่าเป็นคุณประโยชน์ต่อการศึกษายิ่ง
จังหวัดสระแก้วมีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 7,195 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,496,961 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น7 อำเภอ และ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอตาพระยา อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอคลองหาด กิ่งอำเภอโคกสูง และกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
ที่มา www.tat.or.th