ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินของไทยให้ทันสมัย เช่นเดียวกันกับนานาอารยประเทศ โดยจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่ สุขาภิบาลตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2441
เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475 แล้ว ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 กำหนดให้เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น จึงได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 เมื่อวันที่ 24 เมษายน ต่อมาได้มีประกาศกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ แล้วค่อยขยายไปยังพื้นที่อำเภออื่นๆ ที่มีประชากรหนาแน่นตามหลักเกณฑ์ ก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 มีเทศบาลทั้งสิ้น 149 แห่ง หลังการประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับบทบัญญัติกฎหมายอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือ การที่รัฐบาีลมีนโยบายที่จะพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาล ซึ่งมีโครงสร้างการบริหารงานที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนแปลงฐานะไปเป็นเทศบาลตำบล ทั้ง 980 แห่งทั่วประเทศ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ทำให้เทศบาลทั่วประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม 149 แห่ง เป็น 1,129 แห่ง และเป็น 1,157 แห่ง ณ วันที่ 1 มีนาคม 2549 จำแนกเป็น เทศบาลนคร 22 แห่ง เทศบาลเมือง 117 แห่ง เทศบาลตำบล 1,018 แห่ง คาดว่าจำนวนของเทศบาลจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี
พัฒนาการของเทศบาลเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย วันนี้นายกเทศมนตรีเกือบทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน การบริหารงานแบ่งหน้าที่ระหว่างสภาเทศบาลกับฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน พนักงานเทศบาลในปัจจุบันมีความมั่นคงและก้าวหน้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้าราชการพลเรือนอื่นๆ คำว่า พนักงาน โดยเนื้อแท้ไม่ได้เป็นปัจจัยให้สถานะของความเป็นข้าราชการด้อยลง แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้คนเทศบาลแสดงศักยภาพ และทุ่มเทพลังในการปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วง เกิดประโยชน์แก่ประชาชนตามนโยบายของผู้บริหารทุกระดับ และเป็นไปตามแนวทางแห่งธรรมาภิบาล หรือการบริหารจัดการที่ดี เทศบาลต้องจัดบริการสาธารณะอย่างเต็มความสามารถทุกด้าน เรียกว่าเขตเทศบาลต้องน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ นำสู่คุณภาพชีวิติที่ดี
ด้วยบทบาทหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เชิงบริการของเทศบาลก่อเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2532 กำหนดให้ วันที่ 24 เมษายนของทุกปีเป็นวันเทศบาล นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นไป วันเทศบาล จึงมีความหมายต่อคนเทศบาลที่จะต้องพัฒนาตน พัฒนางาน และก้าวต่อไปอย่างมุ่งมั่นเคียงข้างการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ว่าร่วมคิด ร่วมทำ หรือร่วมตรวจสอบ เพื่อให้บรรลุปรัชญาแห่งรากฐานประชาธิปไตยของเทศบาลคือ เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเทศบาล
1. เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญและความเป็นมาของการก่อกำเนิดเทศบาล
2. เพื่อให้พนักงานเทศบาล ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเทศบาลสามัญ พนักงานครูเทศบาล พนักงานสถานธนานุบาล พนักงานจ้างตามภาระกิจ พนักงานจ้างทั่วไป ได้ตระหนักเห็น ถึงความสำคัญ ของการปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล ตลอดจนให้บุคคลากรต่างๆ ได้มองเห็นความสำคัญ ของการบริการ และการอำนวยความสะดวก สร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาค ให้กับประชาชนที่มาใช้บริการของเทศบาล
3. เพื่อให้บุคลากรเทศบาลมีความรักความผูกพัน ความสามัคคีซึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบเทศบาลทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 1,144 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลนคร 22 แห่ง เทศบาลเมือง 108 แห่ง และเทศบาลตำบล 1,014 แห่ง
ข้อมูลจาก www.chiangraicity.go.th
ภาพจาก www.trangcity.go.th