ชื่ออังกฤษ Cheetah
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acinonyx jubatus
ชื่ออื่น Hunting Leopad
guépard (French)
Gepard (German)
guepardo, chita (Spanish)
jagluiperd (Afrikaans: South Africa)
abo shamani (Amharic: Ethiopia)
fahd (Arabic)
bogolo bogolo (Bournouan)
marukopta (Burkina Faso)
ngulule (Zulu: South Africa)
lengau, letlotse (Setswana: Botswana)
dindingwe, ihlosi (Shona: Zimbabwe)
haramacad, daharab, horkob (Somalia)
ความยาว (ลำตัวและหาง) 140-220 ซม.
น้ำหนัก 40-60 กก.
ความสูง 75-85 ซม.
เขตกระจายพันธุ์ แอฟริกาตะวันออก อิหร่าน
ถิ่นที่อยู่อาศัย ซาวันนา กึ่งทะเลทราย
ปัญหาด้านพันธุกรรม
ในอดีต มีเสือในสกุลเดียวกับเสือชีตาห์หลายชนิด แต่เมื่อราว 10,000-12,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ปลายยุคไพลโตซีน มีเพียงเสือชีตาห์เพียงชนิดเดียวที่เหลือรอดพ้นยุคนั้นมาได้เพียงน้อยนิด เสือที่เหลือจึงมีการผสมพันธุ์กันในหมู่เครือญาติ ความหลากหลายทางพันธุกรรมจึงต่ำ จากการวิเคราะห์พันธุกรรมของเสือชีตาห์ทั้งในธรรมชาติและแหล่งเพาะเลี้ยงพบว่ามีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกันมาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เสือชีตาห์ทุกตัวในทุกวันนี้เกือบเหมือนกัน มีความผันแปรทางพันธุกรรมเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่เสือชนิดอื่นมีความผันแปรราว 10 เปอร์เซ็นต์ หากตัดหนังจากเสือชีตาห์ตัวหนึ่งมาปะบนเสือชีตาห์อีกตัวหนึ่ง หนังแผ่นนั้นก็จะเจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่ถ้าไปทำแบบเดียวกันกับเสือชนิดอื่น หนังนั้นจะแห้งและตายไปในที่สุด ความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ต่ำทำให้เสือชีตาห์ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ยาก ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ จึงมีโอกาสเป็นโรคตายและสูญพันธุ์ได้ง่าย
การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงทำได้ยากมาก ตัวเมียในกรงมักตั้งท้องได้ไม่ง่ายนัก และแม้จะตั้งท้องได้อัตราตายของลูกเสือก็สูง (28-36%) แม้อัตรานี้จะใกล้เคียงกันในเสือและสัตว์ผู้ล่าชนิดอื่นในกรงเลี้ยง นอกจากนี้เสือชีตาห์ทั้งในกรงเลี้ยงและในป่าก็มีระดับของอสุจิที่ไม่ปกติสูงถึง 71-76% และการผสมพันธุ์นอกมดลูกก็ประสบความสำเร็จน้อยกว่าสัตว์จำพวกเสือชนิดอื่น
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคนานาประการในการเอาชีวิตรอดของเสือชีตาห์ดังที่กล่าวมานี้ก็เป็นข้อมูลที่พบในแหล่งเพาะเลี้ยงเท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเสือชีตาห์ในธรรมชาติจะพบชะตากรรมเดียวกัน และเป็นไปได้ว่าสิ่งที่กล่าวมาเป็นการมองในแง่ร้ายเกินไป ประการแรก สวนสัตว์บางแห่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเพาะพันธุ์เสือชีตาห์ นี่อาจหมายความว่าอัตราความสำเร็จที่ต่ำในสถานเพาะพันธุ์บางแห่งอาจเป็นเพราะการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของแต่ละแห่งเอง ประการต่อไป ในด้านภูมิต้านทานโรคที่ต่ำ ก็ยังไม่เคยมีรายงานว่ามีการแพร่ระบาดของโรคร้ายในเสือชีตาห์ในธรรมชาติแต่อย่างใดแม้จะพบว่าเสือชีตาห์ในอุทยานบางแห่งมีปัญหาโรคเรื้อนสัตว์ค่อนข้างมากก็ตาม ประการสุดท้าย เสือตัวผู้ในแหล่งเพาะเลี้ยงแต่ละตัวมีอัตราให้กำเนิดลูกต่างกันมากแม้จะมีระดับคุณภาพของอสุจิใกล้เคียงกัน
ถิ่นที่อยู่อาศัย
เสือชีตาห์อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าในพื้นที่ประเภทกึ่งซาฮารา ป่าไม้พุ่ม ไม้แคระ ป่าละเมาะ พบบ้างในป่าไมออมโบซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในแอฟริกาตอนกลาง แต่ไม่พบในแนวป่าซาวันนาซูดาโน-กีเนียนซึ่งอยู่ในตะวันตก ลักษณะที่อยู่อาศัยที่เสือชีตาห์ชอบมากที่สุดอาจจะเป็นทุ่งหญ้าสลับป่าเนื่องจากการล่าในพื้นที่แบบนี้ใช้พลังงานน้อยกว่าการล่าในทุ่งหญ้าอย่างเดียว พื้นที่ที่เสือชีตาห์ไม่ชอบคือท้องทะเลทรายที่กว้างใหญ่ และป่าทึบ แม้ไม่ชอบอยู่ตามภูเขาสูง แต่ก็เคยพบในที่ได้สูงถึง 1,500 เมตรในเทือกเขาเอธิโอเปีย ตามเทือกเขาแอลจีเรีย ชาด มาลี ไนเจอร์ เคยพบที่ระดับสูงถึง 2,000 เมตร
ในอิหร่าน มักพบในพื้นที่ที่มีไม้พุ่มสลับทุ่งหญ้าและมีหิมะในฤดูหนาว ส่วนในภูเขาในทะเลทรายซาฮาราเป็นพื้นที่แห้งแล้งมาก แต่ก็ยังมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าทะเลทรายรอบข้าง จึงยังมีแหล่งน้ำถาวรและสัตว์เหยื่อให้ล่า
ชีววิทยา
เสือชีตาห์ผสมพันธุ์ได้ทุกฤดู ต่างจากเสือส่วนใหญ่ที่มีฤดูผสมพันธุ์ แต่ในเซเรนเกตตีมักพบลูกเสือเกิดใหม่มากที่สุดในฤดูฝน ออกลูกครอกหนึ่งราว 1-8 ตัว เฉลี่ย 3 ตัว ตั้งท้องนานประมาณ 90-98 วัน เสือแรกเกิดหนัก 270 กรัม ตาเปิดได้เมื่ออายุ 4-11 วัน ลูกเสือจะอาศัยอยู่ในพงหญ้าหรือพุ่มไม้จนกระทั่งอายุได้ 5-6 สัปดาห์ เสือชีตาห์วัยเด็กจะมีแผงคอยาวเด่นชัดยาวไปจนถึงสันหลัง บางทีอาจช่วยในการพรางตัวให้กลมกลืนกับพงหญ้าได้ดี เมื่ออายุได้ 3 เดือนก็หย่านม ลูกเสืออยู่กับแม่และศึกษาการดำรงชีวิตเป็นเวลาประมาณ 18 เดือน (13-20) ก็จะพร้อมสำหรับใช้ชีวิตเองได้แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม ลูกเสือชีตาห์ส่วนน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสรอดและเติบโตเป็นเสือผู้ใหญ่ได้ เสือชีตาห์มักต้องเสียลูกให้แก่สัตว์ล่าเหยื่อหลายชนิด เช่น ไฮยีนา สิงโต เสือดาว นกอินทรี ลิงบาบูน รวมถึงพ่อของเด็กเองด้วย ในเซเรนเกตตี นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา จำนวนสิงโตในทุ่งหญ้าเพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้อัตราตายของลูกเสือชีตาห์สูงมาก พบว่าราว 73 เปอร์เซ็นต์ของลูกเสือชีตาห์ตายเพราะถูกสัตว์อื่นฆ่าโดยเฉพาะจากสิงโต มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะรอดไปจนกระทั่งถึงวัยที่เป็นอิสระจากแม่ได้ การที่เสือชีตาห์ออกลูกทีละหลายตัวก็อาจเป็นกลยุทธหนึ่งในการดำรงเผ่าพันธุ์ และสถานที่ใดที่สัตว์ผู้ล่าชนิดอื่นเหลือจำนวนน้อยก็จะมีจำนวนเสือชีตาห์เพิ่มมากขึ้น เช่น ในฟาร์มเปิดในนามีเบีย ท้องทุ่งและท้องไร่ในเคนยา และในโซมาเลีย
ในด้านอัตราส่วนทางเพศ ลูกเสือแรกเกิดมักมีตัวผู้มากกว่าเล็กน้อยด้วยอัตราตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 0.95 ตัว แต่เสือตัวเต็มวัยหรือเสือวัยรุ่นกลับมีตัวผู้น้อยกว่ามากด้วยอัตราตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 1.9 ตัว ตัวเลขนี้อาจหมายถึงตัวผู้มีการแพร่กระจายพื้นที่มากกว่า หรือตายง่ายกว่า หรืออาจเป็นผลมาจากการที่ตัวผู้มักหลบซ่อนเก่งกว่าจนสำรวจได้ยากก็ได้
เสือรุ่นที่เพิ่งเป็นอิสระจากแม่จะยังอยู่ด้วยกันทั้งตัวผู้ตัวเมีย เสือตัวเมียจะแยกจากกลุ่มพี่น้องออกไปก่อนเมื่ออายุได้ 17-27 เดือน ตัวเมียผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่ออายุได้ 24-36 เดือน ตัวผู้เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 30-36 เดือน ระยะเวลาที่แม่เสื้อตั้งท้องแต่ละครั้งห่างกัน 15-19 เดือน หากลูกเสือตายหมด แม่เสือก็พร้อมจะผสมพันธุ์ได้อีกครั้งในเวลาไม่นาน แม่เสือสาวรุ่นอาจใช้เวลานานกว่าแม่เสือสาวใหญ่ในการกลับคืนสู่สภาพพร้อมผสมพันธุ์ จากการสำรวจพบว่าเสือสาวรุ่นใช้เวลา 86.3 วัน ส่วนเสือสาวใหญ่ใช้เวลา 17.8 วัน ตัวเมียผสมพันธุ์ครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 10 ปี ตัวผู้ 14 ปี เสือชีตาห์มีอายุขัยราว 12-14 ปี
มีความพยายามเพาะพันธุ์เสือชีตาห์ในกรงเลี้ยงมาแล้วหลายร้อยปี เนื่องจากเสือชีตาห์เคยเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับล่าของเจ้านายของอินเดียและอาหรับ แต่การเพาะพันธุ์เพิ่งจะมาเป็นผลสำเร็จเมื่อกลางทศวรรษ 1950 นี้เอง เมื่อทราบว่าในการจับคู่ตามธรรมชาติ เสือชีตาห์สาวจะเป็นผู้เลือกคู่จากหนุ่มหลายตัว ด้วยเหตุนี้การขังตัวผู้กับตัวเมียไว้ด้วยกันเป็นคู่ดังที่ทำก่อนหน้านั้นจึงไม่สำเร็จ
ภัยที่คุกคาม
เสือชีตาห์ในทุกพื้นที่ต่างประสบปัญหาในการดำรงชีวิต ภัยที่คุกคามหลักได้แก่การล่าและการบุกรุกที่อยู่อาศัย แม้แต่ในแอฟริกาที่มีประชากรเสือชีตาห์มากที่สุด พื้นที่อาศัยก็ยังลดลงอย่างรวดเร็ว พื้นที่ป่าที่ลดลงทำให้เสือชีตาห์มีโอกาสเผชิญหน้ากับสิงโตซึ่งเป็นศัตรูตัวร้ายมากขึ้น ชีตาห์มักต้องเสียลูกให้สิงโตเสมอ ๆ
การทำฟาร์มเปิดของชาวบ้านก็เป็นภัยคุกคามที่สำคัญ เพราะปศุสัตว์เข้าไปแย่งพื้นที่หากินของสัตว์ที่เป็นเหยื่อในธรรมชาติของชีตาห์ เช่น ในป่าอนุรักษ์กอชเยลักของอิหร่านซึ่งเคยมีเสือชีตาห์อยู่มาก เมื่อการทำฟาร์มเปิดทำให้แอนติโลปซึ่งเป็นอาหารหลักของเสือชีตาห์ลดจำนวนลงไป เสือชีตาห์ก็หายไปด้วย
ประชากรเสือชีตาห์กลุ่มเล็ก ๆ ในประเทศอิยิปต์ที่เพิ่งพบในประเทศอิยิปต์ในปี 2536 ก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน เพราะต้องถูกตามล่าล้างผลาญอย่างหนักทั้งจากพรานเร่ร่อนและพรานบรรดาศักดิ์ มีรายงานหลายครั้งที่มีทั้งการฆ่าทิ้งยกครัว
จำนวนที่เหลือน้อยของชีตาห์ทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีกนั่นคือเริ่มมีการผสมพันธุ์ในหมู่สายเลือดใกล้ชิด เป็นเหตุให้พันธุกรรมของชีตาห์อ่อนแอ ภูมิต้านทานโรคลดลง และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ยากขึ้น
เสือชีตาห์มีปัญหาความขัดแย้งกับมนุษย์บ้างเหมือนกัน เพราะบางครั้งก็ไปจับสัตว์ในฟาร์มของชาวบ้าน ในบริเวณอาอีร์และมาซีของไนเจอร์มีรายงานว่าเสือชีตาห์ไปล่าลูกอูฐและแพะของชาวบ้าน ในนามีเบียก็มีงานวิจัยที่พบว่าเสือชีตาห์เป็นภัยต่อสัตว์ในฟาร์มมากกว่าสัตว์นักล่าชนิดอื่น คาดว่าปีหนึ่ง ๆ เกษตรกรต้องเสียสัตว์เล็กอย่างแกะและแพะมากถึงราว 10-15 เปอร์เซ็นต์ และสัตว์ใหญ่ราว 3-5 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามพบว่าเสือชีตาห์ชอบล่าสัตว์ตามธรรมชาติมากกว่า เสือชีตาห์จะจับสัตว์ในฟาร์มในพื้นที่ที่สัตว์เหยื่อในธรรมชาติขาดแคลน และแน่นอนว่าเมื่อใดมีความขัดแย้งกับคน ฝ่ายที่ต้องพ่ายแพ้ก็คือเสือชีตาห์นั่นเอง
สถานภาพ
ในอดีต เสือชีตาห์เคยมีเขตกระจายพันธุ์กว้างครอบคลุมพื้นที่ป่าเปิดเกือบทั้งหมดของแอฟริกา รวมถึงทุ่งหญ้าในตอนกลางของอินเดีย ปากีสถาน รัสเซียตอนใต้ อิหร่าน และตะวันออกกลาง แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่พบในตะวันออกและตอนใต้ของแอฟริกาเท่านั้น ส่วนในเอเชียเหลือเพียงทางตอนเหนือของอิหร่านเท่านั้นและเหลืออยู่น้อยมาก และจำนวนประชากรก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเหลือเพียงท้องทุ่งในแอฟริกาตะวันออกและตอนกลางเท่านั้นที่เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของเสือชีตาห์
ช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20 เสือชีตาห์ได้สูญพันธุ์ไปจากหลายพื้นที่ ได้แก่ อัฟกานิสถาน อิรัก อิสราเอล จอร์แดน ลิเบีย คูเวต โมร็อกโก โอมาน ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ตูนิเซีย เติร์กเมนิสถาน อุสเบกิสถาน ซาฮาราตะวันตก และเยเมน
มีการประเมินจำนวนประชากรเสือชีตาห์ในพื้นที่กึ่งซาฮาราในแอฟริกาไว้หลายครั้ง ตัวเลขที่ได้แตกต่างกันมาก เนื่องจากแปรตามเงื่อนไขแวดล้อม โดยเฉพาะจากสัตว์เหยื่อและผู้ล่าชนิดอื่น และมีการรวมกลุ่มกันตามการย้ายถิ่นของเหยื่อเช่นกาเซลล์ทอมสันในทุ่งหญ้าเซเรนเกตตี ไมเยอร์ ประเมินไว้ในปี 2518 ได้ 15,000 ตัว เฟรม ประเมินในปี 2527 ได้ 25,000 ตัว ส่วนในปี 2534 เคราส์ กับ มาร์เกอร์-เคราส์ประเมินได้ 9,000-12,000 ตัว พื้นที่ ๆ พบเสือชีตาห์มีสองพื้นที่ใหญ่ ๆ ได้แต่แอฟริกาตะวันออกในเขตของประเทศเคนยาและแทนซาเนีย กับแอฟริกาตอนใต้ในเขตของประเทศนามิเบีย บอตสวานา ซิมบับเว และแซมเบีย ส่วนทางแอฟริกาตะวันตกมีอยู่น้อยมากและถูกคุกคามมาก บริเวณที่ดูเป็นแดนสวรรค์ของเสือชีตาห์คือตอนใต้ของประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งเสือบริเวณนี้มักมีสุขภาพดีและดูเหมือนมีการขยายเขตกระจายพันธุ์ขึ้นไปทางเหนือ
เสือชีตาห์พันธ์เอเชีย (A. j. venaticus) เหลือจำนวนน้อยมาก สถานภาพอยู่ในขั้นวิกฤต ในทศวรรษที่ 1970 ยังมีอยู่เกิน 200 ตัว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว การสำรวจในปี 2535 พบว่าเหลืออยู่จำนวนไม่ถึง 50 ตัวเท่านั้น พบได้เฉพาะพื้นที่ห่างไกลในประเทศอิหร่านและอัฟกานิสถาน รายงานล่าสุดที่พบอยู่ในจังหวัดคอระซันทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มาร์คะซีทางตอนกลางประเทศ และ ฟาร์ส ทางตะวันตกเฉียงใต้
เสือชีตาห์ เสือที่มีชื่อเสียงที่สุดชนิดหนึ่งในจำนวนเสือทั้งหมดในโลก อาจจะต้องเป็นชนิดแรกที่ต้องสูญพันธุ์ไปในอนาคตอันใกล้หากไม่มีแผนการอนุรักษ์ที่ดี การเก็บข้อมูลจากการวิจัยค้นคว้าและการเพาะพันธุ์ที่กำลังดำเนินการอยู่โดยในขณะนี้เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เสือชีตาห์รักษาเผ่าพันธุ์และมองเห็นทางรอดในอนาคตได้ ปัจจุบันเสือชีตาห์ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายเกือบทุกประเทศที่อยู่ในเขตกระจายพันธุ์
ที่มา www.verdantplanet.org
จ้าวความเร็ว
เสือชีตาห์เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสัตว์บกที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก สถิติความเร็วสูงสุดที่เคยวัดได้คือ 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เจ้าของสถิตินี้เป็นเสือในแหล่งเพาะเลี้ยง ส่วนความเร็วสูงสุดของเสือชีตาห์ในธรรมชาติเป็นเท่าไหร่ยังไม่ทราบแน่ชัดเพราะวัดได้ยาก ในท้องทุ่งของแอฟริกามีสัตว์อีกชนิดเดียวที่ฝีเท้าใกล้เคียงกันคือแอนติโลป ซึ่งเป็นสัตว์เหยื่อหลักของชีตาห์ มีความเร็ว 80-97 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้ความเร็วยังเป็นรองชีตาห์แต่แอนติโลปสามารถรักษาความเร็วนี้ได้เป็นเวลานาน ส่วนเสือชีตาห์ทำความเร็วที่ระดับสูงสุดได้เป็นเวลาสั้น ๆ เท่านั้น น้อยครั้งมากที่จะวิ่งเป็นระยะทางเกิน 200-300 เมตร เพราะร่างกายของเสือชีตาห์จะร้อนขึ้นเร็วมากขณะวิ่งด้วยความเร็วสูง และการระบายความร้อนก็ไม่ดีเท่าพวกกาเซลล์หรือแพะ จากการทดลองครั้งหนึ่งพบว่าเสือชีตาห์หยุดวิ่งเมื่อความร้อนร่างกายขึ้นสูงถึง 40.5 องศาเซลเซียส ด้วยเหตุนี้เสือชีตาห์จึงเป็นเพียงนักวิ่งระยะสั้นเท่านั้น
ชีตาห์ราชา
เสือชีตาห์บางตัวมีลักษณะแปลกกว่าชีตาห์ตัวอื่น ลายตามลำตัวแทนที่จะเป็นจุดกลม แต่จุดกลับร้อยเชื่อมต่อกันเป็นเส้นสั้น ๆ เส้นบริเวณสันหลังพาดยาวขนานกันตลอดแนวสันหลัง และมีขนบริเวณท้ายทอยยาวกว่า เสือชีตาห์ที่มีลักษณะพิเศษนี้เรียกว่า เสือชีตาห์ราชา (king cheetah) พบครั้งแรกในปี 2470 ตอนแรกนักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าเป็นเสือชนิดใหม่ หรือบ้างก็เข้าใจว่าเป็นลูกผสมระหว่างเสือชีตาห์กับเสือดาว ปัจจุบันทราบแล้วว่าเสือชีตาห์ราชาเป็นชนิดเดียวกับเสือชีตาห์ลายจุดธรรมดา ดังนั้นเสือชีตาห์ธรรมดาอาจออกลูกเป็นเสือชีตาห์ราชาปะปนกับเสือชีตาห์ธรรมดาก็ได้ ความผิดปรกตินี้เป็นผลจากยีนด้อยยีนหนึ่ง หากพ่อและแม่มียีนนี้ทั้งคู่ ลูกที่ออกมาราวหนึ่งในสี่จะเป็นเสือชีตาห์ราชา
ในอดีตเสือชีตาห์ราชาเคยพบเฉพาะในตอนกลางของซิมบับเวเท่านั้น แต่เมื่อไม่นานมานี้มีการยึดจับหนังเสือชีตาห์ราชาได้ที่บูรกินาฟาโซ แอฟริกาตะวันตก นี่อาจหมายความว่ามีเสือชีตาห์ราชาในประเทศใกล้เคียงด้วย
เสือชีตาห์ดำและเสือชีตาห์ขาวก็มีในธรรมชาติเหมือนกัน เคยมีรายงานพบเสือชีตาห์ดำที่เคนยาและแซมเบีย เสือชีตาห์ขาวมีสีพื้นขาวอมฟ้าและมีจุดสีน้ำเงิน เคยมีบันทึกว่าจักรพรรดิ์แห่งราชวงศ์โมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเลี้ยงเสือชีตาห์ไว้กว่า 1,000 ตัวก็มีเสือชีตาห์ขาวอยู่ด้วย
ในปี 2536 มีการพบเสือชีตาห์ในอียิปต์ที่มีลักษณะต่างจากเสือชีตาห์ที่อยู่ทางใต้ของทวีป มีขนาดเล็กกว่า หนากว่า มีหูใหญ่กว่าปรกติ กระบอกปากเป็นรูปสี่เหลี่ยม สีขนตามลำตัวจางกว่า จุดดำจางกว่า
ลักษณะทั่วไป
เสือชีตาห์เป็นเสือที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดชนิดหนึ่งไม่น้อยหน้าสิงโตและเสือโคร่ง ด้วยรูปร่างที่สง่างามน่าแปลกกว่าเสือชนิดอื่น และประกอบกับการเป็นเจ้าของสถิติสัตว์บกที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก จึงแทบไม่มีใครไม่รู้จักเสือชีตาห์
เสือชีตาห์เป็นเสือค่อนข้างเล็ก ในเซเรนเกตตี น้ำหนักเฉลี่ยของเสือชีตาห์ตัวผู้คือ 43 กิโลกรัม และตัวเมีย 38 กิโลกรัม รูปร่างต่างจากเสือชนิดอื่นมาก รูปร่างผอมเพรียว ดูเผิน ๆ เหมือนหมาพันธุ์เกรย์ฮาวนด์ สีพื้นลำตัวเป็นสีเหลืองทองและมีจุดสีดำกระจายทั่วทั้งตัว ใต้ท้อง ด้านล่างของขา คอ คาง และริมฝีปากบนสีขาว ที่ใกล้ปลายหางจุดจะกลายเป็นปล้องดำประมาณ 6 วง ปลายหางสีขาว ใบหน้ามี "เส้นหยาดน้ำตา" สีดำพาดจากหัวตาลงมายังมุมปากเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร หนวดค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับเสือโคร่ง ละเอียด อ่อน จึงไม่มีหน้าที่ช่วยในการล่าแต่อย่างใด ใบหูดำ โคนหูและขอบใบหูสีน้ำตาลอมเหลือง เล็บนิ้วโป้งอยู่สูงเด่นจากนิ้วอื่น ใช้ในการเกี่ยวขาเหยื่อที่กำลังวิ่งหนี บริเวณท้ายทอยและหลังมีขนยาวคล้ายแผงคอของสิงโต บางตัวจะยาวมาก โดยเฉพาะลูกเสือ
เสือชีตาห์ที่อยู่ในเอเชียมีสัญฐานต่างจากในแอฟริกาอย่างเห็นได้ชัด ลำตัวมีสีขาวซีดกว่า และจุดอยู่ห่างกันมากกว่า ชีตาห์ในซาฮารามีสีซีดและจุดมีสีน้ำตาลเข้มไม่ดำสนิท เส้นหยาดน้ำตาและปล้องที่หางก็จางกว่า ตัวก็เล็กกว่า เคยพบว่าชีตาห์เพศผู้สองตัวที่เคยถูกฆ่าในไนเจอร์มีความสูงที่หัวไหล่เพียง 65 เซนติเมตรเท่านั้น ในขณะที่เสือชีตาห์ในพื้นที่กึ่งซาฮารามีความสูง 85 เซนติเมตร เสือชีตาห์คำรามไม่ได้ แต่ทำเสียงแบบอื่นได้หลายแบบ เช่น เสียงคราง เสียงเห่าสั้น ๆ หรือเสียงหวีดแหลมยาว ๆ
เสือชีตาห์มีวิวัฒนาการมาเพื่อเป็นนักวิ่งเร็วโดยเฉพาะ ขาที่เรียวยาวแข็งแรงช่วยให้วิ่งได้เร็ว หากเทียบเสือชีตาห์กับเสือดาวที่มีน้ำหนักตัวเท่ากันแล้ว เสือชีตาห์จะตัวสูงกว่าเสือดาวถึงสองเท่า เล็บตีนหดกลับเข้าไปในปลอกได้เพียงเล็กน้อย จึงทำหน้าที่เหมือนตะปูใต้รองเท้านักวิ่ง ช่วยให้ยึดเกาะพื้นดินได้ดีในขณะวิ่งด้วยความเร็วสูง อุ้งตีนต่างจากเสือชนิดอื่น สัดส่วนอุ้งตีนแคบคล้ายอุ้งตีนหมามากกว่าเสือ บริเวณนิ้วและฝ่าตีนแข็งมากและชี้ไปข้างหน้า คาดว่าเป็นการปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์เวลาหยุดกระทันหัน และที่ฝ่าตีนยังมีสันสองสันแทนที่จะเป็นร่องตื้นอย่างอุ้งตีนแมวทั่วไป สันนี้ทำหน้าที่เหมือนดอกยางป้องกันการไถลไปด้านข้าง หางที่ยาวช่วยในการปรับสมดุลของร่างกายขณะหักเลี้ยวด้วยความเร็วสูง กระดูกสันหลังของเสือชีตาห์ยืดหยุ่นได้ดีเหมือนสปริง ทุกก้าวที่วิ่งจึงเป็นการเพิ่มแรงดีดให้ก้าวต่อไป แรงดีดนี้ช่วยให้ระยะก้าวของเสือชีตาห์ยาวขึ้นถึง 11 เปอร์เซ็นต์ที่ความเร็ว 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เขี้ยวค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับเสือชนิดอื่น แต่การที่เขี้ยวบนมีรากฟันสั้นทำให้โพรงจมูกใหญ่ เป็นผลดีในการหายใจขณะกัดคอเหยื่อ นอกจากนี้ชีตาห์ยังมี หลอดลม ปอด หัวใจ ต่อมหมวกไต และทางเดินหายใจก็ใหญ่ด้วย