ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ป่าชายเลน (Mangrove forest), ป่าชายเลน (Mangrove forest) หมายถึง, ป่าชายเลน (Mangrove forest) คือ, ป่าชายเลน (Mangrove forest) ความหมาย, ป่าชายเลน (Mangrove forest) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ป่าชายเลน (Mangrove forest)

          เป็นสังคมพืชที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิดที่ไม่ผลัดใบหรือมีใบเขียวชอุ่มตลอดปี (Evergreen Species) มีลักษณะทางสรีระและความต้องการสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สกุลโกงกาง (Rhizophora) มักพบขึ้นอยู่บริเวณปากอ่าวชายฝั่งทะเลบริเวณเขตร้อนของโลก (Tropical Region) ซึ่งเป็นช่วงแผ่นดินบริเวณที่มีน้ำเค็มขึ้นสูงสุด และลงต่ำสุด บางครั้งจึงเรียกว่า Intertidal Forest สภาพแวดล้อมเช่นนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้ป่านี้แตกต่างไปจากป่าชนิดอื่น ๆ

         ทั่วโลกมีป่าชายเลนกระจายอยู่ 2 บริเวณใหญ่ ๆ คือ แถบอินโด-แปซิฟิก ประกอบด้วย ประเทศไทย ในอัฟริกาตะวันออก อินเดีย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่นตอนใต้ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หมู่เกาะในมหาสุมทรแปซิฟิกของซามัว แถบอัฟริกาตะวันตกประกอบด้วยประเทศในบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของทวีปอัฟริกา อเมริกา อ่าวเม็กซิโก ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกแถบโซนร้อนอเมริกา และบริเวณหมู่เกาะกาลาปาโกส โดยทั่วไปป่าเลนชอบขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีสภาพเป็นดินเลน และเป็นที่ราบกว้าง อย่างไรก็ตามลักษณะภูมิประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อลักษณะโครงสร้างของป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของชนิดและการกระจายของพันธุ์ไม้ ตลอดจนขนาดของพื้นที่ป่าชายเลนเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น หากเป็นชายฝั่งประเภทจมตัว ซึ่งเป็นที่ราบแคบ ๆ ริมฝั่งทะเลหรือรอบ ๆ เกาะ ป่าชายเลนบริเวณนี้ก็จะมีลักษณะเป็นแนวแคบ ๆ แต่หากชายฝั่งทะเลมีพื้นที่ราบกว้างป่าชายเลนก็จะขึ้นอยู่เป็นบริเวณกว้าง

        ในประเทศไทย ป่าชายเลนขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำลำคลอง และบริเวณรอบเกาะที่มีสภาพเป็นดินเลน กระจายอยู่ตลอดแนวฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก หรือฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดตราดลงไปจนถึงใต้สุด คือ จังหวัดนราธิวาส และฝั่งทะเลด้านตะวันตกหรือ ฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระยองไปถึงจังหวัดสตูล



ปัจจัยสิ่งแวดล้อมของป่าชายเลน

          1. พรรณไม้ป่าชายเลนเป็นกลุ่มไม้ที่ต้องการแสงมาก และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชายฝั่งที่มีปริมาณฝนตกประมาณ 1,500-3,000 มิลลิเมตรต่อปี แต่ก็สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ซึ่งมีฝนตกสูงถึง 4,000 มิลลิเมตรต่อปี

          2. ความถี่ของน้ำทะเลท่วมถึง ช่วงเวลาน้ำขึ้นลงก็มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าความเค็มของน้ำบริเวณป่าชายเลน กล่าวคือ ขณะที่น้ำขึ้นค่าความเค็มของน้ำจะสูงขึ้นและลดลงเมื่อน้ำลงด้วย นอกจากนี้ การเกิดน้ำขึ้นและน้ำตาก็ส่งผลให้ความเค็มของน้ำแตกต่างกันด้วย คือ ช่วงน้ำเกิด น้ำที่มีความเค็มสูงจะไหลเข้าสู่ป่าชายเลนเป็นระยะทางไกลกว่าช่วงเวลาที่เกิดน้ำตาย อีกทั้งระยะเวลาการขึ้นลงของน้ำทะเล ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นลงของน้ำทะเลแบบวันละครั้ง ที่เรียกว่า แบบน้ำเดี่ยว หรือขึ้นลงวันละ 2 ครั้ง ที่เรียกว่า แบบน้ำคู่ หรือขึ้นลงแบบผสม ต่างก็มีอิทธิพลต่อลักษณะโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน

          3. ลม เป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ของป่าชายเลน เนื่องจากลมมีอิทธิพลอย่างมากต่อความเร็วของกระแสน้ำและคลื่น ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการพังทลายของดินชายฝั่งและต่อการแพร่กระจายของพันธุ์ไม้

          4. ป่าชายเลน ประกอบด้วยพืชทั้งที่เป็นไม้ยืนต้นเอบิไฟท์ เถาวัลย์และสาหร่าย ไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ป่านี่จะมีลักษณะผิดแผนกกับไม้ในป่าชนิดอื่น ๆ คือ สามารถขึ้นอยู่ได้ในดินเลนและที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราวได้ ดังนั้น เพื่อการเจริญเติบโต เพื่อความ อยู่รอดและแพร่กระจายพันธุ์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง พันธุ์ไม้จำเป็น ต้องมีการปรับตัว (adaptation) และเปลี่ยนแปลงลักษณะทั้งภาย นอกและภายในบางประการของระบบราก ลำต้น ใบ ดอก และผล ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่พันธุ์ไม้แต่ละชนิดขึ้นอยู่ ตัวอย่างของลักษณะพิเศษนี้ ได้แก่

          - มีต่อมขับเกลือ (salt glands) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับความเข้มข้นของเกลือในพืช พบอยู่ทั่วไปในส่วนของใบ เช่น ใบเล็บมือนาง แสม ลำพู ลำแพน และเหงือกปลาหมอ
          - เซลล์ผิวใบ มีผนังหนาเป็นแผ่นมันและมีปากใบ (stomate) ที่ผิวใบด้านล่าง มีหน้าที่สำคัญสำหรับป้องกันการระเหยของน้ำจากส่วนของใบ
          - ใบมีลักษณะอวบน้ำ (succulent leaves) โดยเฉพาะพวกไม้โกงกาง ลำพู ลำแพน จะเห็นได้ชัดกว่าไม้อื่น ใบอวบน้ำเหล่านี้มีหน้าที่ช่วยเก็บรักษาปริมาณน้ำ
          - ระบบรากที่แผ่กว้างและโผล่พ้นระดับผิวดิน มีหน้าที่ช่วยยืดและค้ำจุนลำต้นให้ตั้งอยู่ ในบริเวณดินเลนได้ เรียกว่า รากค้ำจุน เช่น รากของไม้โกงกาง เหงือกปลาหมอ หรือ รากค้ำจุนที่เป็นพูพอนของไม้ปรงและไม้ตะบูน และช่วยรับก๊าซออกซิเจนจากบรรยากาศ โดยตรงเพื่อใช้ในขบวนการเผาผลาญอาหารของพืช เรียกว่า รากหายใจ เช่น รากของไม้แสม ลำพู ลำแพน หรือรากที่มีลักษณะคล้ายเข่าของต้นพังกาหัวสุม โปรงและฝาด นอกจากนี้ รากของไม้โกงกาง และแสมที่เจริญเติบโตไม่ถึงพื้นดินที่เรียกว่า รากอากาศ ก็ช่วยในการหายใจของพืชด้วย
          - ผลที่งอกขณะที่ยังอยู่บนต้น เรียกว่า ฝัก ผลเหล่านี้หลังจากที่หลุดจากต้นแม่ลงสู่พื้นดินแล้ว จะสามารถเจริญเติบโตทางด้านความสูงอย่างรวดเร็ว
          - ต้นอ่อนหรือผลแก่สามารถลอยตัวในน้ำ ทำให้มีการแพร่กระจายพันธุ์โดยทางน้ำได้
          - ระดับแทนนิน ในเนื้อเยื่อมีปริมาณค่อนข้างสูง แต่จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละชนิด การปรับตัวลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเพื่อป้องกันอันตรายจากพวกเชื้อราต่าง ๆ
          - สามารถทนทานอยู่ได้ในสภาวะที่มีระดับความเข้มข้นของเกลือโซเดียมคลอไรด์ในใบสูง ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดภายใต้สภาพความเค็มของน้ำทะเลได้

          พันธุ์ไม้ยืนต้นและไม้พุ่มเท่าที่สำรวจพบในปัจจุบันของประเทศไทยมีทั้งหมด 74 ชนิด (species) อยู่ใน 53 สกุล (genera) รวมอยู่ใน 35 วงศ์ (family) พันธุ์ไม้ที่ปรากฎเด่นในสังคม คือ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก แสมดำ แสมขาว แสมทะเล ฝาดแดง ฝาดขาว พังกาหัวสุม โปรงขาว โปรงแดง ลำพู ลำแพน ตาตุ่มทะเล โพธิ์ทะเล ตะบูนขาว ตะบูนดำ พันธุ์ไม้พื้นล่างที่พบทั่วไป คือ เหงือกปลาหมอ จากชะคราม เป้งทะเล พันธุ์ไม้แต่ละชนิดจะขึ้นเป็นแนวเขตหรือเป็นโซนที่ค่อนข้างแน่นอน เมื่อมองจากบริเวณชายฝั่งพื้นที่ริมน้ำลึกเข้าไปในบริเวณที่ตื้นเขินขึ้นไป ลักษณะเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์ของป่าชายเลน ซึ่งแตกต่างไปจากป่าบกทั้งหลาย การที่เป็นเช่นนี้อาจจะเนื่องมาจากความแตกต่างกันในลักษณะการออกรากและการเจริญเติบโต ของลูกไม้ ซึ่งพันธุ์ไม้แต่ละชนิดมีความสามารถขึ้นอยู่ในบริเวณที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ระหว่างระดับน้ำทะเลต่ำสุดและระดับน้ำทะเลสูงสุด
  



ป่าชายหาด

          ป่าชายหาด คือ ป่าที่ขึ้นปลุกคลุมดินหรือเนินทรายชายฝั่งทะเลที่ยกตัวจนน้ำท่วมไม่ถึง แต่ได้รับผลกระทบจากทะเล เช่น ไอความเค็ม และลมจากทะเล ในประเทศไทยพบป่าชายหาดกระจายอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน เช่น ที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา พังงา ภูเก็ต และตามเกาะต่างๆ

          โครงสร้างของป่าชายหาด (beach forest) แปรผันไปตามลักษณะของดินและหิน ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ที่เป็นทรายมากจะพบพรรณไม้จำพวก ไม้สนทะเล (Casuarina equisetifolia) เป็นไม้เด่น เช่น ที่จังหวัดสงขลา พังงา และภูเก็ต จะพบเป็นป่าสนทะเลล้วนๆ บางแห่งอาจพบ หูกวาง (Terminalia catappa) และจิกเล (Barringtonia asiatica) ขึ้นอยู่เป็นแนวบริเวณชายหาด ส่วนไม้พื้นล่างมีน้อยชนิด ที่สำคัญได้แก่ คนทิสอทะเล (Vitex trifolia) ผักบุ้งทะเล (Ipomoea pescaprae) หนาด (Launaea sarmentosa) หญ้าลอยลม (Spinifex littorius) และรักทะเล (Scaevola taccada) สำหรับบริเวณที่พื้นเป็นหินผสมดินจะเป็นถิ่นของไม้ตะบูนดำ (Xylocarpus granatum) โพธิ์กริ่ง (Hernandia nymphaefolia) บางแห่งอาจพบลำเจียก หรือเตยทะเล (Pandanus odoratissimus) ผสมอยู่ด้วย หรือในพื้นที่ห่างทะเลและดินมีทรายน้อยลง ป่าจะหนาทึบขึ้น แต่จะมีไม้ประเภทไม้พุ่มและไม้หนามค่อนข้างมาก

          ไม้ที่สำคัญๆ ได้แก่ ท้องบึ้ง (Dialium platysepalum) มะเกลือ (Diospyros mollis) เกด (Manilkara hexandra) ข่อย (Streblus asper) และมะนาวผี (Atalantia monophylla) และหากพื้นที่ในที่ลุ่มน้ำทะเล ท่วมเป็นครั้งคราวและดินเค็มจัด อาจพบพรรณไม้ที่มีขนาดเล็ก เช่น แห้วทรงกระเทียม (Eleocharis dulcis) จูดหนู (E.ochrostachys) และชะคราม (Sueda maritima) ขึ้นอยู่โดยทั่วไป เป็นที่น่าสังเกตว่า เนื่องจากป่าชาดหาดมักขึ้นปกคลุมชายฝั่งทะเล ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายและมีทิวทัศน์ที่ดูงดงามตามธรรมชาติจึงมักถูกทำลายหรือยึดครอง เพื่อเปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในปัจจุบันจึงพบป่าชายหาดที่สมบูรณ์ได้เฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์ คือ อุทยานแห่งชาติทางทะเล และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางแห่งเท่านั้น 


 



ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พันธุ์ไม้ของป่าชายเลนขึ้นอยู่เป็นเขตหรือเป็นโซน

          1. ปัจจัยทางกายภาพและเคมีของดิน โกงกางใบใหญ่ชอบดินที่มีสภาพเป็นโคลนนิ่ม ๆ โกงกางใบเล็กชอบดินเลนที่ไม่นิ่มเกินไป ไม้แสมชอบบริเวณชายหาดที่มีความลาดชันต่ำ สามารถทนต่อสภาพดินทรายได้เมื่อบริเวณนั้นมีน้ำทะเลท่วมถึง ไม้ถั่วขาวจะขึ้นในบริเวณดินเหนียวที่มีลักษณะค่อนข้างแข็ง มีชั้นของฮิวมัสและมีการระบายน้ำที่ดี ต้นจากจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญตามบริเวณป่าชายเลนที่มีสภาพอิ่มตัวด้วยน้ำ พวกปรงทะเลจะมีกระจายมากในบริเวณดินแฉะและน้ำกร่อย

          2. ความเค็มของน้ำในดิน โกงกางใบใหญ่ ลำพู ลำแพนเป็นพวกซึ่งต้องการความเค็มสูง จึงมักพบขึ้นอยู่บริเวณติดกับทะเล สำหรับไม้แสมทะเลจะมีความทนทานต่อความเค็มในช่วงกว้างโดยเจริญเติบโตได้ดีตั้งแต่บริเวณ ที่มีความเค็มต่ำจนถึงสูง ความเค็มไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโต แต่มีอิทธิพลต่อการลด การแก่งแย่งของพันธุ์ไม้ต่างชนิดกัน

          ในประเทศไทย พบว่า เขตการขึ้นอยู่ของพันธุ์ไม้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ในจังหวัดจันทบุรีเขตนอกสุดที่ติดริมฝั่งทะเล จะมีไม้โกงกางทั้งใบใหญ่และโกงกางใบเล็ก ถัดเข้าไปเป็นเขตของไม้แสมและไม้ถั่ว ถัดจากกลุ่มพวกนี้จะเป็นไม้ตะบูน และตามด้วยกลุ่มไม้โปรงและฝาด เขตสุดท้ายเป็นแนวต่อระหว่างป่าชายเลนกับป่าบก จะมีกลุ่มไม้เสม็ดขึ้นอยู่ สำหรับจังหวัดพังงา จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้ลำพู แสม และกลุ่มไม้โกงกางใบใหญ่ ตามด้วยกลุ่มโกงกางใบเล็ก-ถั่ว ถัดจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มไม้โปร่ง และกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน สำหรับเขตสุดท้ายจะเป็นกลุ่มไม้ตาตุ่ม-เป้ง

          ป่าชายเลนนอกจากจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ที่อยู่อาศัย หลบภัย และหาอาหารของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นลิง นก กุ้ง หอย ปู และปลาชนิดต่าง ๆ มากมายแล้ว ยังช่วยทำหน้าที่ลดความแรงและความเร็วของน้ำ ทำให้ตะกอนที่ไหลมาจากแผ่นดินทับถมอยู่บริเวณผืนป่าชายเลนนั้น ทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเลมีความใสสะอาดมากขึ้นและอีกนัยหนึ่ง ตะกอนเหล่านี้ก็จะทับถมกันเป็นแผ่นดินงอกเงยขึ้นมาเรื่อย ๆ อีกด้วย

          ในอดีตมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์กระจายอยู่ทั่วไป แต่จากกระแสการพัฒนาประเทศที่รวดเร็ว ป่าชายเลนหลายแห่งได้ถูกทำลาย แล้วทดแทนด้วยการถมดินปรับพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรมชุมชน นากุ้งและอื่น ๆ ปัจจุบัน ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ของไทยจึงเหลืออยู่ไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับความคุ้มครองอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หนึ่งในจำนวนนั้น คือ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา


        


ป่าชายเลน (Mangrove forest), ป่าชายเลน (Mangrove forest) หมายถึง, ป่าชายเลน (Mangrove forest) คือ, ป่าชายเลน (Mangrove forest) ความหมาย, ป่าชายเลน (Mangrove forest) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu