โรคใบไหม้ที่เกิดจากเชื้อรา (Leaf blight caused by fungi)
เป็นโรคที่เกิดกับใบของกล้วยไม้หลายสกุล เช่น แคทลียา ออนซีเดียม แวนด้า และลูกผสมของแวนด้า แม้แต่กล้วยไม้ดิน และ รองเท้านารี ก็พบการระบาดของโรคนี้ มักพบกับกล้วยไม้ในระยะเจริญเติบโตเต็มที่มากกว่ากล้วยไม้ระยะต้นอ่อนหรือไม้เล็ก
อาการของโรค
อาการของโรค ปรากฏเป็นแผลแห้งขนาดเล็ก เป็นจุดค่อนข้างกลมโดยอาจเกิดบนใบหรือเริ่มจากปลายใยหรือโคนใบ ต่อมาแผลเริ่มขยายขอบแผลกว้างออกไม่มีขอบเขตที่แน่นอน มีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลเข้ม บางครั้งแผลไหม้แห้งนี้อาจลามขยายหมดทั้งใบ บนแผลแห้งเป็นสีน้ำตาลจะพบเชื้อราเจริญเติบโตลามไปตามขนาดของแผล โดยการสร้างส่วนสร้างสปอร์เป็นตุ่มสีดำเล็กๆ เท่าปลายเข็มหมุดเกิดเรียงขยายไปตามการขยายของแผลคล้ายอาการของโรคแอนแทรคโนส แผลหรือใบที่เป็นโรคนี้หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้โรคลามขยาย และแพร่ระบาดไปยังต้นอื่นๆ ได้
สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อรา Phyllosticta sp.
บางครั้งพบว่า เชื้อราที่สามารถทำให้เกิดอาการคล้ายๆ กันนี้ แต่มีการสร้างตุ่มสีดำขนาดใหญ่ เป็นเชื้อรา Diplodia sp.
การแพร่ระบาด
เชื้อราสาเหตุของโรค สร้างสปอร์ขนาดเล็กจำนวนมากอยู่ภายในปุ่มสีดำบนแผลไหม้ เมื่อตุ่มสีดำแตก จะทำให้ผลสปอร์ปลิวกระจายไปกับลมและน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถติดไปกับขาของแมลงและส่วนของกล้วยไม้ได้
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเกิดโรค
โรคใบแห้งที่เกิดจากเชื้อรานี้ มักพบระบาดมากในฤดูฝนหรือปลายฤดูฝน หรือสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น และมักพบในรังกล้วยไม้ที่ขาดการดูแล ไม่มีการฉีดสารเคมีเป็นประจำ นอกจากนี้เชื้อราสาเหตุของโรคจะสามารถเข้าทำลายกล้วยไม้ได้ดียิ่งขึ้น หากกล้วยไม้ได้รับอันตรายจากความร้อนและแสงแดด (sun burn) ก่อน
การป้องกันกำจัด
1. เมื่อพบโรคทำลายกล้วยไม้ควรทำการตัดส่วนที่เป็นโรคออกเผาทำลาย เพื่อลดการระบาดของโรค
2. ฉีดพ่นสารเคมี เช่น แคปแทน หรือสารประกอบทองแดง หรือสารเคมีชนิดอื่น ที่สามารถใช้ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนส
3. ปรับสภาพโรงเรือนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และป้องกันมิให้กล้วยไม้ถูกแสงแดดจัดในเวลาบ่าย
ที่มา https://www.geocities.com/tpcclub/story/story-02.htm