1 เมษายน วันเลิกทาส
หลายคนอาจคุ้นเคยกันว่า วันที่ 1 เมษายนนั้นเป็นเพียงวัน April Fool's Day หรือ วันโกหก ตามธรรมเนียมของฝั่งตะวันตก แต่จริงๆ แล้วในวันนี้ยังเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของชาวไทย ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ถ้าเอ่ยชื่อจะต้องร้อง อ๋อ ! กันทันที นั่นก็คือ วันเลิกทาส ถือเป็นการยกเลิกระบบที่ชนชั้นสูงตั้งขึ้นเพื่อกดขี่ราษฎรให้ทำงานรับใช้ หรือส่งทรัพย์สินของตนให้อย่างไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด
การเลิกทาส
ในแผ่นดินรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั้น ไทยมี ทาส เป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองภายในประเทศ สืบเนื่องมาจากการที่พ่อแม่ตกเป็นทาส ส่งผลให้ลูกที่เกิดจากพ่อแม่เหล่านี้ก็กลายเป็นทาสอีกต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งความลำบากอยู่ตรงที่ทาสจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิเช่นนั้นแล้วก็จะต้องกลายเป็นทาสรับใช้ไปตลอดชั่วชีวิต เพราะกฎหมายยังถือว่ามีค่าตัวอยู่ หลังจากนั้นไม่นาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศ พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ที่เป็นการแก้พิกัดเรื่องค่าตัวของทาสเสียใหม่ โดยลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบ ไปจนกระทั่งหมดค่าตัวลงเมื่อมีอายุได้ 20 ปี จากนั้นเมื่ออายุครบ 21 ปีก็จะกลายเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา อีกทั้งยังมีการห้ามมิให้ซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเข้ามาเป็นทาสอีก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงออก พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124 ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ก็ได้ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาทนับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นมา นอกจากนั้นก็ยังได้ทรงออกเป็นบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสได้อีก และหากทาสจะเปลี่ยเจ้าเงินใหม่ ก็ได้ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว
การเลิกไพร่
หมอสมิธ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไซแอมรีโพซิตอรี่ ได้เขียนบทความเพื่อตำหนิรัฐบาลสยามอย่างรุนแรง ด้วยเห็นว่า ในบรรดาประเทศที่มีความเจริญแล้วทั้งหลาย ไม่ว่าจะพระเจ้าแผ่นดินก็ดี เหล่าขุนนางก็ดี ไม่มีสิทธิ์ที่จะเกณฑ์แรงงานราษฎรที่เสียภาษีอาการโดยไม่ให้อะไรตอบแทน เนื่องจากในสมัยนั้น คนที่เป็นไพร่เข้ารับราชการโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบ ทั้งยังต้องออกค่าใช้จ่ายเองทุกอย่างในระหว่างที่รับราชการ อาทิ ค่าเดินทาง ค่าอาหารเป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีเหล่าคนไทยหนุ่ม มีความคิดอยากให้เลิกขนบไพร่ บางส่วนก็ออกมาแสดงความคัดค้านที่รัฐบาลสักเลกในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้การทำนาได้รับความเสียหาย
ขนบไพร่ในสมัยนั้นได้บังคับให้ราฎรที่มีอายุตั้งแต่ 15 - 16 ปี ไปจนถึง 70 ปี ต้องเข้าทำงานรับใช้ หรือส่งส่วยให้แก่เจ้านายชนชั้นปกครอง โดยแบ่งออกเป็น ไพร่หลวง ไพร่สม และไพร่ส่วย โดยที่มีกำหนดรับราชการแบบเดือนเว้นเดือน ในสมัยอยุธยาปีละ 6 เดือน จากนั้นลดลงมาเหลือปีละ 4 เดือนในสมัยรัชกาลที่ 1 และเหลือ 3 เดือนในสมัยรัชกาลที่ 2 หากใครที่อยากรับราชการก็ต้องจ่าย ค่าราชการ เดือนละ 6 บาท จากนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้กราบทูลเสนอความคิดเห็นว่า ควรให้ราษฎรเสียค่าราชการจากเดือน เป็นปีละ 6 บาทเท่าๆ กัน อีกทั้งให้งดการเกณฑ์แรงชั่วคราว แต่ให้เปลี่ยนเป็นวิธีเกณฑ์จ้างแทน