
26 กรกฎาคม พ.ศ.2418 : วันเกิด คาร์ล ยุง นักคิดผู้ก่อตั้งสำนัก จิตวิทยาวิเคราะห์
26 กรกฎาคม พ.ศ. 2418 วันเกิด คาร์ล ยุง (Carl Gustav Jung) จิตแพทย์ชาวสวิส นักคิดผู้ก่อตั้งสำนัก "จิตวิทยาวิเคราะห์" (analytical psychology) เกิดที่เมืองทรัวเกา (Thurgau) แถบตะวันออกเฉียงเหนือของสวิสเซอร์แลนด์ ในวัยเด็กพ่อกับแม่ของเขาแยกทางกัน หลังจากแม่ป่วยพ่อของเขาจึงส่งเขาไปอยู่กับอา ยุงจึงเติบโตเป็นเด็กที่ชอบเก็บตัวและครุ่นคิดอยู่คนเดียว เขาหาทางออกด้วยการแกะสลักดินสอหรือเขียนชื่อตัวเองในเศษกระดาษเป็นภาษาลับ ซึ่งทำให้จิตใจของเขาสงบ ตอนแรกเขาต้องการเรียนโบราณคดี แต่ที่บ้านไม่สนับสนุน เขาจึงหันไปเรียนแพทย์ที่หมาวิทยาลัยบาเซิล (University of Basel) ในช่วงปีหลัง ๆ เขาหันมาสนใจจิตแพทย์ เขาเริ่มงานในโรงพยาบาลโรคจิตที่เมืองซูริค ปี 2449 เขาเขียนหนังสือเล่มแรกคือ "Studies in Word Association" ซึ่งได้ส่งให้ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยารุ่นพี่ที่กำลังมีชื่อเสียงด้วย ต่อมาทั้งสองได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทที่ร่วมงานกันนาน 6 ปี ก่อนจะมีความขัดแย้งทางความคิดกันในภายหลัง ในปี 2456 ยุงตีพิมพ์หนังสือ "The Psychology of the Unconscious" ซึ่งสะท้อนความคิดของเขาว่าไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีของฟรอยด์ที่เชื่อว่า แรงขับทางเพศเป็นแรงผลักดันพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อีกทั้งบุคลิกภาพจึงไม่ได้ถูกกำหนดมาตั้งแต่วัยเด็กอย่างที่ฟรอยด์คิด แต่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด และยังประกอบด้วยปมต่าง ๆ หรือกลุ่มของความทรงจำและความนึกคิด ซึ่งเมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เราพยายามจะผสมผสานสิ่งเหล่านี้เข้าเป็นบุคลิกเฉพาะของตัวเอง หลังจากนั้นยุงหันมาพัฒนาทฤษฎีของตนเอง โดยพยายามทำความเข้าใจจิตไร้สำนึกด้วยการวิเคราะห์สัญลักษณ์ที่อยู่ลึกลงไปในประสบการณ์ทางศาสนา ตำนานปรัมปรา และความฝัน ยุงเชื่อว่าสัญลักษณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจาก "จิตไร้สำนึกร่วมของมนุษยชาติ" (Collective Unconscious) ซึ่งเขาเชื่อว่าความคิดและคุณค่าต่าง ๆ นั้น มนุษย์ได้รับตกทอดมาโดยไม่รู้ตัว วิธีการบำบัดของยุงจะค่อย ๆ ทำให้คนไข้ค่อย ๆ รู้สึกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับมวลมนุษย์ ในบั้นปลายชีวิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาออกเดินทางเพื่อเรียนรู้ปัญญาญาณของมนุษย์ในดินแดนต่าง ๆ เช่น อเมริกาเหนือ เคนย่า และอินเดีย ทำให้เขาได้เรียนรู้ศาสนา ภูมิปัญญาและความคิดอันลึกซึ้ง อาทิ พระคริสตธรรม ฮินดู พุทธ เต๋า หรือลัทธิเหตุผลนิยม (Gnosticism) และการเดินทางทำให้เขาได้พบกับ “ตัวตน” และประสบการณ์สูงสุดในศาสนา ยุงเชื่อว่ามนุษย์จะต้องมีจุดมุ่งหมายที่ไกลกว่าเพียงเรื่องของวัตถุ คือต้องไปให้ถึงจิตวิญญาณ มนุษย์เองมีขีดความสามารถซ่อนลึกอยู่ภายใน เช่นเดียวกับลูกโอ๊คที่สามารถเติบโตเป็นต้นโอ๊ค หรือดักแด้ที่สามารถเติบโตเป็นผีเสื้อปีกสวยได้ ยุงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2504 ที่เมืองซูริค สวิสเซอร์แลนด์