ประวัติหลักเมืองกรุงเทพฯ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชการที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธียกเสาหลักเมือง ตามโบราณราชประเพณีเพื่อเป็นนิมิตรหมายหลักชัยสำคัญประจำพระมหานครราชธานี ณ วันอาทิตย์ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปี ขาล จุลศักราช 1144 ตรงกับสุรทิน ที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา และต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อเสด็จขึ้นครองราช ทรงตรวจดวงพระชาตาของพระองค์ ซึ่งสถิตอยู่ ณ ราศีกันย์ เป็นอริแก่ลัคณาดวงเมืองกรุงเทพมหานคร เห็นได้ชัดว่าดวงพระชาตาไม่กินกับดวงเมือง พระองค์จึงทรงแก้เคล็ดดวงเมือง โดยโปรดให้ขุดพระหลักเมืององค์เดิม ในการนี้พระองค์ได้โปรดให้ช่างแปลงรูปศาลเสียใหม่จากรูปศาลาเป็นรูปปรางค์ และทรงบรรจุดวงเมืองเดิมลงบนเสาพระหลักเมืองใหม่ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนอ้าย จุลศักราช 1214 ตรงกับสุรทิน ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2395 เวลา 08.48 นาฬิกา
องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองร่วมกับกรมศิลปากร พิจารณาเห็นว่าสมควรปฏิสังขรณ์ศาลให้สง่างามยิ่งขึ้น จึงได้เปลี่ยนแปลงลักษณะรูปศาลเป็นแบบจตุรมุขส่วนยอดปรางค์นั้นให้คงไว้เช่นเดิม การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีสังเวยสมโภช เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2513 เวลา 10.30 นาฬิกา
นอกจากพระหลักเมือง ซึ่งเป็นเทพารักษ์สำคัญแล้ว ภายในศาลยังมีเทพารักษ์ผู้พิทักษ์ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดินและประชาราษฎร์อีก 5 องค์ คือ
1. พระเสื้อเมือง
2. พระทรงเมือง
3. พระกาฬไชยศรี
4. เจ้าพ่อเจตคุปต์
5. เจ้าพ่อหอกลอง
เทพารักษ์
เทพารักษ์ผู้พิทักษ์ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดินและประชาราษฎร์อีก 5 องค์ คือ
พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์หล่อสัมฤทธิ์ ปิดทอง สูงประมาณ 93 เซนติเมตร มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพล่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขปราศจากอริราชศรัตรูมารุกราน
พระทรงเมือง เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง สูงประมาณ 75 เซนติเมตร มีหน้าที่รักษาการปกครองและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ดูแลทุกข์สุข ของประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี
พระกาฬไชยศรี เป็นเทพารักษ์หล่อสัมฤทธิ์ ปิดทอง สูง 86 เซนติเมตร เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก
เจ้าพ่อเจตคุปต์ เป็นเทพารักษ์แกะสลักด้วยไม้ปิดทองสูง 133 เซนติเมตร เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่จดจำความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไปแล้วและอ่านประวัติของผู้ตายเสนอพระยม
เจ้าพ่อหอกลอง เป็นเทพารักษ์หล่อสำริดปิดทอง สูง 105 เซนติเมตร มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เป็นต้นว่าคอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน เกิดอัคคีภัยหรือมีข้าศึกศัตรูยกมาประชิดพระนคร
จากภาพ : ซ้ายไปขวา พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, เจ้าพ่อหอกลอง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าพ่อเจตคุปต์
ภาพจาก : เว็บไซต์ banfun.com