ประวัต
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๕๑ ที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของพันตรี หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับนางจันทิพย์ ธนะรัชต์
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่ จังหวัดมุกดาหาร จากนั้น เข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม และโรงเรียนนายร้อยทหารบก จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี ๒๔๗๒ ได้รับยศร้อยตรีประจำการที่กองพันที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๒ รักษาพระองค์
ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพาในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองทัพทหารราบที่ ๓๓ ได้ปฎิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๘ จึงได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๓ และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง จนกระทั่งสงครามยุติลง
ปี พ.ศ.๒๔๙๕ ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก และในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๙๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก และต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นจอมพล ทหารบก ทหารอากาศ และทหารเรือ
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ หลังจากการทำรัฐประหารรัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไม่เรียบร้อย
ในช่วงที่บริหารประเทศ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สร้างผลงานทั้งทางด้านการปรับปรุงการบริหารและการพัฒนาประเทศไว้มากมาย ผลงานที่สำคัญๆ ได้แก่ การออกกฎหมายเลิกการเสพ และจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด กฎหมายปราบปรามพวกนักเลง อันธพาล กฎหมาย ปรามการค้าประเวณี และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย จนกระทั่งได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ ๑ (ปี พ.ศ.๒๕๐๔ - พ.ศ.๒๕๐๙) ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นแม่แบบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๖ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุได้ ๕๕ ปี และเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่เสียชีวิตลงในขณะที่ดำรงตำแหน่ง
ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๙
๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ - ๘ ธันวาคม ๒๕๐๖