ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

วันตรุษจีน, วันตรุษจีน หมายถึง, วันตรุษจีน คือ, วันตรุษจีน ความหมาย, วันตรุษจีน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 2
วันตรุษจีน

ตรุษจีน หรือที่ชาวจีนเรียกว่า เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ หรือ ขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ และยังรู้จักกันในนาม วันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของชาวจีน

ปีใหม่ คือ วันชิวอิก ปีใหม่เรียกว่า

ชาวจีน จะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันขึ้นปีใหม่

วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้ายหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ หรือ ถี่จู่เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้ว

วันไหว้ คือ วัน สื้นปี จะมีการไหว้ 3 ครั้งคือ

1.ตอนเช้ามืดจะไหว้ ไป๊เล่าเอี๊ย เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์ 3 อย่าง (ซาแซ ได้แก่ หมูสามชั้นต้ม ไก่ เป็ด ปรับเปลี่ยนเป็นชนิดอื่นได้ หรือมากกว่านั้นได้จนเป็นเนื้อสัตว์ห้าชนิด) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงิน กระดาษทอง

2.ตอนสายจะไหว้ ไป๊เป้บ๊อ คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่ เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่น ไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว

3. ตอนบ่าย จะไหว้ ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทับเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเป็นสิริมงคล

วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันเที่ยว หรือ วันถือ คือวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี (ชิวอิก) วันนี้ ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อ กันมาถึงปัจจุบัน คือ ไป๊เจีย คือ การไปไหว้ขอพร และอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "กา" ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำโชคดีไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่จับไม้กวาด เป็นต้น และครอบครัวพากันออกไปพักผ่อนนอกบ้าน

สัญลักษณ์อีกอย่างของเทศกาลนี้ คือ อั่งเปา (ซองแดง) คือ ซอง แดงใส่เงินที่ผู้ใหญ่แล้วจะมอบให้ผู้น้อย และมีการแลกเปลี่ยนกันเอง หรือ หรือจะใช้คำว่า แต๊ะเอีย (ผูกเอว) ที่มาคือในสมัยก่อน เหรียญจะมีรูตรงกลาง  ผู้ใหญ่จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และนำมามอบให้เด็ก ๆ ก็จะนำมาผูกที่เอว

ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะกล่าวคำ ห่ออ่วย หรือคำอวยพรภาษาจีนให้กัน หรือมีการติดห่ออ่วยไว้ตามสถานที่ต่างๆ

การไหว้เจ้าที่ และ ไหว้บรรพบุรุษ

ของไหว้เจ้า ที่ประกอบด้วย

  • ของคาว หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา แล้วแต่ว่าจะไหว้มากหรือน้อย
  • ไหว้ 3 อย่าง เรียกว่า ชุดซาแซ ประกอบด้วย หมู เป็ด ไก่
  • ไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า ชุดโหงวแซ ประกอบด้วยหมู เป็ด ไก ่ตับ ปลา
  • ขนมไหว้ ฮวกก้วยหรือขนมถ้วยฟู คักท้อก้วยหรือขนมกุยช่าย(เป็นไส้ชนิดใดก็ได้)
  • ขนมจันอับ ซาลาเปา ขนมไหว้นี้ต้องมีสีชมพู หรือมีแต้มจุดแดง
  • ขนมไหว้พิเศษ ขนมเข่ง ขนมเทียน ต้องยืนเป็นหลัก
  • ผลไม้ ส้ม กล้วยทั้งหวีเลือกเขียวๆ องุ่น แอปเปิล ชมพู่ ลูกพลับ
  • เครื่องดื่ม น้ำชา 5 ที่หากมีไหว้ของคาวจะไหว้เหล้าด้วยก็ได้ก็จัด 5 ที่เช่นกัน
  • กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดไหว้เจ้าที่ ธุปไหว้ คนละ 5 ดอก
  • อื้ คำนี้ แปลว่ากลมๆ ขนมอี๊กลมๆ แป้งนิ่มๆ เคี้ยวง่าย กลืนง่าย ให้ความหมายมงคลอวยพรให้ชีวิตราบรื่นง่ายดายเหมือนขนมอี๊ที่ไหว ้และรับประทาน
  • โหงวเส็กที้ง แปลว่า ขนม 5 สี อันได้แก่ ถั่วตัด งาตัด ข้างพอง ถั่วเคลือบ น้ำตาล และฟักเชื่อม บางทีก็เรียกว่า “ขนมจันอับ”
  • ส้ม คนจีนเรียกว่า กา แต่ก็มีอีกคำหนึ่งเรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่าดี (ส่วนมากนิยมไหว้ 4 ผล เพราะเลขสี่พ้องเสียงคำ “สี่” ที่แปลว่าดี)
  • โชคดี (ส่วนมากนิยมไหว้ 4 ผล เพราะเลขสี่พ้องเสียงคำ “สี่” ที่แปลว่าดี)

ของไหว้เจ้าที่ ประกอบด้วย

  • ของคาว หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา แล้วแต่ว่าจะไหว้มากหรือน้อย
  • ไหว้ 3 อย่าง เรียกว่า ชุดซาแซ ประกอบด้วย หมู เป็ด ไก่
  • ไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า ชุดโหงวแซ ประกอบด้วยหมู เป็ด ไก ่ตับ ปลา   กับข้าว นิยม 8 อย่าง หรือ 10 อย่าง โดยให้มีของน้ำ 1 อย่าง
  • ข้าว ข้าวสวยใส่ชาม พร้อมตะเกียบ จำนวนชุดตามจำนวนบรรพบุรุษ นิยมนับถึงแค่รุ่นปู่ย่า
  • ขนมไหว้ ฮวกก้วยหรือขนมถ้วยฟู คักท้อก้วยหรือขนมกุยช่าย(เป็นไส้ชนิดใดก็ได้)
  • ขนมจันอับ ซาลาเปา ขนมไหว้นี้ต้องมีสีชมพู หรือมีแต้มจุดแดง
  • ขนมไหว้พิเศษ ขนมเข่ง ขนมเทียน ต้องยืนเป็นหลัก
  • ผลไม้ ส้ม กล้วยทั้งหวีเลือกเขียวๆ องุ่น แอปเปิล ชมพู่ ลูกพลับ
  • เครื่องดื่ม น้ำชา 5 ที่หากมีไหว้ของคาวจะไหว้เหล้าด้วยก็ได้ก็จัด 5 ที่เช่นกัน
  • กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดไหว้เจ้าที่ ธุปไหว้ คนละ 3 ดอก
  • ทองแท่งสำเร็จรูป แบงก์กงเต็ก ค้อซี ฯลฯจะมากหรือน้อยแล้วแต่เรา
    กระถางรูป โดยเอาข้าวสารใส่ในแก้วไว้สำหรับปักรูป หลังจากที่เสร็จพิธีก็นำเข้าไปผสมกับถังข้าวสารในบ้านไว้สำหรับหุงทนเพื่อให้เฮง ๆ

** จำนวนชนิดของขนมไหว้ นิยมให้สอดคล้องกับของคาว เช่น ไหว้ ของคาว 3 อย่าง ขนม 3 อย่าง ผลไม้ 3 อย่าง**

มงคลอาหารกับข้าวไหว้บรรพบุรุษ ประกอบด้วย

  1. หมู  มีความหมายถึงความมั่งคั่ง  ด้วยความอ้วนของตัวหมู  สะท้อนถึงความกินดีอยู่ดี
  2. ไก่  มีมงคล  ๒  อย่างคือ
     ๑.  หงอนไก่สื่อถึงหมวกขุนนาง  ความหมายมงคลจึงเป็นความก้าวหน้าในงาน
     ๒.  ไก่ขันตรงเวลาทุกเช้า  สะท้อนถึงการรู้งาน
  3. ตับ  คำจีนเรียกว่า  กัว  พ้องเสียงกับคำว่า  กัว  ที่แปลว่าขุนนาง
  4. ปลา  คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า  ฮื้อ  โดยมีวลีมงคล  อู่-ฮื้อ-อู่-ชื้ง  แปลว่า  ให้เหลือกินเหลือใช้  ไหว้ปลาเพื่อให้มีเงินเหลือกินเหลือใช้มาก ๆ
  5. กุ้งมังกร  ไหว้ด้วยรูปลักษณ์ของกุ้งที่หัวใหญ่  มีก้ามให้ความรู้สึกถึงอำนาจวาสนา ต่อมากุ้งมังกรหายาก  จึงเปลี่ยนเป็นเป็ดสำหรับคนจีนแต้จิ๋ว  และเปลี่ยนเป็นปลาหมึกแห้ง  สำหรับคนจีนแคะ)

ชุดกับข้าว ซึ่งทำไหว้ผีบรรพบุรุษและไว้รับประทาน

1. ลูกชิ้นปลา จีนแต่จิ๋วออกเสียงว่า  ฮื้อ-อี๊  แปลว่า  ลูกปลากลมๆ
  ฮื้อ  หรือปลา  คือให้เหลือกินเหลือใช้
  อี๊  แปลว่า  กลมๆ  หมายถึงความราบรื่น
 
2.  ผัดต้นกระเทียม  เพราะคนจีนแต้จิ๋ว  เรียกกระเทียมว่า  สึ่ง  พ้องเสียงกับสึ่งที่แปลว่านับ  ไหว้ต้นกระเทียม  เพื่อให้มีเงินมีทองให้ได้นับอยู่เสมอ
 
3.  ผัดตับกับกุยช่าย  ตับคือ  การเรียกว่า  กัว  พ้องเสียงกับกัวที่แปลว่า  ขุนนาง  กุยช่ายเป็นการพ้องเสียงของคำว่ากุ่ย  แปลว่า  แพง  รวย

4.  แกงจืด  คนจีนเรียกว่า  เช็ง-ทึง  เช็ง  แปลว่า  ใส  หวาน  ซดคล่องคอ  การไหว้น้ำแกงก็เพื่อให้ชีวิตลูกหลานหวานราบรื่น

5.  เป๊าฮื้อ  เป๊า หรือ เปา  แปลว่า  ห่อ  ส่วน ฮื้อ  คือเหลือกินเหลือใช้  ไหว้เป๊าฮื้อ  เพื่อห่อความมั่งคั่เหลือกินเหลือใช้มาให้ลูกหลาน

6.  ผัดถั่วงอก  คนจีนแต้จิ๋วเรียกถั่วงอกว่า  เต๋าแหง๊  แต่ภาษาวิชาการเรียกว่า  เต้าเหมี่ยว  เหมี่ยว  แปลว่า  งอกงาม  ไหว้ถั่วงอกเพื่อให้งอกงามรุ่งเรือง

7.  เต้าหู้  เป็นคำเรียกแบบชาวบ้านที่อาจเรียกเป็นเต้าฮกก็ได้  ฮก  คำนี้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว  จีนกลางออกเสียงเต้าหู้ว่า  โตฟู  ฟู  แปลว่า  บุญ  ความสุข

8.  สาหร่ายทะเล  เรียกว่า  ฮวกฉ่าย  ถ้าออกเสียงเป็นฮวดไช้  ก็แปลว่า  โชคดี  ร่ำรวย

ชุดของหวาน

1. ซาลาเปา  เล่นเฉพาะคำว่า  เปา  แปลว่า  ห่อ  ไหว้ซาลาเปาเพื่อให้เปาไช้  แปลว่า  ห่อโชค  ห่อเงินห่อทองมาให้ลูกหลาน

2. ขนมถ้วยฟู  คือไหว้เพื่อให้เฟื่องฟู   คนจีนแต้จิ๋วเรียกขนมถ้วยฟูว่า  ฮวกก้วย  ก้วย  แปลว่า  ขนม  ฮวก  แปลว่างอกงาม

3. ขนมคัดท้อก้วย  คือขนมไส้ต่างๆ  เช่น  ไส้ผักกะหล่ำ  มันแกว  ไส้กุยช่าย  ทำเป็นรูปลูกท้อสีชมพู  ลูกท้อ  เป็นผลไม้มงคลมีนัยอวยพรให้อายุยืนยาว
 
4. ขนมไข่  คนจีนเรียกว่า  หนึงก้วย  ไข่คือบ่อเกิดแห่งการได้เกิดและเติบโต  ไหว้ขนมไข่เพื่อให้ได้มีการเกิดและการเจริญเติบโต
 
5. ขนมจับกิ้ม หรือ แต้เหลียง  ก็เรียกคือ  ขนมแห้ง ๕ อย่าง  จะเรียกว่า  โหงวเส็กทึ้ง  หรือ ขนม ๕ สี  ก็ได้  ประกอบด้วย  ถั่วตัด  งาตัด  ถั่วเคลือบ  ฟักเชื่อม  และข้าวพอง
  ฟัก  เพื่อฟักเงินฟักทอง  ฟักเชื่อม  คือการฟักความหวานของชีวิต
  ข้าว  ถั่ว  งา  คือ  ธัญพืช  ธัญญะ  แหลว่า  งอกงาม  ไหว้เพื่อให้งอกงามและชีวิตหวานอย่างขนม

 6. ขนมอี๊  อี๊  หรือ อี๋  แปลว่ากลมๆ  ขนมอี๊ทำจากแป้งข้าวเหนียว  นวดจนได้ที่เจือสีชมพู  ปั้นเป็นก้อนกลมๆ  ต้มกับน้ตาล  เพื่อให้ชีวิตเคี้ยวง่ายราบรื่น  เหมือนขนมอี๊ที่เคี้ยวง่ายและหวานใส  ซึ่งขนมอี๊นี้อาจใช้เป็นสาคูหรือลูกเดือยก็ได้  คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่าอี๊เหมือนกัน

ชุดผลไม้

1. ส้ม  คนจีนแต้จิ๋วเรียกแบบชาวบ้านว่า  กา  แต่ส้มมีอีกคำเรียกว่า  ไต้กิก  ไต้  แปลว่า  ใหญ่  กิก  แปลว่า  มงคล
ไต้กิก  จึงแปลว่า  มหาสิริมงคล  แต่ถ้าแปลง่ายๆ  แบบชาวบ้านก็คือ  โชคดี

2. กล้วย  จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า  เก็ง-เจีย  จะเล่นเสียงว่า  เก็ง-เจีย-เก็ง-ไล้  แปลว่า  ถึงโชคเข้ามา  กับอีกความหมายว่า  กล้วย  มีผลมากมายแถมเป็นเครือ  จึงมีมงคลให้ลูกหลานมากๆ  มีวงศ์วานว่านเครือสืบสกุล

3. องุ่น  จีนแต้จิ๋วเรียกว่า  พู่-ท้อ  พู่  ก็คือ  งอก  หรืองอกงาม  ท้อ  ก็คือ  พ้องเสียงกับลูกท้อ  ที่เป็นผลไม้มงคล  อายุยืน

4. สับปะรด  คนจีนแต้จิ๋วเรียก  อั้งไล้  แปลว่า  เรียกสีแดงมา  สีแดงเป็นสีของโชค  ก็ประมาณว่าเรียกโชคเข้ามา  คนจีนทางใต้นิยมไหว้สับปะรดมาก

                นอกจากนี้ในการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนเรายังพบแต่สีแดง ซึ่งเชื่อว่าเป็นสีแห่งความเป็นมงคล สีขอ งจักรวาล มีการติดแผ่นป้ายเขียนคำมงคลไว้ที่หน้าประตูบ้านเรียกว่า แผ่นตุ้ยเลี้ยง คำมงคลที่เราคุ้นเคยเช่น ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ แปลว่า ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่ เป็นต้น การจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดี การเชิดมังกรและสิงโต ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นมงคล เป็นต้น ธรรมเนียมจีนให้ความสำคัญการความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิต มีนัยแห่งการสร้างความเชื่อมั่นเป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิต นับเป็นความชาญฉลาดทางจิตวิทยา อย่างน่ายกย่องของบรรพชน

ทำไมตรุษจีน จึงจุดประทัดและเชิดสิงโต

           ขอเริ่มจากกจุดประทัดก่อนว่า  เกิดจากในอดีตมีคนหัวใสนำดินระเบิดไปบรรจุในบ้องไม้ไผ่เล็กๆ  แล้วจุด  เสียงไม้ไผ่ระเบิดก็ดังสนั่นหู  เด็กเล็กได้ยินก็ร้องจ้า  บรรดาสุนัขและสัตว์เลี้ยงทั้งหลายต่างพากันกลัวเสียงประทัดวิ่งหนีกันได้
ทำให้มีคนคิดว่าเสียงดังโป้งป้างของประทัด  น่าจะไล่เจ้าตัวเหนียนได้  ซึ่งเหนียนคำนี้เป็นเสียงจีนกลาง  จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า  นี้  แปลว่า  ปี  คนจีนโบราณเชื่อว่าช่วงสิ้นปีที่อากาศหนาวเย็นจัดคนไม่สบายกันมาก  เพราะเจ้าตัวเหนียนออกมาอาละวาด  การจุดประทัดเสียงดังน่าจะไล่เจ้าตัวเหนียนและโรคภัยไข้เจ็บให้ตกใจกลัวหนีไปได้ 
                แล้วต่อมาธรรมเนียมนี้ก็ปรับไปว่า  จุดประทัดให้เสียงดังๆ นี้จะเรียกโชคดีให้มาหา  บ้างก็ว่า  เพื่อให้สะดุดหูเทพเจ้า  ท่านจะได้มาช่วยคุ้มครอง

                 ส่วนการเชิดสิงโตวันตรุษจีน  ที่บางท้องที่จัดเป็นพิธีแห่มังกรใหญ่โต  โดยคนจีนเรียกการแสดงเชิดสิงโตว่า  ไซ่จื้อบู่  แปลง่ายๆ ว่า  ระบุลูกสิงโต  จัดอยู่ในหมวดการแสดงสวมหน้ากากสัตว์  จากบันทึกของราชวงศ์เหนือ...ใต้  (พ.ศ. ๘๕๐ – ๑๑๓๒)  เมื่อชาวบ้านในมณฑลกวางตุ้ง  มีการแสดงเชิดสิงโตเพื่อไล่ผีที่เชื่อว่า มาลงกินผู้ชายและสัตว์เลี้ยง  ก่อเกิดเป็นความเชื่อว่า  เชิดสิงโตช่วยไล่ภูตผีปีศาจได้  ก็เลยเข้าคู่กันเหมาะมากกับการจุดประทัดวันตรุษจีน
                ส่วนการแห่มังกร  ก็เริ่มจากในสมัยราชวงศ์จิ๋นหรือฉิน  (พ.ศ. ๒๕๔ – ๓๓๙)  จัดเป็นการแสดงเล็กๆ  แล้วมาจัดเป็นโชว์ใหญ่ที่สวยตระการตาในสมัยราชวงศ์ฮั่น  (พ.ศ. ๓๓๗ – ๗๖๓)  โดยเริ่มต้นจะมาจากตำนานปลาหลีฮื้อกระโดดข้ามประตูสวรรค์ก็จะกลายเป็นปลามังกรมีฤทธิ์เดช  โดยปลามังกรนี้  คือสัตว์ยิ่งใหญ่มีพลังอำนาจ  ใครได้พบได้ชมก็จะได้รับพลังช่วยเสริมให้เจ้าตัวโชคดีทำมาหากินได้ผลบริบูรณ์
                 แต่เนื่องจากทั้งการเชิดสิงโตและแห่มังกรนี้  ผู้แสดงต้องมีความสามารถพิเศษในเชิงกายกรรมต่อตัว  การสมดุลตัว  ที่สุดของการเชิดสิงโตคือการได้ซองอั่งเปา  สุดยอดของการแห่มังกรคือ  การต่อตัวขึ้นไปเพื่อหยิบซองอั่งเปาบนไม้สูงที่เมื่อทำได้  ความหมายของการได้ซองอั่งเปานี้คือ  การจะได้โชคดีกันถ้วนหน้าตลอดปีทีเดียว

สิ่งที่ไม่ควรทำตอนวันขึ้นปีใหม่ (วันตรุษจีน)

1. ควรหลีกเลี่ยงการทำงานบ้านในวันขึ้นปีใหม่ ตรุษจีน,วันตรุษจีนเนื่องจากการทำงานบ้าน เช่น การซักล้าง หรือ การกวาดบ้านปัดฝุ่น จะเป็นการขับไล่ความโชคดีออกไป ดังนั้นการทำความสะอาดบ้านจึงควรเริ่มทำตั้งแต่ก่อนที่วันขึ้นปีใหม่จะมาถึง

2. วันตรุษจีนไม่ควรสระผมในวันเริ่มต้นและวันสุดท้ายของวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากการสระผมถือเป็นการชะล้างความโชคดีที่มาถึงในวันขึ้นปีใหมj

3. วันตรุษจีนไม่ควรใช้ของมีคมในวันขึ้นปีใหม่ ของมีคมต่างๆ เช่น มีด , กรรไกร , ที่ตัดเล็บ เนื่องจากถือว่าการกระทำของของมีคมนี้จะเป็นการตัดสิ่งหรืออนาคตที่ดี ที่จะนำมา ในวันขึ้นปีใหม่

4. วันตรุษจีนควรระมัดระวังในการใช้คำพูดที่มีความหมายไปในทางลบรวมทั้งหลีกเลี่ยงการโต้เถียงกัน คำที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยหรือความตายเป็นคำที่เราควรหลีกเลี่ยงในวันขึ้นปีใหม่

5. วันตรุษจีนหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานศพ และการฆ่าสัตว์ปีก

6. วันตรุษจีนควรระมัดระวังในการทำสิ่งใดๆ ไม่ควรที่จะให้เกิดการสะดุด หรือ ทำสิ่งของตกแตก ซึ่งนั่นจะหมายถึงการนำความโชคไม่ดีเข้ามาในอนาคต

****ในระหว่างงานตรุษจีนคนจีนส่วนใหญ่จะสวมเสื้อสีแดง****

แหล่งที่มา:

1. https://www.pdamobiz.com/show_news.asp?NewsID=79225&PN=1&TPN=1

2. https://www.thailandchefs.com/modules.php?name=Page_View&page=festival.html

วันตรุษจีน, วันตรุษจีน หมายถึง, วันตรุษจีน คือ, วันตรุษจีน ความหมาย, วันตรุษจีน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu