สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒๗ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. ๒๑๗๕ - พ.ศ. ๒๒๓๑ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๙๙ - พ.ศ. ๒๒๓๑) มีหลายพระนาม คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชรญ์ เป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา กับพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เหตุที่มีพระนามว่า "นารายณ์" มีที่มาน่าสนใจคือ มีพระญาติวงศ์เหลือบเห็นเป็น 4 กร พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญตลอดรัชกาลของพระองค์ ทั้งด้านการทหาร วรรณคดี และการทูต โดยเฉพาะการส่งคณะราชทูต นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งราชวงศ์บูร์บง
พระราชประวัติโดยย่อ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหลายพระนาม คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชรญ์ เป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา กับพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ไม่ปรากฏชื่อพระมารดา แต่มีปรากฎในหนังสือของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างใน พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า )
ทรงพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปี พ.ศ. 2175 ส่วนเหตุที่มีพระนามว่า "นารายณ์" มีที่มาน่าสนใจคือ ( มีอ้างในพงศาวดาร ) มีพระญาติวงศ์เหลือบเห็นเป็น 4 กร สมเด็จพระเจ้าประสาททองตรัสแจ้งความเป็นอัศจรรย์ แล้วก็พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชกุมาร"
พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.2199 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2205 เริ่มมีชาติตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ศาสนา ชาติแรกที่เข้ามาคือ ฝรั่งเศส เป็นมิชชันนารี ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีประปรีชาสามารถมาก ทรงเล็งเห็นประโยชน์จากชาวต่างชาติจึงทรงเริ่มดำเนินการประสานสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส
ทรงจัดคณะฑูตนำพระราชสาสน์ไปเจริญสัมพันธ์ไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับสมัย พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงตอบรับด้วยเล็งเห็นว่าจะชักชวนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนับถือศาสนาคริสต์ตามพระองค์ ดังนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงทรงให้ราชฑูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2228
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงทราบจุดหมายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ดี แต่เนื่องจากจุดประสงค์ของพระองค์คือการส่งเสริมการค้าขายและความเจริญของกรุงศรีอยุธยาเป็นหลัก จึงทรงปฏิเสธด้วยพระปรีชาสามารถอันแยบยลว่า " การที่ผู้ใดจะนับถือศาสนาใดนั้น ย่อมแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์จะบันดาลให้เป็นไป ถ้าคริสต์ศาสนาดีจริงแล้ว และเห็นว่าพระองค์สมควรที่จะเข้าเป็นคริสตศาสนิกชนแล้ว สักวันหนึ่งพระองค์จะถูกดลใจให้เข้ารีตจนได้"
พระองค์ทรงทำให้หัวหน้าราชฑูตของฝรั่งเศสเลื่อมใสในพระปรีชาสามารถของประองค์เป็นอย่างมาก นอกจากพระราชกรณียกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองแล้ว ก็ปรากฏว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระปรีชาญาณในศิลปวรรณคดีเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีไว้หลายเรื่อง เท่าที่ทราบกันต่อมาในบัดนี้ มีดังนี้
1.พระราชนิพนธ์โคลง เรื่องทศรถสอนพระราม
2.พระราชนิพนธ์โคลง เรื่องพาลีสอนน้อง
3.พระราชนิพนธ์โคลง เรื่องราชสวัสดิ์
4.สมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนกลาง)
5.คำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า)
6.บทพระราชนิพนธ์โคลงโต้ตอบกับศรีปราชญ์และกวีมีชื่ออื่นๆ
ข้อมูลจาก www.lib.ru.ac.th/journal/feb/feb16-Narai.html
งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่มีต่อลพบุรีและประเทศชาติ เนื่องจากเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่สองในสมัยนั้นที่พระองค์ทรงโปรดปรานประทับอยู่ที่นี่นานเกือบตลอดปี เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้นจึงจะเสด็จไปประทับ ณ กรุงศรีอยุธยา
ในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การแสดงแสงและเสียง การแสดงสาธิตวิถีชีวิตไทย งานราตรีวังนารายณ์ การละเล่นของเด็กไทย (จุก แกละ โก๊ะ เปีย) และการละเล่นพื้นเมืองมหรสพ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สถานที่จัดงาน คือบริเวณพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี
ก่อนจะมาเป็นงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์นั้น ชาวลพบุรีเคยมีงานประเพณีอยู่อย่างหนึ่ง คือ "งานในวัง" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหารายได้นำไปก่อสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต่อมาจึงได้มีการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๕ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๙
งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกิดขึ้นจากแนวคิดของชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี กับนายเชาวน์วัศ สุดลาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีในขณะนั้น เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงสร้างเมืองลพบุรีให้เจริญรุ่งเรือง การจัดงานครั้งแรก ตั้งชื่องานว่า "นารายณ์รำลึก" ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ "งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์" ซึ่งเดิมแล้วมีกำหนดจัดงานในวันที่ ๒๑-๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๑ แต่เกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดลพบุรี จึงต้องเลื่อนมาเป็นวันที่ ๑๗-๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๒ แทน