แพทย์มักบอกผู้ป่วยว่าช็อกโกแลตไม่ได้มีส่วนกระตุ้นให้โรคสิวกำเริบ เพราะมีงานวิจัย 2 ฉบับที่เป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ได้ศึกษาผลของช็อกโกแลต นม ถั่ว และน้ำอัดลม โดยศึกษาผู้ป่วยโรคสิว 64 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ให้กินช็อกโกแลตแท่ง
กลุ่มที่ 2 ให้กินอาหารแท่งที่ไม่มีช็อกโกแลต
พบว่าไม่มีความแตกต่างของสิวในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม
โดยทั่วไปจึงเชื่อว่าอาหารพวกไอศกรีมและนมไม่ทำให้สิวกำเริบ ยกเว้นกรณีผู้ที่เป็นสิวอักเสบและกำลังได้รับการรักษาโดยกินยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราซัยคลีน ไม่ควรดื่มนมภายในเวลา ๑ ชั่วโมงครึ่งก่อน หรือ 2 ชั่วโมงหลังกินยา เพราะนมจะขัดขวางการดูดซึมของยา ทำให้กินยาแล้วสิวก็ยังไม่หายสักที แต่ก็มีผู้ป่วยหลายรายที่เชื่อว่าช็อกโกแลตกระตุ้นให้สิวเห่อ ซึ่งอาจเนื่องมาจากช็อกโกแลตในปัจจุบันมีปริมาณของน้ำตาลและนมสูงกว่าช็อกโกแลตที่ใช้ในการทดลองครั้งนั้น
ในปี พ.ศ.2545 นายแพทย์คอร์เดียน (Cordain) และคณะรายงานว่า คนบางกลุ่ม (เช่น ชนเผ่าบางเผ่าในปารากวัย ปาปัวนิวกินี ฯลฯ) ไม่เป็นสิว ทั้งๆ ที่สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดทั่วโลก จึงตั้งทฤษฎี "การได้รับน้ำตาลน้อย" ว่า เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาล และแป้งน้อย ก็จะไม่นำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และภาวะอินซูลินในเลือดสูง ซึ่งนำไปสู่การผลิตสารไอจีเอฟ-1 (IGF-1, insulin-like growth factor-1) เพิ่มขึ้น
สารไอจีเฟอ-1 นี่เองที่ทำให้ผิวหนังแบ่งตัวเร็วขึ้น และหนาตัวขึ้นด้วย ทำให้รูขุมขนแคบลงเกิดการอุดตันได้ง่าย จึงเป็นสิวง่ายขึ้น "ภาวะน้ำตาลน้อย" นี้ยังมีส่วนยับยั้งการผลิตแอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย) ให้พอดี ไม่มากเกินไป เพราะถ้าฮอร์โมนเพศชายมากเกินจะมีการสร้างไขมันที่ผิวหนังมาก จึงเป็นสิวได้ง่ายขึ้น
มีการศึกษาทดลองในอาสาสมัครผู้ชายอายุ ๑๕-๒๕ ปี โดยให้กินอาหารที่มีน้ำตาลต่ำนาน 12 สัปดาห์ พบว่านอกจากช่วยลดน้ำหนักแล้ว ยังช่วยลดสิวด้วย จึงเป็นไปได้ว่า การกินอาหารที่มีน้ำตาลสูงมีส่วนเพิ่มสิว ในทางตรงกันข้ามการกินอาหารที่มีน้ำตาลน้อยมีส่วนช่วยลดสิวได้
นอกจากนั้น การดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนมมากเกินไป ก็พบว่าอาจเพิ่มสิวได้เช่นกัน กลไกเรื่องนี้อาจเป็นผลจากการได้รับไอโอดีนเพิ่มขึ้น และการดื่มนมยังอาจเพิ่มสารไอจีเอฟ-1 ที่ทำให้ผิวหนังแบ่งตัวเร็วและหนาตัวขึ้นทำให้รูขุมขนแคบลง เกิดการอุดตันได้ง่ายจึงเป็นสิวง่าย
ส่วนช็อกโกแล็ตที่ทำให้สิวเห่อได้ในบางคนอาจเป็นผลจากส่วนผสมของนม หรือน้ำตาลในช็อกโกแลตค่อนข้างสูงกว่าช็อกโกแลตที่นำมาทำการวิจัยในอดีต การศึกษาใหม่ๆ ในยุคนี้จึงมีแนวโน้มบ่งชี้ไปว่า การได้รับน้ำตาล นม หรือผลิตภัณฑ์นมที่มากเกินควรอาจมีส่วนเพิ่มสิวได้
ที่มาข้อมูลและภาพ trueplookpanya.com