เด็กออทิสติก (Autistic Child) คืออะไร
เด็กออทิสติก คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการด้านการสื่อสาร ภาษา และ ด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น ภาวะอาการออทิสติก เกิดได้กับเด็กทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม และทุกสภาพครอบครัว ส่วนสาเหตุที่แน่นอนยังไม่สามารถอธิบายได้ แต่ทางการ แพทย์เชื่อว่า ภาวะอาการออทิสติก อาจเกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติจากการผสมผสานการรับรู้ความรู้สึก และการเคลื่อนไหว จึงทำให้มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ
ข้อสังเกตของเด็กออทิสติก
โดยทั่วไป เด็กออทิสติกตั้งแต่วัยแรก เกิดถึง 1 ปี หรือ 2 ปี จะมีพัฒนาการเหมือนเด็กปกติ แต่ว่ามีข้อสังเกตบางประการที่เป็นสัญญาณบอกอาการของเด็กออทิสติกได้ เช่น เด็กจะไม่จ้องมองวัตถุสิ่งของ ไม่ตอบสนองต่อคำสั่ง และไม่สามารถสื่อความหมายได้ แสดงพฤติกรรมไม่สนใจใคร กระทำต่อบุคคลหรือ สิ่งมีชีวิตอื่นคล้ายสิ่งของ ไม่กลัวอันตราย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สามารถเลียนแบบการกระทำของบุคคลอื่นได้ เล่นกับเด็กอื่นไม่เป็น
ประเด็นปัญหาหลักของเด็กออทิสติก
เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีปัญหาด้านการสื่อสารกับผู้อื่น คือเด็กออทิสติกจะพูดช้า พูดเรื่อยเปื่อย พูดซ้ำๆ หรือพูดภาษาของตนเอง และมักพูดแต่เรื่องที่ตนเองสนใจ ทำให้ไม่สามารถสนทนากับผู้อื่นได้ ด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เด็กออทิสติกจะเล่นกับเพื่อนไม่เป็น ไม่สนใจที่จะมีเพื่อน ชอบแยกตัวไปเล่นคนเดียว ไม่สามารถเลียนแบบการกระทำของผู้อื่นได้ และยังไม่สามารถ ช่วยตนเองให้พ้นจากอันตรายต่างๆ ได้ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
นอกจากนี้ เด็กออทิสติกยังมีปัญหาด้านอารมณ์อีกด้วย คือ เด็กจะมีอารมณ์แปรปรวนง่าย เมื่อถูกขัดใจจะแสดงอาการรุนแรงมากกว่าเด็กปกติ เช่น กรีดร้อง เอาหัวโขกพื้น ตีผู้อื่น หรือลงไปนอนดิ้นเป็นระยะเวลานาน ๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่อยู่เป็นประจำ เช่น มีการโยกย้ายวัตถุสิ่งของ หรือ วัตถุสิ่งของมีรายละเอียดไม่เหมือนเดิม (เพิ่มเติม หรือลดลงไปจาก เดิม)
แนวทางการบำบัดรักษาเด็กออทิสติก
วิธีการบำบัดรักษาควรทำเป็นทีมซึ่ง ประกอบด้วย กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็ก นักกิจกรรมบำบัด นักแก้ไขการพูด ครูที่โรงเรียน นักการศึกษาพิเศษ และบุคคลที่สำคัญที่สุด คือคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองที่บ้าน เนื่องจาก การเลี้ยงดูมีผลต่อการส่งเสริม และสนับสนุนให้เด็กมีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมได้
ดร.แอร์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมบำบัดชาวอเมริกัน ได้อธิบายว่า เด็กออทิสติกจะมีความสามารถของตัวรับความรู้สึกและกระบวนการนำความรู้สึกไปที่สมองผิดปกติ (มากเกินไป หรือน้อยเกินไป) โดยเฉพาะด้านระบบการทรงตัว การรับสัมผัส และการรับความรู้สึกจากเอ็นและข้อ ดังนั้น การรักษาเฉพาะทางกิจกรรมบำบัดสามารถให้การกระตุ้นระบบการประมวลผลการรับข้อมูลความรู้สึก (Sensory Integration System) ของเด็กให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
กรณีตัวอย่าง เด็กออทิสติกที่มีภาวะไวต่อการรับสัมผัสมากเกินไป นักกิจกรรมบำบัดจะจัดกิจกรรมในลักษณะที่ให้เด็กมีโอกาสสัมผัสกับวัตถุหลากหลายพื้นผิว เป็นต้น จะเห็นได้ว่า วิธีการและอุปกรณ์เฉพาะด้านที่ใช้บำบัดรักษาเด็กออทิสติกต้องประกอบ ด้วยความรู้ความเข้าใจเฉพาะทาง ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเอาใจใส่ ดูแล ช่วยเหลือเด็กด้วยวิธี การที่ถูกต้องและเหมาะสม
คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับคุณพ่อแม่
อย่าเอาใจลูกมากเกินไป ช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม ส่งเสริมและสนับสนุนการฝึก ของลูกตามคำแนะนำของบุคลากรในทีมการรักษาอย่างจริงจังสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการฝึกทางกิจกรรมบำบัด ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถนำกิจกรรมต่างๆ ไปฝึกให้กับลูกต่อได้ที่บ้านเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตัวอย่างเช่น ลูกทำร้ายตัวเองให้ใช้การกระตุ้นระบบสัมผัส โดยใช้แปรง แปรงบนบริเวณแขน ขา ลำตัว ร่วมกับการให้แรงกดลึกด้วยลูกบอลขนาดใหญ่ทั่วลำตัว และข้อต่อต่างๆ ทำให้เด็กลดพฤติกรรมทำร้ายตัวเองลง
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้วิธีการบำบัดรักษา หรือเทคนิคเฉพาะทางกิจกรรมบำบัดควรปรึกษาหรือได้รับความเห็นชอบจากนักกิจกรรมบำบัดที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก่อนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เนื่องจากเด็กออทิสติกแต่ละคนจะมีอาการและพฤติกรรมที่มี ระดับความรุนแรงแตกต่างกัน รวมถึงความแตกต่างทางศักยภาพ และความสามารถในการ พัฒนาของเด็กแต่ละราย และปัจจัยอื่นๆ อีก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู และความรู้ความเข้าใจ ของคุณพ่อคุณแม่ ฯลฯ
ที่มา : www.specialchild.com