ฟีโล ที. ฟาร์นสเวิร์ธ (Philo T. Fransworth) ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้คิดค้นโทรทัศน์เครื่องแรกของโลกสำเร็จ เขามีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค. ศ. 1906 ถึง ค. ศ. 1971
เขาเกิด ณ เมืองไอดาโฮ และฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก ฟาร์นสเวิร์ธ เป็นนักเรียนหนุ่มช่างคิด เพ้อฝัน และมีจินตนาการ เขาสร้างแบบจำลองโทรทัศน์เป็นครั้งแรกของโลกบนกระดานให้ครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียนได้ดู ความเป็นนักประดิษฐ์ของเขาก้าวหน้าพัฒนาพร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้น
ผู้มีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่งคือ เอลมา การ์ดเนอร์ ฟาร์นสเวิร์ธ ผู้ซึ่งเป็นภรรยาของเขา เอลมาและฟีโลแต่งงานและอยู่กินร่วมกันมานับแต่ปี ค. ศ. 1926 เธอเป็นผู้ผลักดัน ช่วยเหลือให้กำลังใจ และเป็นผู้ร่วมคิดค้น "โทรทัศน์เครื่องแรก" ของโลก
ทั้งสองคนทำงานต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ และประดิษฐ์คิดค้นผลงานร่วมกันในห้องทดลองที่เขตฟอร์ต เวย์น นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กระทั่งในวันที่ 7 กันยายน ค. ศ. 1927 เมื่อฟีโลมีอายุเพียง 21 ปี เขาสามารถส่งสัญญาณในรูปลายเส้นของเส้นหลาย ๆ เส้นจากเครื่องส่งในห้องหนึ่งไปสู่เครื่องรับในห้องถัดไปได้สำเร็จเป็นครั้งแรก...หลังจากที่ใช้เวลาคิดค้นจนประดิษฐ์โทรทัศน์สำเร็จยาวนานร่วม 7 ปีเต็ม
โทรทัศน์เครื่องแรกถือกำเนิดจากแนวคิด ดังนี้...
ฟิโลคิดถึงเรื่องการส่งสัญญาณภาพเป็นเส้นไปยังเครื่องรับเมื่อเขามีอายุ 14 ปี สมัยเป็นนักเรียนมัธยมที่ต้องขี่ม้าไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนที่ใกล้สุด ห่างจากไร่และบ้านของเขาประมาณ 7 กิโลเมตร ความคิดเรื่องโทรทัศน์เกิดขึ้นตอนที่เขากำลังไถร่องดินในไร่ที่บ้าน เขาไถร่องจนเป็นแนวยาวเพื่อใช้ปลูกมันฝรั่ง ขณะนั้นจึงเกิดความคิดวาบขึ้นในสมองว่า เขาสามารถใช้เส้นแนวนอนแบบเดียวกับการไถร่อง เพื่อนำไปสร้างภาพบนหลอดเครื่องรับได้
เขาผนวกแนวคิดดังกล่าวเข้ากับแนวคิดในการสร้างหลอดส่งสัญญาณนับตั้งแต่เรียนอยู่มัธยม โดยได้บันทึกแนวคิดนี้ให้กับครูเคมีที่ชื่อ จัสติน โทลล์แมน (Justin Tollman) ฟีโลยกย่องคุณครูจัสตินว่าเป็นไอดอล (Idol) ของเขาซึ่งให้ทั้งแรงบันดาลใจและความรู้ที่จำเป็นจนการคิดค้นของเขาประสบความสำเร็จ
19 ตุลาคม ค. ศ. 1929 เป็นวันที่ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกไว้...เพราะเป็นวันแรกที่ฟีโล ฟาร์นสเวิร์ธ ส่งสัญญาณโทรทัศน์ไปสู่เครื่องรับได้สำเร็จ โดยภาพนั้นเป็นภาพของเอลมากับคลิฟ การ์ดเนอร์ ผู้เป็นน้องชายของเธอ
ดังนั้นเอลมาจึงเป็นทั้งผู้ร่วมคิดค้นโทรทัศน์เครื่องแรกแถมยังเป็น "ผู้หญิงคนแรกที่ปรากฏตัวในจอโทรทัศน์" ด้วย แต่ชีวิตไม่ "ง่าย" อย่างที่คิดเสมอไป เพราะ...สิทธิบัตรผู้คิดค้นโทรทัศน์เกือบจะหลุดไปอยู่ในมือคนอื่น เพราะบริษัทเรดิโอคอร์ปอเรชันแห่งอเมริกา อ้างว่าโทรทัศน์ดังกล่าว คิดค้นโดย วลาดิเมียร์ ซออรีกิน ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกวิศวกรรมโทรทัศน์ของบริษัทฯ
การต่อสู้ดำเนินไปในศาลอย่างดุเดือด ในที่สุด ผู้พิพากษาก็พบหลักฐานสำคัญ คือภาพร่างแบบจำลองโทรทัศน์ในชั้นเรียน ศาลจึงมีคำพิพากษาตัดสินให้ฟีโลเป็นเจ้าของสิทธิบัตรอย่างถูกต้องตามกฏหมายในที่สุด และบริษัทฯดังกล่าวต้องจำใจซื้อสิทธิบัตรของฟีโลด้วยราคาแพงลิบลิ่ว ทำนอง "เกลียดตัวกินไข่" นั่นเอง...
โทรทัศน์ของฟีโลอาศัยหลักการสร้างลวดลายของแสงซึ่งประกอบขึ้นจากสัญญาณไฟฟ้าโดยใช้กล้องโทรทัศน์ถ่ายทอดภาพ เปลี่ยนภาพที่ถ่ายให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า แล้วจึงแพร่สัญญาณไปกับคลื่นวิทยุด้วยความเร็วของแสง...
ส่วนสีที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์นั้น เกิดจากการผสมแสงสีต่าง ๆ ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยแม่สีสำหรับโทรทัศน์มี 3 สีคือ แดง เขียว และฟ้า เมื่อนำแสงสีหนึ่งหรือสองสีมาผสมกับแสงสีขาวในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน ก็สามารถทำให้แสงสีเฉดต่าง ๆ ปรากฏเกิดขึ้นได้ทุกสี...
เมื่อมีการถ่ายทอดโทรทัศน์ให้สื่อมวลชนดูเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 กรกฎาคม ค. ศ. 1936 สงครามระหว่างโทรทัศน์กับวิทยุก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยเกิดความเห็นแตกต่างเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งเชื่อในอนาคตของโทรทัศน์ และเชื่อว่าวิทยุจะถูกลดความสำคัญและความนิยมลงไป ขณะอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า...โทรทัศน์คือวัตถุที่ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ต่อมนุษย์มากนัก
ในปี ค. ศ. 1940 ละครเรื่อง "Streets of New York" ได้รับการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์เป็นครั้งแรกของโลก แต่คนทั่วไปยังสนใจวิทยุมากกว่า
แต่ในปีเดียวกันนั่นเอง งานเวิร์ลด์แฟร์ถูกจัดขึ้น ณ มหานครนิวยอร์ค งานนี้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย โทรทัศน์ก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมนั้น สาธารณชนแตกตื่นกันยกใหญ่ในครั้งนั้น เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เคยเห็นโทรทัศน์ด้วยตาตนเอง
จากนั้นมาโทรทัศน์ได้รับการพัฒนาขึ้นจากนักประดิษฐ์หลายท่านจนเติบโตและก้าวหน้าเรื่อย ๆ ...ผู้คนหันเหมาสนใจโทรทัศน์อย่างบ้าคลั่ง โดยเฉพาะคนอเมริกา
แต่...ฟาร์นสเวิร์ธถูกโลกลืม ไม่มีใครให้ความสนใจเขา เขาเสียชีวิตลงในปี ค. ศ. 1970 ด้วยวัยเพียง 64 ปี โดยเกิดอาการตรอมใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต เขาพร่ำบอกลูกหลานและคนรู้จักว่าไม่ให้กล่าวถึง "โทรทัศน์" ต่อหน้าเขาอีกต่อไป
ฟาร์นสเวิร์ธเคยพูดกับเคนต์ ผู้เป็นบุตรชายคนเดียวของเขาว่า...
"ไม่มีอะไรมีคุณค่าเลยในโทรทัศน์ เราต้องไม่เอามันเข้าบ้าน และฉันไม่ต้องการให้มันเข้ามาอยู่ในหัวสมองของแกด้วย...โทรทัศน์เสมือนปีศาจร้ายที่ฉันสร้างขึ้นมาให้ชาวโลก ทำให้ชีวิตมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป เราต้องเสียเวลามหาศาลของชีวิตไปกับมัน..."
เขียนโดย วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ จากคอลัมน์ 100 นักวิทย์โลกไม่ลืม นิตยสาร "ต่วย'ตูนพิเศษ" ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2554