โรคติดเชื้อ ไอ พี ดี (IPD ; Invasive Pneumocaccal Disease) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดแพร่กระจายที่อันตรายสูง ตัวเชื้อนิวโมคอคคัสมักพบอาศัยอยู่ในโพรงจมูกหรือคอของคนทั่วไป ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ (เป็นพาหะ) แต่แพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ เพียงการ ไอ จาม สัมผัสสิ่งคัดหลั่ง โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจติดเชื้อโรคได้ง่าย
โรคติดเชื้อ ไอ พี ดี ที่มีอาการรุนแรง คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด
เป็นโรคร้ายที่อาจทำลายชีวิตลูกน้อยได้ใน 2 วัน ควรป้องกันดีกว่าเป็นแล้วมารักษา เพราะเชื้อมักดื้อยา และต้องรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุของโรค
เกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ชื่อเต็มคือ สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี่ Streptococcus pneumoniae) เชื้อโรคชนิดนี้ เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในเด็ก มักพบการติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบการติดเชื้อรุนแรงในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี
อาการแสดงของโรคได้ 3 แบบ คือ
1.การติดเชื้อแบบรุนแรง ลุกลาม แพร่กระจาย (IPD) ได้แก่การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง
2.การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ ปอดอักเสบ และการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนล่างตั้งแต่กล่องเสียงลงไป
3.การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ คออักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ
เชื้อชนิดนี้ พบเป็นพาหะอยู่ที่โพรงจมูกและคอ ในเด็กทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ เชื้อชนิดนี้ นอกจากก่อโรคในเด็กแล้วยังทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี
อาการของการติดเชื้อนิวโมคอคคัส
โรคติดเชื้อ IPD ไม่ใช่โรคใหม่ อาการของโรคนี้ จะมีอาการไข้เหมือนกับโรคติดเชื้อทั่วไป แต่ถ้าการติดเชื้อรุนแรงลุกลาม ทำให้เกิดการติดเชื้อได้หลายแบบขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อคือ
1.การติดเชื้อในระบบประสาท ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ซึม อาเจียน คอแข็ง ส่วนในเด็กทารกจะมีไข้สูง ซึม ร้องกวน กระหม่อมโป่งตึง และชักได้ ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ การวินิจฉัยโรคนี้ต้องมีการตรวจเพาะเชื้อ จากการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง
จากการศึกษาเด็กที่ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในประเทศไทย พบเชื้อที่เป็นสาเหตุ 3 อันดับแรก คือ
1.เชื้อฮิบ ( HIB ; Hemophilus Influenza B) 41.2%
2.เชื้อนิวโมคอคคัส (IPD ; Invasive Pneumocaccal Disease) 22.1%
3.เชื้อซัลโมเนลล่า (Salmonella) 14.1%
จะเห็นว่าเชื้อตัวนี้เป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กไทย
2.การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีอาการไข้สูง ร้องกวน เชื้อสามารถกระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด อาจเกิดการช็อคและเสียชีวิตได้
3.การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอดอักเสบ เด็กมีไข้ ไอ หอบ ถ้ารุนแรงมากอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากภาวะการหายใจล้มเหลว
4.การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน คือ คออักเสบ หูน้ำหนวก (หรือหูชั้นกลางอักเสบ) และไซนัสอักเสบ ถ้ารักษาไม่ถูกต้องเชื้ออาจลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงและสมองได้
อาการไข้ในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักหายได้เอง อย่างไรก็ตามควรเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพราะบางครั้งอาจไม่ใช่ไข้ธรรมดา สาเหตุหนึ่งของอาการไข้ อาจเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส แม้พบไม่บ่อยแต่รุนแรง เพราะเชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็ว และหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที อาจคร่าชีวิตเด็กได้ใน 2-3 วัน
โรค IPD รักษาได้อย่างไร
การติดเชื้อนิวโมคอคคัส สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง เช่น คออักเสบ หูน้ำหนวก หรือไซนัสอักเสบสามารถให้ในรูปแบบยารับประทานได้ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อแบบลุกลาม (IPD) ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยใน และให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดพร้อมกับการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องการหายใจ ยากันชัก เป็นต้น
การติดเชื้อแบบลุกลาม จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เช่น การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง อาจทำให้เด็กชัก เกิดความพิการของสมองปัญญาอ่อนได้ ถึงแม้ว่าโรค IPD จะรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ปัจจุบันพบว่า เชื้อนิวโมคอคคัส บางสายพันธุ์มีการดื้อยา (การดื้อยา หมายถึง เชื้อโรคมีการปรับตัวเอง ทำให้ยาปฏิชีวนะที่เคยใช้ได้ผลกลับไม่ได้ผลต้องใช้ยาปฏิชีวนะขั้นสูงขึ้น) ทำให้การรักษาลำบากมากขึ้นและหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจทำให้เกิดความพิการ และเสียชีวิตได้
เด็กกลุ่มไหนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้
เด็กที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้แก่
Ø เด็กที่มีสุขภาพดีอายุน้อยกว่า 2 ปี
Ø เด็กที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคตับเรื้อรัง
Ø เด็กที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานไม่ดี
Ø เด็กที่อยู่สถานเลี้ยงเด็กกลางวัน
Ø เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
Ø เด็กที่มีน้ำไขสันหลังรั่ว
ข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการป้องกันโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี ในเด็ก
1. สอนให้เด็กมีสุขภาพอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ
และปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งที่จาม หรือไอ
2. สอนในเด็กหลีกเลี่ยงการสัมผัส
กับคนที่เป็นไข้หวัดหรือป่วย
3. ให้ลูกกินนมแม่เพื่อให้มี
ภูมิต้านทานจากแม่ไปสู่ลูกทางอ้อม
4. การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
วัคซีนป้องกัน IPD คืออะไร
เนื่องจากในประเทศไทย วัคซีนชนิดนี้ยังค่อนข้างใหม่อยู่ จึงยังไม่ได้มีการศึกษา การตอบสนองของวัคซีนนี้ในเด็กไทย ในประเทศอเมริกามีการใช้วัคซีนนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 โดยเด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกัน IPD ตอนอายุ 2,4,6 และ 12-15 เดือน มีการเก็บข้อมูลผลของการให้วัคซีน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1998-2003 พบว่าอัตราการติดเชื้อแบบลุกลามลดลงเรื่อยๆ อัตราการเกิดปอดอักเสบและหูชั้นกลางอักเสบก็ลดลงด้วย นอกจากนั้น ยังพบว่าการเป็นพาหะก็ลดลงด้วย การแพร่เชื้อในชุมชนลดลง ผู้ใหญ่กลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี มีอัตราการติดเชื้อลดลงด้วย
สรุปผลของวัคซีน คือ
1.ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อไอพีดี
2.ช่วยลดอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อนิวโมคอคคัส
3.ช่วยลดจำนวนเชื้อพาหะในโพรงจมูกและลำคอของเด็ก ทำให้การแพร่กระจายเชื้อลดลง จึงเป็นการป้องกันการติดเชื้อทางอ้อมสู่คนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ เช่นเดียวกัน
วัคซีนป้องกัน IPD ป้องกันโรคได้ดีแค่ไหน
เชื้อนิวโมคอคคัส มีหลายสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรค จากการศึกษาของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้มีการตรวจตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อรุนแรง (IPD) ในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จาก 4 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลเด็กและโรงพยาบาลศิริราช พบสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคที่พบบ่อย 7 อันดับแรก คือ
กลุ่มอายุ สายพันธุ์ น้อยกว่า 1 ปี 6B,23F,19F,14,19A,9V,1 น้อยกว่า 2 ปี 6B,23F,14,19F,19A, 6A,9V, น้อยกว่า 3 ปี 6B,23F,19F,14,19A,9V,18C
เมื่อทราบสายพันธุ์ของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคแบบรุนแรงแล้ว มาทำความรู้จักกับวัคซีนกัน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรค IPD อยู่ 2 ชนิด คือ
1.วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์ (เรียกย่อๆ PS 23) [Polysaccharide Vaccine 23 serotype ; PS23]
วัคซีนนี้ครอบคลุมเชื้อก่อโรคแบบลุกลาม (IPD) ในเด็กได้ครอบคลุม 80% ของสายพันธุ์ที่ก่อโรค แต่พบว่าวัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคนี้ที่ไม่ได้มาทางกระแสเลือด เช่น ถ้ามีการติดเชื้อปอดอักเสบจากการสำลักเชื้อเข้าไป วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคได้ นอกจากนั้นวัคซีนนี้ต้องให้ในเด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่สามารถให้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบลุกลาม
2.นิวโมคอคคัส คอนจูเกต วัคซีนชนิด 7 สายพันธุ์ (เรียกย่อๆ ว่า PCV 7) [Pneumococcus conjugate Vaccine 7 serotypes ; PCV 7]
วัคซีนนี้ครอบคลุมเชื้อก่อโรคได้ 7 สายพันธุ์ คือ 4, 6B,9V,14,18C,19F และ 23F พบว่าครอบคลุมสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคในเด็กไทยได้ประมาณ 70% (จากข้อมูลการเก็บตัวอย่างเชื้อจาก 4 โรงพยาบาล) วัคซีนนี้ แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ2,4,6 และ 12-15 เดือน (4 ครั้ง ตามการฉีดของต่างประเทศ) สำหรับเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น เด็กที่ไม่มีม้าม แนะนำให้ฉีดตามด้วยวัคซีน PS23 หลังอายุ 2 ปีด้วย
ผลข้างเคียงของวัคซีนที่พบ คือ อาจมีบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ 2-3 วัน ในอนาคตอาจมีวัคซีนที่สามารถครอบคลุมสายพันธุ์ก่อโรคได้มากขึ้นซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย
ความจำเป็นของวัคซีนป้องกัน IPD ในเด็กไทย
ปัจจุบันในต่างประเทศมีการใช้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ IPD อย่างแพร่หลาย บางประเทศยังได้มีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กทารกทุกราย โดยบรรจุอยู่ในตารางวัคซีนพื้นฐาน (EPI program) เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา อิตาลี ออสเตรเลีย เป็นต้น
ในเด็กไทยอุบัติการณ์ของการเกิด IPD มีน้อยกว่าในต่างประเทศ ยังไม่มีการศึกษา การตอบสนองของวัคซีนนี้ในเด็กไทย ทำให้ยังไม่ทราบว่าเด็กไทยควรได้รับการฉีดกี่ครั้ง จึงจะเหมาะสม คำแนะนำของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก คือ ให้ฉีดวัคซีนชนิด PCV 7 ตามคำแนะนำของต่างประเทศ คือ อายุ 2, 4, 6 และ 12-15 เดือน (4 ครั้ง) ส่วนเด็กที่มีความเสี่ยงต่อ IPD มาก เช่น ไม่มีม้าม หลังฉีดวัคซีนแล้วยังจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะป้องกันเหมือนเดิม เพราะวัคซีนยังไม่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ของเชื้อนี้
ปัญหาใหญ่ของวัคซีนคงเป็นเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง วัคซีน PCV 7 ราคาเข็มละประมาณ 4,200 บาท จะฉีดกี่ครั้งให้ดูตามอายุที่เริ่มฉีดตามตาราง
วัคซีนป้องกัน ไอ พี ดีป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ตารางการฉีด คือ
* หรือเริ่มให้เมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์
** หรือห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
*** หรือห่างกันอย่างน้อย 2 เดือน
สำหรับเด็กที่อายุตั้งแต่ 7 เดือน ขึ้นไปตารางการฉีดวัคซีน
อายุที่เริ่มฉีด จำนวนครั้ง
(ฉีดปกติ+ฉีดกระตุ้น)* ระยะห่าง 7-11 เดือน 3 (2+1) ครั้งที่ 1, 2 ห่างกัน 1-2 เดือน
ครั้งที่ 3 ห่างกัน 2 เดือน 12-23 เดือน 2 (1+1) ครั้งที่ 1, 2 ห่างกันอย่างน้อย 2 เดือน 24 เดือน-9 ปี 1 ฉีดครั้งเดียว
* ฉีดปกติ ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
ฉีดกระตุ้น ห่างกันอย่างน้อย 2 เดือน
ความจำเป็นที่บุตรหลานควรจะได้รับวัคซีนหรือไม่ คงอยู่ในดุลยพินิจของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง แพทย์เป็นฝ่ายให้ข้อมูลของโรคและวัคซีน คุณพ่อคุณควรขอคำปรึกษาจากกุมารแพทย์ที่ดูแลบุตรหลานท่าน
หมายเหตุวิธีการอ้างอิงบทความนี้:
- แบบย่อ