ซับไพร์ม คืออะไร, ซับไพร์ม คืออะไร หมายถึง, ซับไพร์ม คืออะไร คือ, ซับไพร์ม คืออะไร ความหมาย, ซับไพร์ม คืออะไร คืออะไร
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เวลาฟังข่าวมักจะได้ยินคำว่า แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส กับ ซับไพร์ม ให้สงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ จึงเข้าไปค้นๆ ใน Net จึงได้หายสงสัย แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ตีความว่า คล้ายๆ กับวิกฤตต้มยำกุ้งของไทย เมื่อปี 2540 นี่เอง อาจจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาล้มครืนลงก็เป็นไปได้ แล้ววิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ของอเมริกาเกิดจากอะไร ได้คำตอบแล้วครับ เกิดจากซับไพร์มนี่เอง
ซับไพร์มคืออะไร? Sub-Prime แยกออกเป็นสองคำ
Sub = ต่ำกว่า
Prime = มาจาก Prime Rate คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี
Sub-Prime จริงๆ แล้วเป็นเพียงคำวิเศษณ์ (คำนำหน้าที่ใช้ขยายคำอื่น) แปลว่าคุณภาพเป็นรอง ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปขยายความอะไร เช่น หากเป็นสินเชื่อที่คุณภาพรองลงไปก็เรียกว่า Sub-Prime Loan หากเป็นสินเชื่อคุณภาพรองที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน เรียกกันว่า Sub-Prime Mortgage ในสหรัฐอเมริกา Sub-Prime Loan เป็นหนี้ที่ผู้ให้กู้ปล่อยให้กับผู้กู้ที่โดยทั่วไปไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินปกติได้ ผู้ปล่อยกู้เหล่านี้บางแห่งก็เป็นบริษัทอิสระ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงิน โดยผู้ให้กู้เหล่านี้ จะปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่หากไปขอสินเชื่อตามปกติก็จะไม่ผ่านการอนุมัติ อาจจะเป็นเพราะสัดส่วนของกระแสเงินสดที่จะนำมาชำระคืนหนี้ต่ำเกินไป อันอาจเกิดจากรายจ่ายสูง รายได้จึงไม่เหลือมากพอที่จะผ่อนจ่ายคืนหนี้ในสัดส่วนที่ผู้ให้กู้พอใจ
ผู้ให้กู้ในกลุ่ม Sub-Prime Loan นี้ ก็จะให้กู้โดยมีหลักเกณฑ์ที่ผ่อนคลายกว่า แต่ก็ชดเชยความเสี่ยงด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า และอาจจะให้กู้ได้เป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับหลักประกัน นอกจากนี้ หากผู้กู้ชำระคืนก่อนกำหนดก็จะเสียค่าปรับสูงกว่าด้วย ผู้ให้กู้กลุ่มนี้มักจะให้กู้แก่ผู้กู้ที่มีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจึงเป็น Sub-Prime Loan เป็นส่วนใหญ่ เพราะมองเห็นว่า คนมักจะไม่ค่อยทิ้งบ้าน หากกู้แล้วก็มักจะต้องพยายามผ่อนส่ง และหลักประกันก็คุ้มวงเงินให้กู้ ซึ่งก็ทำให้ดูเหมือนว่าผู้ปล่อยกู้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงไม่มากนัก
ดร. วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์ ได้อธิบายการเกิด Sub-Prime ให้เข้าใจง่ายๆ บางช่วงสรุปไม่ได้เลย กลัวตัดแล้ว จะเสียอรรถรสในการอ่าน ท่านอาจารย์ว่าไว้อย่างนี้ครับ
มนุษย์ต้องการมีบ้านซึ่งเป็นปัจจัยที่ 1 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ปกติจะไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาซื้อบ้าน แต่เนื่องจากบ้านมีราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ มีผู้ขอกู้จำนวนมากไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อนำไปซื้อบ้านได้ แม้ว่าจะมีหลักประกันเป็นบ้านหรือที่ดิน เนื่องจากธนาคารวิเคราะห์แล้วว่ารายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายของผู้ขอกู้ในแต่ละเดือนไม่เพียงพอที่จะมาจ่ายหนี้ได้ผู้ขอกู้จะทำอย่างไร บ้านก็อยากได้ สถาบันการเงินทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา ที่มีบริษัทลูกเลยสบโอกาสนี้ จึงมีนวัตกรรมแบบวิศวกรรมการเงิน หรือ Financial Engineering ประดิษฐ์ตราสารหนี้แบบใหม่ขึ้นมา (ตราสารหนี้ก็เหมือนใบสัญญาเงินกู้ที่สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ต่อปี) ที่ออกมารองรับช่องว่างนี้ โดยการเป็นคนกลางขายตราสารหนี้ ให้กับคนที่มีเงินเหลือใช้ หรือสถาบันการเงิน หรือคนที่ต้องการผลตอบแทนสูงๆ (หรือโลภนั่นเอง) โดยให้ผลตอบแทนที่สูงมาก เพื่อจูงใจให้คนมาซื้อตราสารหนี้ (Risk Premium) และนำเงินที่ได้ ไปปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่ต้องการเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง แล้วสถาบันการเงินเหล่านี้ก็กินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย คำถาม คือทำไมสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาถึงกล้าทำเช่นนี้ ไม่กลัวความเสี่ยงหรือ ทั้งที่วิเคราะห์แล้วว่าลูกหนี้เหล่านี้ไม่น่าจะมีปัญญาเอาเงินมาใช้หนี้ได้ คำตอบก็คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาได้พุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเก็งกำไร และการขยายตัวของครอบครัวเดี่ยว (ซึ่งต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง) จึงเป็นคำตอบว่ายังไงก็ตามราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้นนี้จะมาชดเชยความเสี่ยงได้อย่างสบาย เพราะราคายังไงก็มากกว่าวงเงินกู้อยู่แล้ว และชะล่าใจว่ายังไงคนเราคงไม่ทิ้งบ้าน ไม่มีเงินก็ต้องกัดฟันผ่อนไป
จากนวัตกรรมการเงินแบบ Financial Engineering หลังจากที่ออกตราสารหนี้ประเภทซับไพร์มนี้แล้ว ก็มีสถาบันการเงินดังๆ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และต่างประเทศ ต่างลงทุนซื้อตราสาร ที่มีหนี้เกรดสองเหล่านี้เป็นหลักประกันกันจำนวนมาก ตราสารเหล่านี้เรียกว่า ซีดีโอ หรือ Collateralized Debt Obligation (CDO) ทำให้บริษัทหรือสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ หนี้เกรดสองเหล่านี้ ออกตราสารมาขายโดยมีหนี้ซับไพร์มเป็นหลักประกัน (ในวงเงินไม่เต็มหลักประกัน) ที่มีดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีก เพื่อให้มีเงินไปปล่อยกู้เพิ่มอีก และทำแบบนี้เป็นวงจรไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นซับไพร์มของซับไพร์มไปเป็นทอดๆ ซึ่งทำให้ซับไพร์มออกดอกออกผลแตกลูกหลานเหลนโหลนอย่างรวดเร็ว
แต่ปัญหาคือ ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สถาบันการเงินเหล่านี้ก็แข่งกันทำตลาดด้วยการเชิญชวนผู้ขอกู้ทั้งหลาย ทั้งผู้กู้เดิม และผู้กู้รายใหม่มาใช้บริการกับตนเอง ด้วยการเสนอวงเงินกู้ที่สูงขึ้นตามราคาประเมินของบ้านที่เพิ่มขึ้น เช่น เดิมกู้ในวงเงิน 2 ล้านบาท เพื่อซื้อบ้านราคา 2.5 ล้านบาท อาจจะผ่อนไปบางส่วนจนเงินต้นเหลือ 1.8 ล้านบาท วันดีคืนดี ผู้ให้กู้ใจดีเหล่านี้ก็มาเสนอวงเงินกู้ให้ 3 ล้านบาท ตามราคาประเมินใหม่ผู้กู้ก็ไม่รังเกียจอยู่แล้วครับ เพราะได้เงินเพิ่มมาอีกตั้ง 1.2 ล้านบาท ก็ไป Refinance (ไปกู้รายใหม่มาโปะรายเดิม) มีเงินเหลืออีก หลังจากหักค่าปรับที่คืนเงินกู้ก่อนเวลา อย่างไรก็ตามชาวอเมริกันทั้งหลาย ซึ่งเคยชินกับการใช้เงินอนาคต ก็นำเงินสินเชื่ออีก 1.2 ล้านบาทที่ได้เพิ่มนั้นมาใช้จ่าย ซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ทีวีจอแบนเครื่องใหม่ เครื่องเสียงสุดหรู รถยนต์คันใหม่ เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต หรือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
อย่างไรก็ตามการเก็งกำไร ย่อมมีผู้ได้กำไร และแมลงเม่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาได้มาถึงจุดอิ่มตัวเมื่อปลายปี 2549
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!