ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ศาลที่จะพิจารณาพิพากษาคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถูกออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ใช้สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งถูกมองว่า เป็นผู้มีอิทธิพล จึงควรมีกระบวนการยุติธรรมเฉพาะสำหรับจัดการกับผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ อย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาลตามปกติที่ต้องเริ่มจากศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
สาเหตุที่ต้องขึ้นศาลดังกล่าว เพราะว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ หากมีการดำเนินคดีแบบปกติทั่วไปจะทำให้กระทบกระเทือนถึงการบริหารประเทศชาติได้ ดังนั้นศาลฎีกาจึงตั้งแผนกเฉพาะ เพื่อพิจารณาคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ
- นายกรัฐมนตรี
- รัฐมนตรี
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- สมาชิกวุฒสภา
- ข้าราชการการเมืองอื่นๆ
- ผู้ร่วมกระทำผิดที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนให้บุคคล ตาม 1-5 กระทำความผิด
คดีอะไรบ้างที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณา
- คดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ
- คดีที่เป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ถึง มาตรา 166 เช่น เรียกรับสินบน เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จหรือเอกสารปลอม และอื่นๆ
- หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ
ผู้ที่มีสิทธินำคดีฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ
- อัยการสูงสุด
- คณะกรรมการ ป.ป.ช.
- ประธานวุฒิสภา กรณีกล่าวหาว่า กรรมการป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตต่อหน้าที่ เพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ผู้เสียหายไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเอง ต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เท่านั้น
ที่มา บริษัท มิราเคิล คอนซัลแทนท์ จำกัด