การประกันเงินฝาก
การประกันเงินฝาก, การประกันเงินฝาก หมายถึง, การประกันเงินฝาก คือ, การประกันเงินฝาก ความหมาย, การประกันเงินฝาก คืออะไร
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2550 รัฐสภาได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งจะส่งผลให้ในอนาคต เงินที่ท่านฝากไว้ที่สถาบันการเงินจะไม่ได้รับการคุ้มครอง 100% ดังเช่นในปัจจุบัน หลังจากข่าวนี้ออกมา ผู้ฝากเงินบางท่านคงรู้สึกกังวลใจว่าต่อไปการฝากเงินของท่านอาจไม่มีความมั่นคง วันนี้ผมขออธิบายประเด็นสำคัญต่างๆเกี่ยวกับที่มาที่ไปของการประกันเงินฝาก ผลกระทบ และแนวทางการจัดการบริหารความเสี่ยงครับ การเตรียมการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากมีมาตั้งแต่ปี 2522 หรือเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว โดยมีสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในช่วงนั้น ซึ่งเกิดหลังจากที่บริษัท ราชาเงินทุน ได้ระดมทุนจากผู้ฝากเงินแล้วนำไปปล่อยกู้ให้พนักงานและบริษัทในเครือ เพื่อให้นำมาซื้อหุ้นของบริษัทตนเอง ซึ่งต่อมาเมื่อมีคนจำนวนมากมาถอนเงิน บริษัทจึงขาดสภาพคล่อง ทำให้รัฐบาลต้องสั่งปิดกิจการ นักลงทุนในสมัยนั้นจึงพากันไปถอนเงินจากบริษัทเงินทุนต่างๆ เนื่องจากขาดความเชื่อมั่น แต่ระบบสถาบันการเงินในสมัยนั้นยังไม่มีความพร้อม จึงยังไม่สามารถจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หลังจากที่ทางการได้สั่งระงับการดำเนินกิจการของบริษัทเงินทุน 58 แห่งแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน รัฐบาลจึงมีมติให้มีการคุ้มครองผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้เต็มจำนวน ต่อมาในปี 2546 คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกการคุ้มครองเจ้าหนี้ และในปี 2547 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จนกระทั่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 สำหรับหลักการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ปรากฏในเวปไซท์ของ ธปท. ได้แก่ ให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ แต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลหรือความเข้าใจในด้านการเงิน และหลักการที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ซึ่งทาง ธปท. คาดว่าภายหลังจากที่รัฐบาลยกเลิกการประกันเงินฝากแล้ว ผู้ฝากเงินรายใหญ่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการที่ดูผลตอบแทนจากการฝากเงินเพียงอย่างเดียว มาดูความมั่นคงและการบริหารงานของสถาบันการเงินมากขึ้น เพราะเมื่อพิจารณาจากปัญหาในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณี บริษัท ราชาเงินทุน หรือ วิกฤตเศรษฐกิจในปี 40 ก็ล้วนมีสาเหตุมาจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน ดังนั้น เวลาสถาบันการเงินล้ม เงินที่เอามาจ่ายคืนให้ผู้ฝากคือเงินภาษีของทุกคน ซึ่งถ้าพิจารณาดีๆ คนที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้มากที่สุดก็คือคนที่มีเงินฝากเป็นจำนวนมาก สำหรับการคุ้มครองของ พ.ร.บ. นี้จะคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคนต่อสถาบันการเงิน ซึ่งหมายความว่าผู้ที่มีเงินฝาก 10 ล้านบาท ก็สามารถแตกเป็นบัญชีละ 1 ล้านบาท แล้วแบ่งฝากในสถาบันการเงิน 10 แห่ง เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองได้ โดยจากข้อมูลของ ธปท. เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2/50 จากบัญชีเงินฝากทั้งหมด 71,344,151 บัญชี มีจำนวนบัญชีที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท จำนวน 879,684 บัญชี หรือคิดเป็น 1.23% จากจำนวนทั้งหมด ในขณะที่อีก 70,464,467 บัญชี หรือคิดเป็น 98.77% มีจำนวนเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท และจำนวนบัญชีที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาทมีถึง 63,621,499 บัญชี หรือคิดเป็น 89.18% ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่ถ้าคิดจากจำนวนเงินฝากทั้งหมด 6,605,540 ล้านบาท มีเงิน 4,878,211 ล้านบาท หรือ 73.85% อยู่ในบัญชีที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท และถ้าดูจากวงเงินฝากที่มีมากที่สุดจะพบว่าเป็นบัญชีที่มีเงินฝาก 1–10 ล้านบาท เป็นวงเงินรวม 2,068,095 ล้านบาท ซึ่งสามารถแตกบัญชีไปฝากหลายๆธนาคารได้ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. นี้มีบทเฉพาะกาลที่ให้เวลาผู้ฝากเงินปรับตัวถึง 4 ปี โดยในปีแรกหลังจากจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รัฐยังคงให้ความคุ้มครองสูงสุด 100 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน และลดลงในปีที่ 2 เหลือ 50 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ปีที่ 3 เหลือ 25 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน และปีที่ 4 เหลือ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีเงินฝากไว้ใช้ยามเกษียณที่มีวงเงินเกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท จะได้รับผลกระทบในแง่ของการที่จะต้องแตกบัญชีออกเป็นหลายๆบัญชีเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากหน่อยก็คงจะเป็นผู้ที่มีเงินฝากเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป เพราะจะต้องมีการกระจายการฝากเงินไปในหลายๆสถาบันการเงิน เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ. นี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ฝากเงินที่มีเงินจำนวนมากๆ มักจะได้รับการดูแลและให้คำแนะนำจากทางสถาบันการเงินต่างๆอยู่แล้ว ผลกระทบจึงน่าจะลดลงบ้าง ในส่วนของสถาบันการเงินเองก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะสถาบันการเงินจะต้องรีบสร้างความแข็งแกร่งเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินหรือนักลงทุน โดยธนาคารขนาดเล็กน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดเงินฝาก ในขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่ก็คงพยายามรักษาลูกค้ารายใหญ่ไม่ให้กระจายเงินฝากไปอยู่ธนาคารอื่นมากนัก ซึ่งต่อไปธนาคารที่เป็น Universal banking จะได้เปรียบ เพราะมีทางเลือกอื่นๆให้แก่ผู้ฝากเงิน เช่น ฝากเงินกับประกันชีวิต ลงทุนในกองทุนรวม เป็นต้น นอกจากนี้ ทางธนาคารต่างๆคงจะมีการเปิดเผยข้อมูลกันมากขึ้น และได้รับการตรวจสอบจากสังคมมากขึ้น ผู้ฝากเงินบางท่านอาจจะมองว่า การที่รัฐบาลเลิกการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนจะทำให้ท่านมีความเสี่ยงที่จะสูญเงินต้นมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ท่านขาดทุนจากการฝากเงินมาโดยตลอด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ท่านได้รับอยู่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ และท่านยังต้องเสียภาษีจากอัตราดอกเบี้ย (ที่ได้รับมาน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น) อีกด้วย ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของท่านติดลบ สำหรับแนวทางจัดการกับความเสี่ยงของท่านนักลงทุน วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือกระจายเงินฝากไปไว้ในหลายๆธนาคาร นอกจากนี้ ท่านนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงให้มากขึ้น การศึกษาหาทางเลือกอื่นในการลงทุน เช่น ลงทุนผ่านกองทุนรวม ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นการสร้างโอกาสให้กับท่านที่อาจจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินทั่วไป แต่สำหรับท่านที่คิดจะนำเงินไปฝากต่างประเทศ ก็มีหลายประเทศที่มีการจำกัดการคุ้มครองเงินฝาก ท่านนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนนะครับ โดย คุณวีระชาติ ชุตินันท์วโรดม
ที่มา TSI Investment Wiki
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.tsi-thailand.org/
https://www.set.or.th/
การประกันเงินฝาก, การประกันเงินฝาก หมายถึง, การประกันเงินฝาก คือ, การประกันเงินฝาก ความหมาย, การประกันเงินฝาก คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!