ภายใต้ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ ปัจจุบัน ถือได้ว่า บุคคลที่มีบทบาทต่อการแสดงความเห็นการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย
1. นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analyst) ทำหน้าที่วิเคราะห์บนพื้นฐานองค์ความรู้ด้านการเงิน (Financial Analysis) เป็นสำคัญ บนแนวความคิดการประเมินแบบ Top – Down คือจากภาพรวมเศรษฐกิจ – อุตสาหกรรม – บริษัท และ/หรือ Bottom – Up คือการประเมินจากบริษัทหรือหุ้นนั้นๆ เป็นสำคัญ ภายใต้ภาวะอุตสาหกรรม และ/หรือเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยก็ตาม โดยฐานข้อมูลหลักจะมุ่งเน้นฐานข้อมูลในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นสำคัญ ทั้งนี้ความคิดเห็นต่อการลงทุนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 12 เดือนข้างหน้า
2. นักวิเคราะห์ทางเทคนิก (Technical Analyst) บนพื้นฐานองค์ความรู้ด้านเทคนิก (Technical Analysis) เป็นหลักใหญ่ ภายใต้สมมติฐานสำคัญที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยใช้ข้อมูลสถิติในอดีตเป็นฐานข้อมูลสำคัญ ซึ่งความคิดเห็นต่อการลงทุนของนักวิเคราะห์ทางเทคนิกประกอบด้วย ระยะสั้น (1-2 วัน) ระยะกลาง และระยะยาว แต่มักจะไม่เกิน 3 เดือนข้างหน้า
3. นักกลยุทธ์ (Strategist) ทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์การลงทุนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์ทางเทคนิก แต่องค์ความรู้ในการวางแผนการลงทุนจะประกอบด้วย
a. ความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งจะให้ภาพในระยะยาว (12 เดือนข้างหน้า)
b. ความเห็นของนักวิเคราะห์ทางเทคนิก เชิงสถิติต่อทิศทางการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา
c. ปัจจัยแวดล้อมทั้งด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ และต่างประเทศ / ภาวะอุตสาหกรรม ทั้งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรืออาจกล่าวได้ว่า องค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์จะมีบทบาทในส่วนนี้ค่อนข้างมาก
จะเห็นได้ว่า นักกลยุทธ์ มีพื้นที่ในการวิเคราะห์และเสนอความเห็นแก่นักลงทุนที่หลากหลายมากกว่า นักวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐาน และนักวิเคราะห์ทางเทคนิก อีกทั้งเป็นผู้ที่ผสมผสานองค์ความรู้ในหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยพื้นฐานที่เน้นด้านการวิเคราะห์การเงิน (Financial Analysis) การวิเคราะห์ทางเทคนิก มาผนวกเข้ากับองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์
ดังนั้น นักกลยุทธ์สามารถเสนอมุมมองการลงทุนในลักษณะที่เป็นภาพกว้าง มากกว่านักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตนเองรับผิดชอบอยู่เท่านั้น รวมถึงวิธีการนำเสนอที่สามารถแยกแยะเป็นระยะสั้น – กลาง – ยาว ได้เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์ทางเทคนิก เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจหาจังหวะการลงทุน และทำกำไรในแต่ละช่วงเวลาได้เช่นกัน เพราะกล่าวได้ว่า นักกลยุทธ์จะเสนอจังหวะของการลงทุน หรือเข้าลงทุนในหุ้นใดหุ้นหนึ่งและเสนอจังหวะในการทำกำไร แม้ว่ามุมมองปัจจัยพื้นฐานในระยะยาวจะยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ ณ เวลาใด เวลาหนึ่ง ปัจจัยแวดล้อม ณ ขณะนั้น อาจไม่เอื้อต่อการถือลงทุนในช่วงสั้นๆ
ถ้าจะมองให้เห็นภาพได้มากขึ้น เช่นกรณีของการพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ย RP 1 วันของ กนง. ซึ่งจะเป็นบวกต่อธนาคารพาณิชย์ ในแง่ของการเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้มากขึ้น เพื่อรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงินกู้ – เงินฝาก ขณะที่ประเด็นดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อภาระการกู้ซื้อบ้าน ดังนั้น ในช่วงเวลาสั้นๆ นักกลยุทธ์อาจนำเสนอให้ “ซื้อ” หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และ “ขายทำกำไร” กลุ่มที่อยู่อาศัย เพราะราคาหุ้นในกลุ่มที่อยู่อาศัยจะอ่อนตัวลงจากประเด็นดังกล่าว และเมื่อราคาหุ้นในกลุ่มที่อยู่อาศัย อ่อนตัวลงจากประเด็นดังกล่าว นักกลยุทธ์อาจนำเสนอให้ “ทยอยสะสม” หุ้นกลุ่มที่อยู่อาศัยอีกครั้ง ก็มีความเป็นไปได้ ขณะที่นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ย่อมไม่เปลี่ยนมุมมองการลงทุนของหุ้นในกลุ่มทั้ง 2 เพราะเป็นการประเมินการลงทุนในระยะยาว
ที่มา TSI Investment Wiki
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.tsi-thailand.org/
https://www.set.or.th/